ประสบการณ์อ่าน เขียน แปล กระบวนทัศน์ใหม่ (9)


ผลึกกระบวนทัศน์ใหม่ สวยงาม มีพลังแห่งชีวิต

เพียงชั่วสองวันหนึ่งคืนที่ผ่านมา ดูเหมือนในแก้วน้ำที่มีเกลือละลายอยู่ 99 ช้อน กำลังรอช้อนที่ 100 จู่ๆก็มีกระสอบเกลือเทโครมลงมา ไม่เพียงแต่เกิดผลึก แต่กลายเป็นปราสาทผลึกเกลืออันสวยงาม วิจิตรตระการตายิ่งนัก

กระบวนทัศน์เพื่อชีวิตที่มีความหมาย

เราแต่ละคนก็มีชีวิตอยู่แล้วนี่ ทำไมเดิมที่เรามี ไม่ใช่กระบวนทัศน์เพื่อชีวิตหรอกหรือ? อาจจะใช่ อาจจะไม่ใช่ ขึ้นกับ ชีวิตที่มีความหมาย ของแต่ละคนกระมัง เราคิดอย่างไร เราก็จะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความคิด ข้อสรุป ความเห็น ความเชื่อ ของเราที่เป็นเครื่องยนต์ผลักดันสิ่งต่างๆจากตัวเราออกสู่โลกภายนอก สรรค์สร้างสิ่งต่างๆให้เป็นไปอย่างที่เราคิดว่ามันเป็นไป

ผมเคยถามน้องพยาบาลตอนราวน์ (ดูคนไข้) palliative care ด้วยกันว่า เคยมีบ้างไหมที่คนไข้ถามอะไรเรานอกเรื่อง ตอนที่เรากำลังออกจากห้อง (เป็น ward ห้องพิเศษ เป็นห้องๆ) เรากำลังจะรีบไปดูห้องอื่น ก็ต้องอยู่ในภาวะอีหลักอิเหลื่อ

ถามน้องว่าแล้วน้องรู้สึกอย่างไร คิดว่าอะไร? "ก็ถ้าเป็นเรื่องความเจ็บป่วย ยังไงๆเราก็คงต้องตอบ หรือไปคุยด้วย แต่ถ้านอกเรื่องมากๆ ก็คงต้องขอตัว แล้วบอกว่าเดี๋ยวพยาบาลมาหาใหม่นะคะ ต้องไปดูคนไข้ก่อนค่ะ" อืม... ยกตัวอย่าง ถ้าคนไข้ถามว่า "คุณพยาบาลครับ ตอนนี้น้ำท่วมที่นาทวีไหมครับ" เป็นคำถามนอกเรื่องหรือไม่? "น่าจะเป็นนะคะ" ทำให้เป็นในเรื่องได้ไหมครับ? "อืม... ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ แต่มันไม่เกี่ยวเลยนะคะ"

นั่นคงเป็นเพราะว่า "ความหมายของชีวิตของเราต่างกันครับ" ผมบอกน้องพยาบาลไป ในมุมมองของคนไข้นั้น ความรู้สึก "สบายดี" นั้น มีมิติที่ลึกมากไปกว่า ไม่ปวด ไม่เจ็บ ไม่มีไข้ ไม่มีเลือดออกที่ไหน แต่เป็นความเชื่อมโยงสิ่งต่างๆรอบๆตัวคนไข้ เข้ามาเป็น "ตัวตน" ของเขาด้วย ความเจ็บป่วยในครั้งนี้ ที่ทำให้มานอน รพ. มีผลรบกวนต่อ "ความเป็นตัวตนเขา" มากมายหลายอย่าง เช่น ผมเคยเจอคนไข้คนหนึ่งเป็นคุณป้าอายุ 70 ปี เป็นมะเร็งระยะลุกลามจากรังไข่ แพร่กระจายไปทั่วตัว ปวดหลัง ปวดขา เพราะมีเส้นเลือดดำที่ขาอุดตัน นศพ.มารับคนไข้ เสร็จแล้วก็รู้สึกเป็นทุกข์ นำเสนอ case แล้วก็ถามผมว่า "อาจารย์ขา คนไข้รายนี้หนูคิดว่าอยู่ในภาวะ denial ค่ะ" (denial คือ ปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริง) ทำไมล่ะครับ "ก็หนูบอกแกไปตั้งหลายครั้งแล้วว่าแกเป็นมะเร็งระยะลุกลาม แพร่กระจายไปหมด แกยังบอกทุกวันว่า อยากหายๆ หายแล้วจะได้กลับบ้าน แปลว่าแกไม่ยอมรับความจริง ใช่ไหมคะ?"

ผมบอกน้อง นศพ. ไปว่า คงมีคนไม่ยอมรับความจริงอยู่หลายระดับครับใน case นี้ เดี๋ยวเราจะลองไปดูคนไข้ด้วยกัน พอไปสัมภาษณ์พูดคุยกัคุณป้าที่เตียง ถามป้าว่า ป้ารู้ไหม ป้าเป็นอะไร ทำไมต้องนอนโรงพยาบาล ป้าก็บอกว่า "ป้ารู่สิ ป้าเป็นมะเร็ง มันไปตับ ไปปอดเม็ดแล่ว (= หมดแล้ว)" เหรอ ป้ารู้ว่าเป็นมะเร็งเหรอ มะเร็งมันเป็นยังไงนะจ๊ะป้า "มะเร็งมันรักษายากจ้ะ ใครเป็นก็ตายเม็ด (=ตายหมด)" แล้วป้ามาโรงพยาบาล อยากจะให้หมอช่วยยังไงบ้างจ๊ะ "ก็ให่มันห่ายป็วด จะได้ลบบ้าน (=จะให้ทำให้หายปวด จะได้กลับบ้าน)" แล้วป้าจะกลับบ้านไปทำอะไรล่ะจ๊ะ "เก้าะลบบานไปขายผลละไม้ จ้ะ"

ปรากฏว่าคุณป้าแกขายผลไม้ เลี้ยงลูกมาเจ็ดคน โตกันหมดแล้ว สามีก็ตายไปหลายปีแล้ว แกก็ยังต้องการขายผลไม้ เอาเงินมาเลี้ยงดูลูกหลานอยู่ ที่ว่า "อยากจะหาย" นั้น ไม่ใช่หายจากมะเร็ง ตรงนั้นป้าแกเข้าใจแล้ว ว่ามะเร็งมันไม่หาย แกกำลังจะตาย แต่พันธกิจของป้าตอนนี้ก็คือ หายปวด ทำงานไหว ก็จะขอทำงานจนตาย จนวาระสุดท้าย หมอแค่ช่วยให้แกหายปวด เดินไหวก็พอ

นั่นคือ ความหมายของชีวิต ของป้า และของน้อง นศพ. ไม่เหมือนกัน ความหมายของ "หาย" ก็ไม่เหมือนกัน

ใครที่ denial?

การสื่อสารนั้น ต้องการมากไปกว่าการไปฟังอย่างเดียว แต่ต้องฟังอย่างจิตใจที่เปิดกว้าง บางทีเปิดกว้างอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องสืบเสาะ หาข้อมูลเพิ่มเติม เรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น

Case ที่ยกตัวอย่างถามเรื่องน้ำท่วมที่นาทวีรึเปล่านั้น ก็คือ เขากำลังได้เคมีบำบัดอยู่ รอฉายแสง กำลังคิดว่าอยากจะกลับบ้านไปดูสวนผลไม้นิดนึง อยากจะลาไปสักสองสามวัน เพราะตอนนี้รออย่างเดียว แต่ก็เกรงใจ ไม่กล้าขอหมอ เพราะหมอบอกเสมอว่าห้องพิเศษหายาก และจองทิ้งไว้นานๆไม่ได้ ก็เลย "เลียบๆ เคียงๆ" ถามคุณพยาบาลดูก่อน

ชีวิตที่มีความหมายคืออย่างไร?

ในขณะที่มีหลาย version อยากจะเล่าอีก version หนึ่งของ "ชีวิตที่มีความหมาย" ให้ฟัง คนไข้อายุเพียง 25-26 ปี แต่งงานมาไม่นาน กำลังตั้งท้องได้ 5 เดือน มาหาหมอเพราะมีก้อนที่คอด้านข้าง พอมาตรวจ หมอก็ทราบว่าเป็นมะเร็งบริเวณกล่องเสียง และขนาดใหญ่ ลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง ถ้าจะรักษาต้องผ่าตัดใหญ่ ต้องให้เคมีบำบัด ต้องให้ฉายรังสีรักษา

คนไข้ถามว่า ผลการผ่าตัด การดมยา การให้เคมีบำบัด ฉายแสง มีความเสี่ยงต่อลูกในท้องบ้างหรือไม่ เราก็ชี้แจงไป คนไข้ก็คิดอยู่นาน พักใหญ่ แล้วก็ตัดสินใจว่าจะไม่ขอ take risk อะไรทั้งสิ้นต่อลูก ขอรอให้ลูกคลอดออกมาเสียก่อน แล้วค่อยว่ากัน เราก็พยายามอธิบาย การชั่งน้ำหนัก ข้อดี ข้อเสีย ของทุกๆ scenario แต่จาก "สมการความเสี่ยง" นั้นคือ

 ความเสี่ยง = ความสำคัญของเรื่องราว x ความถี่ของเหตุการณ์

ถึงแม้ว่า side effects, complications ต่างๆจะไม่ถี่เท่าไร แต่ถ้า "น้ำหนักความสำคัญของเรื่องราว" มันใกล้ infinity เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป

คนไข้รายนี้ยอมแม้กระทั่งไม่รับยาแก้ปวดมอร์ฟีนโดยเจาะจง เพราะเหตุผลดังกล่าว ถ้าไปประเมิน scale การปวด บางทีก็จะปวดมากจนทน แทบไม่ได้ แต่ก็แค่ แทบไม่ได้ เท่านั้น ความตั้งใจมั่นที่จะ do no harm ต่อลูกของเธอให้ได้

ผลสุดท้ายคุณแม่ก็ได้ลูกสมปราถนา หมอกำลังจะต้องเอาเธอไปผ่าตัด emergency เพราะมีอาการกระดูกสันหลังกดทับ จากมะเร็งที่ลุกลาม แต่เธอก็ขออุ้มลูก ที่ทำทุกอย่างเพื่อจะได้มีออกมาก่อน เราได้ถ่ายรูปครอบครัวนี้ไว้ พร้อมหน้ากัน พ่อ แม่ และลูกน้อย

  • case ศึกษานี้ เราได้เห็นความรักของแม่ต่อลูก แม้แต่ที่ยังไม่เกิด การยอมรับความเจ็บปวดแทนอย่างถึงที่สุด การยอมชะลอการรักษาจนมะเร็งลุกลามมากกว่าเดิม

  • case ศึกษานี้เราได้เห็นความรักของสามีต่อภรรยา สามียังไม่มีความผูกพันกับลูกมากเท่าตัวภรรยา แต่ก็รัก และเข้าใจ หรือพยายามถึงที่สุด เพื่อเข้าใจภรรยา รวมหัวจมท้ายในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุด กับคนที่รัก

  • case ศึกษานี้เป็นบททดสอบใหญ่ต่อหมอที่ดูแล ต่ออาจารย์แพทย์ ต่อพยาบาล ต่อทีมรักษาทุกๆคน ที่ร่วมกันวางแผน ร่วมกันตัดสินใจ บางทีการยอมรับการตัดสินจากผู้ป่วยและญาติ ก็ไม่ง่ายเสมอไปทุกเรื่อง เป็นเหตุการณ์ที่เราได้แอบถาม "มโนสำนึก" ของเราแต่ละคนอย่างเงียบๆ ว่าพวกเรามองเห็นอะไร กำลัง experience อะไร กำลังจะมี privilege เป็นพยาน สำหรับความรักอีกแบบหนึ่งระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์

 

การจะเป็นเจไดดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก ต้องฝึกฝน ฝึกปรือ แต่นับประสาอะไรกับเหล่าเจได แม้แต่มาสเตอร์โยดาก็ยังต้องเรียนต่อ เรียนวิชาอมรฝ่ายเทพ (ดังที่ Qui-Gon Jinn เป็นผู้ปูทางไว้ก่อน) บรรดา Padawan ทั้งหลาย ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และหมั่นศึกษาอย่าวต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

สุดท้ายกระบวนทัศน์ใหม่เป็นอย่างไร คงจะเปิดกว้าง ให้ collective thought ช่วยๆกันเติมคำในช่องว่าง ทางเลือกของ Robot หรือทางเลือกแห่งชีวิต ก็ยังคงเป้นทางเลือกเหมือนเดิม เหมือนเมื่อวาน เหมือนเมื่อเดือนที่แล้ว และเราทุกคนต่างได้มีส่วนตัดสินใจ ผลักดัน สร้างเสริม ให้เกิดทิศทางที่เราคิดว่าดี คิดว่าดีที่สุด

ตามความหมายของชีวิตของแต่ละคน

 

หมายเลขบันทึก: 82892เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2007 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบอ่านเรื่องเล่า โดยเฉพาะเรื่องคนไข้ของอาจารย์

มันมีชีวิต มีจิตใจ มีความรู้สึก มีความปรารถนาดี และมีความใยดี ขอบคุณค่ะ

คุณหมอรวิวรรณครับ

ผมเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้ เราพบกันทุกวัน ทุกที่ เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกนำมาเล่า มาถก มาอภิปรายกันเท่านั้น คนไข้ทุกคนบน ward เหมือนคลังความรู้ หนังสือหลายหมื่นเล่ม ที่รอเปิดอ่าน รอจะเล่า อยู่ทุกวี่วัน เพียงแต่เราสามารถหาเวลาได้เมื่อไหร่ ก้เมื่อนั้น

ยินดีที่ชอบครับ ผมพึ่งไปเชียงรายมา เสียดายยังไม่มีโอกาสไปเยี่ยมที่ รพ. อาจารย์

 

การที่ได้อ่านเรื่องแบบนี้บ่อยๆก็น่าจะช่วยให้เรารีบตัดสินอะไรๆช้าลงได้นะคะ เพราะเรามีข้อมูลตัวอย่างว่า สิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น ได้รู้นั้นอาจเป็นเพียง"ผิวๆ"ของ "อะไรๆ"ที่ลึกกว่านั้น เป็นสิ่งที่ต้องถ่ายทอดค่ะ

อยากให้มีการทดสอบที่เป็นสถานการณ์แล้ว ให้คนอ่านตีความจากสิ่งที่รับรู้ แล้วเราก็มาคุยกันว่าใครคิดยังไง เราน่าจะได้เห็นว่า คนแต่ละคนมองสถานการณ์เดียวกันได้หลากหลายขนาดไหนนะคะ

ขอบคุณคุณPhoenix ที่เขียนอะไรกระตุกต่อมความคิดเรื่อยๆค่ะ

คุณโอ๋ครับ

ไม่ได้ตั้งใจจะจับผิดนะครับ แต่อ่านเจอ

"ก็น่าจะช่วยให้เรารีบตัดสินอะไรๆช้าลงได้นะคะ "

มันอ่านปุ๊บแล้วหัวทิ่มเลย (ไม่ทราบเป็นมุขรึเปล่า แฮ่ะๆ)

เวลาเราไปดูภาพยนต์แล้วออกมาสนทนากันข้างนอก ดุเรือ่งเดียวกันยังเกือบเหมือนคนละเรื่องได้เลย จริงไหมครับ คนนึงดูพระเอก อีกคนดูนางเอก อีกคนดูพ่อพระเอก อีกคนดุตัวประกอบ (สาวๆ) อีกคนดูตัวประกอบ (หนุ่มๆ) ฯลฯ

อย่าว่าแต่ระหว่างคนเลยครับ หนังสือเล่มเดิม เราคนอ่านคนเดิม อ่านเวลานึง ณ บริบทนึง ยังได้อรรถรสใจความความหมายไม่เหมือนกันเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท