โรงเรียนข้างถนน : ปัญหาเด็ก : ครอบครัวทางแก้ที่แนะนำกันมานาน


ปัญหาเด็ก : ครอบครัวทางแก้ที่แนะนำกันมานาน

     ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มมีการให้ความสนใจกับปัญหาเด็กใหม่ ๆ ราวปี 2522 เห็นจะได้ ซึ่งถ้านับมาถึงวันนี้ ก็กว่า 20 ปีแล้ว ที่มีหน่วยงานที่เข้ามาทำงานด้านเด็ก ที่ริเริ่มกันมาและแตกแขนง สายงานที่เจาะจงลงไปที่ปัญหาเฉพาะเพิ่มมากขึ้นจนถึงวันนี้หลายสิบหน่วยงาน ทั้งที่เป็นของรัฐบาลเอง และเป็นองค์กรภาคเอกชน ซึ่งอาจจะต้องพัฒนาเข้าสู่ภาคมหาชนในไม่ช้าตั้งแต่แรกเริ่มคนทำงานด้านนี้ในยุคต้น อาจจะเร่งรุกไปที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ แก้ไข และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กแต่เพียงประการเดียว จนหลายครั้งเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือไม่สามารถคืนกลับสู่สังคมได้

     แต่เมื่อผ่านไปไม่นาน หลายหน่วยงานก็เริ่มพบคำตอบที่เป็นความจริงว่า ครอบครัว ชุมชน และสังคมเท่านั้น ที่จะสามารถแก้ไข และป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบ และเกิดขึ้นกับเด็ก จึงได้มีการเสนอแนวทางและรณรงค์เพื่อให้ทุกฝ่ายข้างต้น เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่า ความพยายามดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น ครอบครัวยังมีการทำร้ายเด็ก ยังทอดทิ้งเด็ก ยังล่วงละเมิดเด็กในรูปแบบต่าง ๆ ชุมชนยังมีการเอารัดเอาเปรียบเด็ก ยังมีการกล่าวโทษเด็กในด้านทางความเชื่อทางวัฒนธรรม สังคมยังไม่โอบอุ้มเด็กด้วยความจริงใจ ยังไม่มีการจัดสรรสวัสดิการอันสมควรให้แก่เด็กอย่างเพียงพอ


     เด็ก ในวันนี้ ยังได้รับแต่เพียงลมปากจากผู้ใหญ่ที่พ่นสัญญาให้กับเด็ก เด็กวันนี้ยังโดนผู้ใหญ่บังคับให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ผ่านคำขวัญวันเด็กที่ผู้ใหญ่ยัดเยียดให้ทุกปี ๆ ข่าวสารการที่เด็กโดนทำร้ายยังมีการนำภาพเด็กที่หมกด้วยผ้าและหมวกผ่านทางสื่อแขนงต่าง ๆ ให้สังคมได้ล่วงละเมิดเด็กซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนบางคนบางกลุ่มยังใช้เด็กเป็นเครื่องมือหากิน และประชาสัมพันธ์การทำงานของตนเองไม่เว้นแต่ละวัน สื่อก็ยังหิวกระหายที่จะประจานเด็กหากว่าเด็กเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง ทั้งที่นั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เด็กเป็นเหยื่อทางความรุนแรงของสังคมเพิ่มมากขึ้น ทั้งแบบที่กระจ่างชัด และแอบแฝง

 

หมายเลขบันทึก: 82812เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2007 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

เบิร์ดเห็นด้วยว่าเด็กเป็นเหยื่อของสังคม..ความเปราะบาง..ความไร้เดียงสาของเขาทำให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ความเห็นแก่ตัวของคนทำให้กลืนกินกันเอง..การแก้ไขปัญหาที่แยกส่วน..เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือหน่วยงานจึงไม่ยั่งยืน

โจทย์ใหญ่ที่เราต้องทำในขณะนี้คือทำอย่างไรให้เกิดครอบครัว ชุมชน และสังคมที่เข้มแข็งมีจุดยืนของตนเองในการที่จะดูแล แก้ไข และป้องกันปัญหาต่างๆร่วมกันอย่างจริงจัง..ซึ่งในปัจจุบันเท่าที่เบิร์ดพบมาเบิร์ดเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่นะคะ เพียงแต่เราต้องใช้เวลา และช่วยกันขยายเปลวเทียนในแต่ละจุดให้ส่องสว่างขึ้นเรื่อยๆ..และเราอย่าลืมความจริงที่ว่า.." ไม่ว่าจะมีแสงสว่างสักเพียงไร  ก็ยังต้องมีเงาอยู่นั่นเอง.."

เป็นกำลังใจให้อาจารย์และทุกๆคนทำงานเพื่อสังคมต่อไปนะคะ.. 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท