Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงในสถาบันการศึกษาไทยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ : พบอะไร ?


ในที่สุด เราสรุปได้ว่า ยังมีปัญหาด้านสิทธิทางการศึกษาปรากฏแก่เด็กและเยาวชนไร้รัฐและหรือไร้สัญชาติ แต่ก็ยังปรากฏมีทางออกของปัญหาดังกล่าว สถานการณ์มิได้ตีบตันสำหรับเจ้าของปัญหาแต่อย่างใด

          ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มทำโครงการเด็กไร้รัฐ เราตระหนักได้ถึงระดับความเข้าใจของกระทรวงศึกษาธิการต่อการจัดการปัญหาสิทธิการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย  เราจึงเสนอ มสช.ที่จะเข้าสำรวจสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงในสถาบันการศึกษาไทย และ มสช.ก็เห็นชอบให้เราทำได้ ด้วยโอกาสที่ได้รับจากคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ วุฒิสภา  เราจึงได้ทำการสำรวจสถานการณ์ในสถาบันการศึกษาไทยในโอกาสที่ติดตามการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการดังกล่าวไปเปิดพื้นที่พูดคุยกับทีมบริหารของกระทรวงศึกษาธิการทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค[1] ตลอดจนเด็กและเยาวชนไร้รัฐและไร้สัญชาติในแต่ละสถาบันการศึกษาที่เราได้มีโอกาสตรวจเยี่ยม และตั้งวงเสวนา ในการทำงานวิจัยในขอบเขตนี้ เรามีข้อค้นพบหลายประการเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นไปของเด็กและเยาวชนไร้รับหรือไร้สัญชาติในสถาบันการศึกษาไทย

           สถานการณ์ด้านสิทธิในการเข้าสู่การศึกษา

           ในประการแรก เราพบว่า ผู้บริหารในระดับภาคราชการของกระทรวงศึกษาส่วนใหญ่มีความตระหนักรู้ในหน้าที่ของประเทศไทยที่จะต้องให้การศึกษาแก่มนุษย์ทุกคนโดยไม่คำนึงว่า มีสัญชาติหรือไม่ หรือมีเอกสารรับรองตัวบุคคลโดยรัฐหรือไม่ แต่ระดับความเข้าใจดังกล่าวมีไม่มากนักในระดับปฏิบัติการ เราพบปรากฏการณ์ที่เด็กและเยาวชนถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเข้าการศึกษาใน ๒ รูปแบบ กล่าวคือ (๑) ไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าศึกษาเลย และ (๒) ได้รับการยอมรับให้เข้าศึกษาในความเป็นจริง แต่ไม่ยอมให้ขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนนักศึกษา อันทำให้ไม่อาจได้รับใบรับรองวุฒิการศึกษาเมื่อศึกษาจบ เราทราบว่า มีเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษาในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการให้ศึกษาได้ แต่ก็มิได้นำชื่อของเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติขึ้นทะเบียนนักเรียนหรือนักศึกษา จึงส่งผลให้ไม่อาจออกวุฒิการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติได้เมื่อพวกเขาเรียนจบการศึกษา ในวันนี้ จึงมีข้อเสนอจากภาควิชาการและภาคประชาชนต่อกระทรวงศึกษาธิการที่จะสั่งการให้มีการนำเด็กไร้รัฐเด็กไร้สัญชาติที่เรียนอยู่จริง ในสถาบันการศึกษา  แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนนักเรียน เข้าบันทึกในทะเบียนนักเรียนภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเด็กไร้รัฐฯ มสช. แต่เราจึงเลือกกรณีศึกษาดังต่อไปนี้มาทดลองผลักดันให้คนไร้รัฐหรือคนไร้สัญชาติได้รับการรับรองสิทธิในการเข้าสู่การศึกษา กล่าวคือ (๑) กรณีของนางสาวโอ๋ แห่งจังหวัดปทุมธานี[2] และ (๒) กรณีของนางสาวจันทรา เย็นใจ แห่ง กทม.[3] 

          สถานการณ์ด้านสิทธิในการประกันการศึกษา

         เราพบว่า เด็กไร้รัฐหรือเด็กไร้สัญชาติไม่อาจใช้สิทธิกู้ยืมเพื่อการศึกษา เนื่องจากข้อ ๙(๑) แห่งระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วย การดำเนินงาน หลักเกณฑ์ และวิธีการกู้ยืมเงิน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ กำหนดให้เฉพาะคนสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะมีสิทธิกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามระเบียบนี้  ดังนั้น เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติที่มาจากครอบครัวที่ยากไร้ จึงอาจขาดโอกาสทางการศึกษาหากครอบครัวไม่มีเงินส่งเสียให้ได้เรียน    

             ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขระเบียบดังกล่าว โดยขยายโอกาสที่จะกู้ยืมไปยังเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ  และในขณะที่การแก้ไขระเบียบดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาสังคมก็ขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการโปรดประสานงานเพื่อสำรวจว่า มีนักเรียนนักศึกษาที่ประสบปัญหาความขาดแคลนทางการเงินจนส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ และดำเนินการประสานงานกับองค์กรเอกชนที่อาจช่วยเหลือได้ต่อไป ขอให้สังเกตว่า ปัญหามิใช่อยู่ที่ทัศนคติ แต่อยู่ที่ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งจำกัดสิทธิให้เพียงแต่คนสัญชาติไทยเท่านั้น กรณีศึกษาหนึ่งที่เราเลือกขึ้นมาทำความเข้าใจกับสังคมไทยโดยรวม ก็คือ กรณีคุณเบญจวรรณ  แห่ง วิทยาลัยมิชชั่น  อำเภอมวกเหล็ก  จังหวัดสระบุรี[4]

                นอกจากนั้น เรายังได้ค้นพบอีกว่า เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติที่เกิดในไทย ซึ่งต่อมาได้สัญชาติไทย ก็ยังมีปัญหาที่สถาบันการศึกษาไม่ยอมให้สิทธิกู้เงินสงเคราะห์การศึกษา ทั้งนี้ เพราะระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงศึกษาไปบันทึกว่า บุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นตนด้วยเลข ๘ ไม่มีสัญชาติไทย จึงไม่ยอมที่จะให้สิทธิกู้ยืมเงินดังกล่าว เพื่อการนี้ เราจึงนำกรณีดังกล่าวมาบันทึกเป็นบทเรียน โดยผ่านกรณีนางสาวศิริพร จันศิริ[5]   

          สถานการณ์ด้านสิทธิในวุฒิการศึกษา

         เราพบว่า มีเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในสถาบันการศึกษาในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ไม่ได้รับวุฒิการศึกษาเมื่อจบการศึกษา ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการโปรดสั่งการให้มีการออกวุฒิการศึกษาให้แก่เด็กไร้รัฐเด็กไร้สัญชาติที่จบการศึกษาไปแล้วแต่ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา และกำชับให้มีการออกวุฒิการศึกษาแก่เด็กไร้รัฐเด็กไร้สัญชาติที่กำลังจะจบการศึกษา เราได้ทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับการออกวุฒิการศึกษาให้แก่กรณีศึกษาหนึ่งของเรา เนื่องจากกรณีศึกษาของเราไม่อาจเรียนต่อในการศึกษาระดับสูงขึ้นไปได้ ด้วยว่าโรงเรียนในระดับประถมศึกษาไม่ยอมออกใบรับรองผลการศึกษาให้ เราได้ประสานงานกับโรงเรียนดังกล่าวให้ออกใบรับรองวุฒิการศึกษาให้แก่กรณีศึกษาของเรา ใช้เวลาประสานงานอยู่ ๒ เดือนเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คณะผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าว แต่เราก็มิได้มีการสรุปบทเรียนของเราออกมาเป็นงานเขียนและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เนื่องจากกรณีศึกษาของเราไม่อยากให้เราเผยแพร่เรื่องนี้ ด้วยเหตุที่กลัวว่า ครูในโรงเรียนจะเกลียดชัง ด้วยความเคารพในการตัดสินใจของกรณีศึกษาของเรา เราจึงไม่อาจเล่ากรณีศึกษาดังกล่าวในรายละเอียด 

          สถานการณ์ด้านสิทธิที่จะใช้ประโยชน์วุฒิการศึกษา

           เราพบว่า  มีคนไร้รัฐหรือคนไร้สัญชาติจำนวนไม่น้อยที่เรียนจบในสถาบันการศึกษาที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่อาจที่จะประกอบอาชีพตามวุฒิการศึกษาที่ตนได้เล่าเรียนมา อันทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย

        ภาคประชาสังคมจึงขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการประสานงานให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมมีประกาศตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ เพื่ออนุญาตให้เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติที่สำเร็จการศึกษาในสถาบันการศึกษาไทยมีสิทธิทำงานได้ตามวุฒิการศึกษาที่ตนเล่าเรียนมากรณีศึกษาที่เรานำมาศึกษาเป็นตัวอย่าง ก็คือ (๑) กรณีนางสาวเดือน อุดมพันธ์ แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย[6] (๒) กรณีนางสาวชนานันท์ เชอมือ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[7] และ (๒) กรณีนางสาวลืนหอม สายฟ้า แห่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (พิษณุโลก)[8] 

         สถานการณ์ด้านสิทธิในการออกนอกพื้นที่เพื่อการศึกษา 

     เราพบว่า นักเรียนนักศึกษาไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งจำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อการศึกษา แต่ประสบปัญหาที่เจ้าหน้าที่อำเภอไม่ยอมอนุญาตหรืออนุญาตให้ในเวลาที่จำกัดมาก มิได้เป็นไปตามหลักสูตรการศึกษา อันทำให้นักเรียนนักศึกษาไร้รัฐไร้สัญชาติประสบอุปสรรคอย่างมาก เพราะอาจถูกจับโดยตำรวจ

      ภาคประชาสังคมจึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการโปรดประสานงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการปกครอง เพื่อรับทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้นักเรียนนักศึกษาไร้รัฐไร้สัญชาติสามารถเดินทางไปศึกษาได้เป็นระยะเวลาตามหลักสูตรนั้นๆ โดยไม่ต้องขออนุญาตเป็นครั้งคราว[9]  และขอให้สั่งการให้แต่ละสถาบันการศึกษาในการกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการสำรวจว่า  เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติได้รับใบอนุญาตให้ออกพื้นที่เพื่อศึกษาตลอดหลักสูตรตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้วหรือยัง หากยัง ก็ขอให้ประสานงานกับอำเภอที่เกี่ยวข้องออกหนังสืออนุญาตให้นักเรียนและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติของตน กรณีศึกษาที่เราใช้ในการทดลองสิทธิดังกล่าว ก็คือ กรณีของนางสาวลืนหอม สายฟ้า[10]  

         สถานการณ์ด้านความผิดเกี่ยวกับเอกสารรับรองตัวบุคคลที่มิชอบด้วยกฎหมาย

              เราพบว่า มีเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งซึ่งอาจมีเอกสารรับรองตัวบุคคลที่มิชอบด้วยกฎหมาย อาทิ ทร.๑๔ หรือ ทร.๑๓ ปลอม จึงทำให้ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร จนตกเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร  นอกจากนั้น ยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งใช้เอกสารรับรองตัวบุคคลของบุคคลอื่นมาใช้ในการสมัครเรียน ซึ่งเมื่อความเป็นจริงปรากฏ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาก็จะไล่เด็กและเยาวชนซึ่งตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติออกจากสถาบันการศึกษา ซึ่งภาคประชาสังคมไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติเช่นนั้นของสถาบันการศึกษา เรื่องของสิทธิในสถานะบุคคลและสิทธิในการศึกษาเป็นคนละเรื่องกัน การกระทำผิดที่เกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลย่อมดำเนินการไปได้ แต่ไม่ควรจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งในกรณีส่วนใหญ่ ผู้ที่ปลอมแปลงเอกสารหรือแอบอ้างใช้เอกสารของบุคคลอื่นจะเป็นบุพการี มิใช่ตัวเด็กและเยาวชนเอง การกระทำผิดของบุพการีจึงไม่บังควรที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องจึงขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้แต่ละสถาบันการศึกษาในการกำกับดูแลไม่มีการกระทำที่ตัดโอกาสของเด็กและเยาวชนไร้สัญชาติในสถานการณ์ดังกล่าว กรณีศึกษาของเยาวชนที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิทางการศึกษาเพราะใช้สูติบัตรปลอมในการสมัครเรียน ก็คือ กรณีของนายศรชัย อามอ แห่งจังหวัดลำปาง[11] 

           สถานการณ์ด้านกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับสิทธิทางการศึกษา       

             ในช่วง พ.ศ.๒๕๔๗ ๒๕๔๘ เราได้เป็นประจักษ์พยานของการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ยอมรับที่จะผลักดันหลัก Education for all ให้มีผลในความเป็นจริง ซึ่งการผลักดันดังกล่าวได้ถูกเสนอขึ้นโดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ วุฒิสภา ซึ่งเป็นเวทีทำงานร่วมกันของภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวซึ่งประสบปัญหาความไร้สัญชาติ[12]  เราจึงอาจสรุปสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงประการหนึ่งได้ว่า ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันตระหนักได้ว่า เมื่อพิจารณาทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย  สิทธิในการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างไม่ต้องสงสัย[13]  ดังนั้น รัฐบาลไทยในยุคนี้จึงมีภารหน้าที่ที่จะต้องให้สิทธิในการศึกษาของมนุษย์ทุกคนบนแผ่นดินไทยให้ได้รับการคุ้มครองและรับรอง เราพบว่า หลัก Education for all นี้ได้กลายเป็นหลักการที่ปรากฏในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘ แล้ว         แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พบต่อไปว่า หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเองก็ไม่ได้รับรู้ถึงระเบียบดังกล่าว

          เราจึงพบเช่นกันว่า ภาคประชาสังคมจึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ารับผิดชอบในการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเข้าใจระเบียบดังกล่าว รวมตลอดถึงผลักดันความมีผลได้จริงของระเบียบดังกล่าวต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ซึ่งการจัดการสัมมนาปฏิบัติการให้แก่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการในทุกระดับเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การศึกษาในหลัก Education for all และในหลักกฎหมายและนโยบายที่อาจช่วยแก้ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้แก่เด็กและเยาวชนของตน นอกจากนั้น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในลักษณะนี้ย่อมมีผลเป็นการปรับทัศนคติที่อาจไม่ถูกต้องนักของบุคคลากรในสถาบันการศึกษาต่อเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ

          ในช่วงเวลาเดียวกัน เรายังได้เป็นประจักษ์พยานของการเกิดขึ้นของ ยุทธศาสตร์จัดการสิทธิและสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งกำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ข้อ ๔.๔.๓. แห่งยุทธศาสตร์นี้ได้กำหนดให้เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ประสานการดำเนินการร่วมกันเพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุวัตถประสงค์ของยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะมาตรการระยะยาวในการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานแนบท้ายยุทธศาสตร์ฯ ที่กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริการทางด้านการศึกษาในประเทศไทยสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล และจะต้องดำเนินการในทันที 

        สถานการณ์ด้านสิทธิของในทะเบียนราษฏรของรัฐไทยของนักเรียนไร้รัฐ

             เราพบว่า ยังปรากฏมีนักเรียนนักศึกษาไร้รัฐจำนวนไม่น้อยในสถาบันการศึกษา และไม่ปรากฏความคืบหน้ามากนักในความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยเพื่อสำรวจจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดทำเลขประจำตัว ๑๓ หลักประสานงานให้กระทรวงมหาดไทยลงรายการสถานะบุคคลใน ทร.๓๘ ให้แก่เด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษาซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียน ภาคประชาสังคมจึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการโปรดประสานงานกับกรมการปกครอง เพื่อมิให้มีเด็กและเยาวชนไร้รัฐซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรในสถาบันการศึกษาไทยเลยแม้แต่คนเดียว             

              ในที่สุด เราสรุปได้ว่า ยังมีปัญหาด้านสิทธิทางการศึกษาปรากฏแก่เด็กและเยาวชนไร้รัฐและหรือไร้สัญชาติ แต่ก็ยังปรากฏมีทางออกของปัญหาดังกล่าว สถานการณ์มิได้ตีบตันสำหรับเจ้าของปัญหาแต่อย่างใดในขั้นตอนต่อไป ด้วยแนวคิดเชิงญานวิทยาในการทำงานวิจัยและพัฒนาของเรา เรามิได้ทำตัวเป็นเพียง ผู้พบเห็น เท่านั้น เรายังทำตัวเป็น ผู้แก้ปัญหา อีกด้วย ทั้งนี้ เพราะ การทดลองเข้าแก้ปัญหา ก็คือ การสร้างห้องทดลองสังคม ซึ่งเรานักวิจัยอาจใช้เป็น พื้นที่เพื่อการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ อันจะนำไปสู่การค้นพบ ต้นแบบในการแก้ปัญหา ซึ่งเจ้าของปัญหาอาจเรียนรู้และนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ ตลอดระยะเวลาที่ทำงานภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเด็กไร้รัฐฯ มสช. เราจึงพยายามที่จะสอดแทรกเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านลบต่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไร้รัฐและหรือไร้สัญชาติ ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอของนางสาวสรินยา กิจประยูร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักกฎหมายธรรมสติ ที่อาสามาร่วมงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนา เด็กไร้รัฐฯ[14] 

---------------------------------------------------------

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


[1] ในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ วุฒิสภา  ได้เชิญทีมบริหารของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลาง http://www.archanwell.org/gallery/show_room.php?h=80&id_dir=54
[2] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, กรณีนางสาวโอ๋แห่งปทุมธานี : สิทธิเข้าศึกษาในโรงเรียน กศน., เผยแพร่ในสาละวินโพสต์ : วารสารเพื่อความเข้าใจในประเทศพม่า  ฉบับที่ ๒๘ (วันที่ ๑ มกราคม ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙)http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=265&d_id=264
[3] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, กรณีนางสาวจันทรา เย็นใจ : ตัวอย่างของแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายที่มีสถานะเป็นราษฎรไทยซึ่งไม่มีสัญชาติไทย แต่มีเพียงสิทธิอาศัยในลักษณะชั่วคราวในประเทศไทย ทั้งที่ยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย, เผยแพร่ในวันรพีประจำปี พ.ศ.๒๕๔๙ (๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙)http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=337&d_id=336
[4]  จดหมายเล่าปัญหาผลกระทบด้านการศึกษาจากการไม่มีสัญชาติไทย, โดยคุณเบญจวรรณ แห่งวิทยาลัยมิชชั่น คนไร้สัญชาติ เจ้าของปัญหา อำเภอมวกเหล็ก  จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=179&d_id=179
[5] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสถานะบุคคลของนางสาวศิริพร จันศิริ คนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นอดีตคนไร้สัญชาติ เชื้อชาติไทยลื้อ ที่ประสบปัญหาการใช้สิทธิในทุนการศึกษา, กรณีศึกษาเสนอต่อที่ประชุมเสวนาเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยในภาพรวมเมื่อวันพุธที่ ๑๔ กรกฎาคม พ..๒๕๔๗ เวลา ๑๔.๐๐ น., ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=61&d_id=61
[6] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติไทยและสิทธิในการสมัครสอบบรรจุข้าราชการครูของนางสาวเดือน อุดมพันธ์, เพื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพุธที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘  http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=193&d_id=193
[7] ลักคณา พบร่มเย็น, น้องแนท : คนสัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมาย แต่กรมการปกครองให้ถือว่า เป็นคนสัญชาติไทยภายหลังการเกิด, งานเพื่องานวันเด็กไร้สัญชาติ ณ โรงเรียนสหศาสตร์ เชียงราย สนับสนุนโดย UNICEF เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๘ http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=247&d_id=246
[8] ลืนหอม สายฟ้า, กรณีนางสาวลื่นหอม สายฟ้าแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร: สิทธิในโอกาสที่จะใช้ความรู้กฎหมายตามวุฒิการศึกษา, เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=259&d_id=256
[9] มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เรื่อง  ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา  พ.ศ. ….. (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย) http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=166&d_id=166
[10] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, กรณีนางสาวลืนหอม สายฟ้า คนไร้สัญชาติถือบัตรสีฟ้าแห่งเวียงแหง : เธอมีสิทธิที่จะได้รับอนุญาตเพื่อออกมาศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลกหรือไม่ ?  เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙  http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=271&d_id=270
[11] สรินยา กิจประยูร, เรื่องของ "ชัย" และอีกหลายคนไทยที่ต้องการทางออ, มติชน วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑๐๔๔๕  http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=327&d_id=326
[12] พันธ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และวัลลภ ตังคณานุรักษ์, รายงานการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ในคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา, เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙
[13] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิต
หมายเลขบันทึก: 82122เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พวกพี่ๆ ที่ไปเข้าค่ายภาษาอังกฦษที่ค่ายหัตถวุฒิสนุมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆเลยค่ะ  หนูมีคำถามที่จะถามพี่เคนว่า      ผึ่งอะไรตาบอด       ตอบได้ไหมค่ะ    ถ้าตอบไม่ได้หนูเฉลยแล้วนะ          เฉลย ผึ่ง (เพิ่ง) รู้ว่าผมรักคุณ 55555555  ผมมีอะไรจะถามพี่แชมป์ว่า    พี่แชมป์อย่าเปิดพัดลมนะครับ  เดียวลมจะพัดเอาหัวใจผมไปอยู่ในหัวใจพี่ซูเรียนะครับหล่อนเล่นครับ เจม  กับ โบว์จะเอารูปครูมาให้พี่แชมป์กับพี่เคนดูนะครับนะค่ะไม่มีรูปครูมีแต่รูปโรงเรียนนะมีแต่ตราโรงเรียนนะเอาเปล่าและเบอร์โทรโรงเรียน  036-340112

เอาเบอร์โทรโรงเรียนก็พอและชื่อครูก็พอ ชื่อเล่น ครูพอน  ชื่อจริงชื่อ อาจารย์ปรียาพร   โพธิรินทร์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท