บริษัทเทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน และสมาคมนักกำหนดอาหาร ได้ร่วมมือกันจัดฝึกอบรมทีมดูแลผู้เป็นเบาหวานมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ และได้เห็นพัฒนาการของทีมต่างๆ มาเป็นลำดับ สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานจึงเห็นสมควรให้การสนับสนุนและกำลังใจในการดำเนินงาน จึงได้จัดให้มีรางวัล TERUMO Diabetes Patient Care Team Award ขึ้น โดยการสนับสนุนจากบริษัทเทอรูโม (ประเทศไทย) เริ่มในปีนี้เป็นปีแรก
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเป็นกำลังใจแก่ทีมงานสหวิชาชีพที่มีผลงานดีเด่น ในการบริการผู้เป็นเบาหวาน ซึ่งมีส่วนในการส่งเสริมให้ผู้เป็นเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพดี โรคแทรกซ้อนน้อยลง โดยเป็นผลงานจากการดูแลที่มีประสิทธิภาพระดับชุมชน
๒. เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของทีมดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานทั้งด้านบุคลากร กระบวนการ และผลลัพธ์ของการดูแลผู้เป็นเบาหวาน
ประเภทรางวัล
ทีมงานดีเด่นมี ๓ รางวัล |
รางวัลที่ ๑ จำนวน ๑ รางวัล เงินสด ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งได้นำเสนอผลงานในงานประชุมประจำปีของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน |
รางวัลที่ ๒ จำนวน ๑ รางวัล เงินสด ๕๐,๐๐๐ บาท |
รางวัลที่ ๓ จำนวน ๑ รางวัล เงินสด ๓๐,๐๐๐ บาท |
ประกาศผลและรับรางวัล พร้อมโล่ห์ประกาศเกียรติคุณในงานประชุมประจำปีของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ |
คุณสมบัติของผู้เสนอขอรับรางวัล
เป็นบุคลากรในสหสาขาวิชาชีพที่ดูแลผู้เป็นเบาหวาน ซึ่งอาจมีผู้ร่วมทีมจากภายนอกสถาบันที่มีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินงาน มีสมาชิกตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป
กำหนดส่งใบสมัครก่อนวันที่ ๓๐ มิถุนายน ของทุกปี คณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ ๓ ทีม และนัดหมายไปเยี่ยม ณ สถานที่จริง ก่อนตัดสินรางวัลในขั้นสุดท้าย
ดิฉันแจ้งสมาชิกรู้ในตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว แต่ประเด็นที่ต้องการนำเสนอก็คือน่ายินดีที่ในปีนี้มีผู้เสนอผลงานเข้าชิงรางวัลจำนวนมากถึง ๓๙ ทีม มีตั้งแต่ระดับ PCU จนถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน (ทีมจากโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกเครือข่ายของเราก็เสนอเข้ามา) แสดงว่าผู้ให้บริการด้านสุขภาพให้ความสำคัญและมีการพัฒนาการดูแลผู้เป็นเบาหวาน บางแห่งก็พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายปี บางแห่งก็เพิ่งเริ่ม
ดิฉันมีโอกาสได้อ่านผลงานเหล่านี้และประทับใจข้อความจากทีมงานของโรงพยาบาลคลองหอยโข่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ขนาด ๑๐ เตียงในจังหวัดสงขลา ที่เขียนคำนำมาว่า
"...เป็นโอกาสดีที่จะได้นำเสนอผลงานที่เราภาคภูมิใจให้คณะกรรมการได้พิจารณา...ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือร่วมใจของทีมสหวิชาชีพที่พัฒนาคลินิกด้วยความมุ่งมั่น เพื่อประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก แม้ผลงานครั้งนี้จะไม่ได้รับการพิจารณา อย่างน้อยก็มีคณะกรรมการได้รับรู้ และจะเป็นวัคซีนแห่งความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงานต่อ แต่ถ้าได้รับความกรุณา ก็คงถือเป็นเกียรติประวัติอันสูงสุดของคลินิก เป็นขวัญกำลังใจของทีม ที่จะได้นำรางวัลที่ได้มาพัฒนาคลินิกเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คนไข้ต่อไป"
ดิฉันไม่ทราบว่าทีมไหนจะได้รับรางวัลบ้าง การที่เอาข้อความข้างต้นมาลงไว้นั้น ไม่ได้ต้องการชี้นำการตัดสินของคณะกรรมการ แต่อยากจะสะท้อนว่าทุกทีมมีผลงานที่ตนเองภาคภูมิใจและต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ แม้จะไม่ได้เขียนบอกมาอย่างชัดเจนเหมือนโรงพยาบาลคลองหอยโข่ง
ดิฉันเชื่อว่าในความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานของแต่ละทีม มีความรู้เชิงปฏิบัติอยู่ในนั้นมากมาย เมื่อเจ้าของผลงานมีใจเปิดกว้างต้องการให้ผู้อื่นรู้ ตรงนี้คือโอกาสของการแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เราคงจะต้องหาวิธีนำผลงานของทีมต่างๆ (ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ได้ก็ตาม) ออกมาเผยแพร่ และหวังว่าจะส่งผลย้อนกลับไปสู่ทีมให้มีกำลังใจในการพัฒนาการทำงานของตนยิ่งขึ้น
วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘