KM Live : ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม (๓)


วนสณฑ์จัดการและเรียนรู้เองทุกอย่าง ตั้งแต่ไปตลาด และการรับลูกค้า แรกๆ ไปตลาดไม่รู้จักแม้กระทั่งหอมกระเทียม การลงมือเรียนรู้ด้วยการกระทำเอง เช่น จ่ายตลาดนี้ มีประโยชน์ต่อธุรกิจมาก เช่น ทำให้รู้ต้นทุนผลิต ได้ดูวัตถุดิบในตลาด แล้วขึ้นเมนูพิเศษ “วันนี้มีอะไรเด่น” หรือการเข้าไปเสริฟเองด้วย ทำให้รู้ปัญหา อาหารช้าหรือไม่

“ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม” (๓)

โดย สมโภชน์ นาคกล่อม

๔ มีนาคม ๒๕๕๐

 

(ต่อจาก KM live : ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม (๒)) 

“ตัวอย่างดี มีอยู่ไม่ไกล”

              ช่วงบ่ายหลังอาหารเที่ยง อาจารย์จิรวิทย์ได้จัดสรรเวลา ให้พวกเราได้มีโอกาสไปคุยกับคุณวนสนฑ์  ไกรนรา  ศิษย์เก่าคนหนึ่งของใสใหญ่ จบออกแบบภูมิทัศน์ (หลักสูตร ๒ ปี)  แต่ตัวเองเรียน ๓ ปีจึงจบ เพราะเกเร


             จบแล้วไปช่วยงานทำสวนอยู่ ๗ ปี ในขณะเดียวกันก็มีเนอสเซอรี่ ขายต้นไม้ด้วย เพิ่งทำร้านอาหารได้ ๒ ปีเศษ ชื่อสวนพฤกษา เพราะมีบ้านเก่าอยู่หลังหนึ่ง ปล่อยไว้ร้างปลวกจะกิน ก็เลยไม่อยากทิ้งไว้เฉยๆ

         ตอนตัดสินใจทำร้านเอง ใช้ทุนจากพ่อ ก็ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากได้พิสูจน์ตัวเองกับพ่อในการทำสวนพอสมควรแล้ว แต่พ่อก็ยังกลัวคนจะติดค้างค่าเหล้า ค่าอาหาร (จากประสบการณ์ที่ลูกในวัยเรียนมีเพื่อนเยอะ)


           แต่ตอนนี้กลับทำธุรกิจอาหารได้ดี นอกจากเปิดร้านแล้ว ก็รับจัดอาหารข้างนอกด้วย คณะเกษตรฯ เป็นลูกค้าประจำของคุณวนสณฑ์  เพิ่งเริ่มจัดโต๊ะข้างนอกได้ปีกว่าแล้ว เริ่มจากเล็กๆ ที่ผ่านมาเคยจัดงานใหญ่สุด ๖๐ โต๊ะ แต่ตอนนี้กำลังจะไปจัดงานใหญ่สุดถึง ๑๕๐ โต๊ะ ที่ทุ่งใหญ่ มีร้านอาหารระดับสวนพฤกษาไม่กี่ร้าน  ลูกค้าส่วนมากเป็นข้าราชการเกือบ ๑๐๐ %  เย็นๆมีแขกเป็นครอบครัวไปพักผ่อน เช่น พ่อค้าคนจีน  ส่วนพวกขี้เหล้า เมายา จะไปร้านเกรดต่ำกว่านี้

         วนสณฑ์เปิดร้านใหม่ๆ ๔ เดือนแรกอยู่ร้านตลอด จัดสวน ตกแต่งเอง นอกจากได้ใช้วิชาที่เรียนมาแล้วยังได้สั่งสมประสบการณ์จากของจริงด้วย เช่น วิเคราะห์ลูกค้า ว่ากลุ่มไหนชอบแบบไหน บางครั้งใช้ข้อมูลถึงนิสัยส่วนตัว  เช่น สืบว่าชอบแกงอะไร รสชาติแบบไหน ส่วนฐานลูกค้านั้น ได้อาศัยพ่อซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารโรงเรียนในการหาลูกค้าด้วย (แต่ไม่ได้คิดประเด็นนี้ตอนแรกเปิดร้านหรอก เป็นความประจวบเหมาะอย่างหนึ่งเหมือนกัน)

         วนสณฑ์จัดการและเรียนรู้เองทุกอย่าง ตั้งแต่ไปตลาด และการรับลูกค้า แรกๆ ไปตลาดไม่รู้จักแม้กระทั่งหอมกระเทียม  การลงมือเรียนรู้ด้วยการกระทำเอง เช่น จ่ายตลาดนี้ มีประโยชน์ต่อธุรกิจมาก เช่น ทำให้รู้ต้นทุนผลิต ได้ดูวัตถุดิบในตลาด แล้วขึ้นเมนูพิเศษ “วันนี้มีอะไรเด่น”  หรือการเข้าไปเสริฟเองด้วย ทำให้รู้ปัญหา อาหารช้าหรือไม่  นอกจากได้รู้ข้อมูลแล้ว ก็ทำให้รู้ว่าลูกค้าเรามาจากไหนบ้าง  การจำชื่อลูกค้าได้เป็นเทคนิคที่ดีมาก  โดยเฉพาะแขกผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่านครฯ ผู้ว่ากระบี่ (ผู้ว่านครฯ เคยสั่งอาหารจากร้านให้คนไปส่งด้วยซ้ำ)

          ส่วนแขกชาวบ้าน (มีเงิน แต่เป็นชาวสวน) เราก็ประกาศเมนูให้เห็นว่า “อาหารเราคุณภาพดี ราคาไม่แพง” เช่น มีเมนูส้มตำ ๖๐ บาท รสชาติเด็ดหน้าร้าน เพื่อให้แขกระดับนี้กล้าเข้าร้าน เนื่องจากการวิเคราะห์วัฒนธรรมของลูกค้ากลุ่มนี้ พบว่าจะกลัวร้าน กลัวแพง ไม่กล้าเข้า (ทั้งที่มีเงินแหละ) วนสณฑ์ใช้วิธีให้เด็กเข้าไปไหว้แขกเลย เพื่อเรียกความมั่นใจ สร้างความอบอุ่น

         เรื่องราวของวนสณฑ์มีความน่าสนใจมากมาย แต่สุดท้ายสรุปว่าได้ “เปลี่ยนตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ ได้ประสบการณ์ในการจัดการตัวเองว่า ทำไมตอนนั้นเราไม่ตั้งใจเรียนเหมือนทำร้านอาหารตอนนี้”  และมีคำแนะนำฝากถึงรุ่นน้องเกษตรด้วยว่า “ทำอะไรก็ได้ ขอให้ใจชอบก็พอ” อาจารย์จิรวิทย์ช่วยสรุปว่า “แค่ซื้อมาขายไปก็ได้กำไรแล้ว แต่เราเอามาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม ก็ยิ่งมีความน่าสนใจมากขึ้น”

           วันนี้คุยกันครึ่งชั่วโมง ได้ความรู้มากมาย ก่อนกลับก็ได้แวะไปชมร้านของวนสณฑ์ด้วย บุกถึงครัวเลย ได้ยินเสียงอาจารย์คุยว่า ถ้าจบอุตสาหกรรมอาหารมา ครัวจะได้มาตรฐานกว่านี้ แต่นี่ก็โอเคแล้ว

         กรณีอย่างของวนสณฑ์นี้ จะเป็น “ตัวอย่างที่ดี” ให้กับนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร ที่ อ.ดวงเดือน (ซึ่งรับผิดชอบงานแนะแนว) สามารถใช้เป็น “กรณีเรียนรู้จากของจริง” ได้ ตัวอย่างดีๆ มีอยู่ไม่ไกลไปกว่ารัศมีของคณะเกษตรศาสตร์ทุ่งใหญ่เลย

         ในฐานะครู ผู้ออกแบบการเรียนรู้ เราคงจะต้องสะสม “ของดี” เหล่านี้ในกระเป๋าโดเรม่อนให้มาก เพื่อเอาไปใช้กับนักศึกษาในจังหวะและโอกาสต่างๆ กัน และนี่คงเป็น “งานหนึ่งที่จะทำต่อเนื่องให้เห็นชัดทั้งการแสวงหา จัดทำ และใช้ทุนที่คณะเกษตรฯ มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิษย์ของตน”

หมายเลขบันทึก: 85972เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2007 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท