พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จฯ ยังค้างเติ่งคลังกระทุ้ง สนช. ผ่านร่างช่วย ขรก. ใช้บำเหน็จตกทอดค้ำประกันเงินกู้


พรบ.กองทุนบำเหน็จฯ

ข้าราชการบำนาญ 3.32 แสนราย  ยังต้องร้องเพลงรอ สนช. บางคนขวางไม่ให้ผ่าน พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เปิดทางให้นำบำเหน็จตกทอดใช้ค้ำประกันเงินกู้แบงก์ได้ ยกเหตุเห็นด้วยกับ "ธีรภัทร์" ไม่ปลื้มโครงการ "ทักษิณ" มอมเมาประชาชนใช้เงินฟุ่มเฟือย คลังเตรียมกระทุ้ง สนช. อีกรอบ ชี้ช่วยให้ข้าราชการ     มีชีวิตดีขึ้น แถมไม่เกิดหนี้เสีย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่กระทรวงการคลังเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอดมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา   และขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้สภานิติบัญญัติแหงชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไขเพื่อบังคับใช้ต่อไปนั้น ปรากฏว่าในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงาน สนช. ก่อนที่จะนำเสนอวาระ   สนช. ได้มีข้อสังเกตบางประเด็นว่า ร่างแก้ไขนี้จะเป็นการสืบทอดนโยบายมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เข้าลักษณะแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และส่งเสริมให้ประชาชนหรือข้าราชการบำนาญใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย ซึ่งถือเป็นนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลก่อนใช้มอมเมาประชาชน  "ข้อสังเกตของคณะกรรมการประสานงาน สนช. ดังกล่าวเป็นแนวคิดเดียวกับ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก ได้มีการตั้งข้อสังเกตในที่ประชุม ครม. โดยมุ่งเน้นว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ข้าราชการบำนาญนำเงินในอนาคตมาใช้ ส่งเสริมให้คนมือเติบฟุ่มเฟือย  และกลัวว่ารัฐจะต้องสูญเสียเงินหากข้าราชการบำนาญนำเงินไปลงทุนแล้วเจ๊งนั้น แต่ความจริงแล้ววัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกระทรวงการคลังต้องการให้ข้าราชการบำนาญที่มีเงินดำรงชีพน้อย ซึ่งมีอยู่จำนวน 3.32 แสนรายในปัจจุบัน สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยนำบำเหน็จตกทอด     มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ แล้วนำเงินออกจากธนาคารไป หากไม่มีเงินจ่ายก็มาหักเอาเงินบำเหน็จไปคืน        ซึ่งรัฐไม่ได้สูญเสียเงินอะไรมากมาย เพียงแค่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากไม่เป็นหนี้เสียเงินนั้นก็ไม่ต้องจ่ายออกไป ที่สำคัญเงินจำนวนนั้นก็ต้องตกเป็นของข้าราชการบำนาญอยู่แล้ว แต่มันจะมาช่วยการหมุนเวียนเงินในระบบให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว

            แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังเห็นว่าเรื่องดังกล่าวผ่าน ครม. ไปนานแล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่วาระของ สนช. จึงจะทำหนังสือประสานไปยังคณะกรรมการประสานงาน สนช. ว่า หากมีข้อสังเกตใด ๆ กระทรวงการคลังก็พร้อมจะชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อให้ สนช. พิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพราะผลจากโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ      ได้อีกทางหนึ่ง ในภาวะที่การบริโภค การเบิกจ่าย และการลงทุนยังไม่เร่งตัวเท่าที่ควร

            ทั้งนี้ แนวคิดในการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระทรวงการคลังได้ผู้รับบำนาญร้องเรียนว่าเงินบำนาญที่มีอยู่จำนวนน้อยไม่สามารถดูแลชีวิตได้ดี จึงอยากให้เงินที่เป็นสิทธิบำเหน็จตกทอดที่มีอยู่จำนวน 30 เท่าของเงินเดือนนั้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินกู้ไปลงทุนต่าง ๆ ได้ จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ได้รับบำเหน็จตกทอด ก็ต่อเมื่อข้าราชการบำนาญเสียชีวิต และจะจ่ายให้ทายาทเท่านั้น

ทั้งที่ข้าราชการคนนั้นควรจะได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ กระทรวงการคลังจึงคิดจะแก้ไขกฎหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันแต่ละเดือน กรมบัญชีกลางมีภาระต้องจ่ายเงินบำนาญ 4.5 พันล้านบาท จากข้าราชการบำนาญทั้งหมด 3.32 แสนราย

 มติชน   คม ชัด ลึก 5 มี.ค. 50
คำสำคัญ (Tags): #พรบ.
หมายเลขบันทึก: 82170เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ไหนว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วมายับยั้งไว้อย่างนี้มันสวนทางกัน ไม่ต้องกลัวหรอกว่าพวกคนแก่จะสุรุ่ยสุร่าย หรือขาดวินัยทางการเงิน เพราะผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแล้ว รู้ดีว่าจะจัดการกันอย่างไร ก.คลังช่วยกระทุ้งทีเถอะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท