ธรรมะขีดเส้นใต้ ๒ : ธรรมะสำหรับคนทำงาน


คนประสบความสำเร็จ (ชีวิตที่ก้าวหน้าและสำเร็จ)

        เมื่อพูดถึงพระไตรปิฎก หลายคนคงคิดไปต่างๆ นานา บ้างคงคิดว่าคือพระธรรม(แล้วพระธรรมก็คืออะไรที่เหนือโลก!) บ้างคงคิดว่าเป็นตำราศักดิ์สิทธิ์ของพระ บ้างคงคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องเคารพบูชาเพราะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า

        แล้วท่านล่ะครับเมื่อได้ยินคำว่าพระไตรปิฎกท่านนึกถึงอะไรครับ คราวหน้าผมจะเอาความหมายและประวัติความเป็นมาของพระไตรปิฎกมาเล่าให้ฟังกัน

        วันนี้ผมจะคัดลอกข้อความบางส่วนจากหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งมาให้อ่านกัน หนังสือชื่อ ธรรมนูญชีวิต: พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม เขียนโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) หรือบางท่านอาจรู้จักในนามเดิมคือ พระธรรมปิฎก

        พระคุณเจ้าท่านนี้ถือได้ว่าเป็นมหาปราชญ์ชาวไทย ที่มีจริยวัตรที่งดงามมากๆ ใครที่เป็นชาวพุทธแล้วไม่คุ้นชื่อหรือไม่รู้จักท่านก็ให้รีบทำความรู้จักท่านเสียนะครับ ตอนนี้ท่านก็อายุมากแล้ว ยิ่งคนที่มีโรคภัยทางกายเบียดเบียนมากๆ ลองอ่านประวัติท่านดูครับ อาจมีกำลังใจมากขึ้น

        ข้อความที่ผมจะนำมาให้อ่านกันนี้พระคุณเจ้าท่านนี้ท่านได้สรุปความจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาที่เราๆอ่านแล้วเข้าใจได้ แล้วเราจะรู้ว่าพระไตรปิฎกของเรานั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการอยู่เหนือโลกอย่างเดียว เริ่มกันเลยครับ


        ผู้ที่ต้องการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จ  ไม่ว่าจะด้านการศึกษา  หรืออาชีพการงานก็ตาม  พึงปฏิบัติตามหลักต่อไปนี้

ก.หลักความเจริญ

ปฏิบัติตามหลักธรรม ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ที่เรียกว่า จักร (ธรรมประดุจล้อทั้งสี่ที่นำรถไปสู่จุดหมาย)  ซึ่งมี ๔ ข้อ คือ

        ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ  เลือกอยู่ถิ่นที่เหมาะ คือ เลือกหาถิ่นที่อยู่  หรือแหล่งเล่าเรียนดำเนินชีวิตที่ดี  ซึ่งมีบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่อำนวยแก่การศึกษาพัฒนาชีวิต  การแสวงธรรมหาความรู้  การสร้างสรรค์ความดีงาม  และความเจริญก้าวหน้า

        ๒. สัปปุริสูปัสสยะ  เสาะแสวงหาคนดี คือ  รู้จักเสวนาคบหา  หรือร่วมหมู่กับบุคคลผู้รู้  ผู้ทรงคุณ  และผู้ที่จะเกื้อกูลแก่การแสวงธรรมหาความรู้  ความก้าวหน้างอกงาม  และความเจริญโดยธรรม

        ๓. อัตตสัมมาปณิธิ  ตั้งตนไว้ถูกวิถี  คือ  ดำรงตนมั่นอยู่ในธรรมและทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  ตั้งเป้าหมายชีวิตและการงานให้ดีงามแน่ชัด  และนำตนไปถูกทางสู่จุดหมาย  แน่วแน่  มั่นคง  ไม่พร่าส่าย  ไม่ไถลเชือนแช

        ๔. ปุพเพกตปุญญตา  มีทุนดีได้เตรียมไว้  ทุนดีส่วนหนึ่ง  คือ  ความมีสติปัญญา  ความถนัด  และร่างกายดี  เป็นต้น  ที่เป็นพื้นมาแต่เดิม  และอีกส่วนหนึ่ง  คือ  อาศัยพื้นเดิมเท่าที่ตัวมีอยู่  รู้จักแก้ไขปรับปรุงตน  ศึกษาหาความรู้  สร้างเสริมคุณสมบัติ  ความดีงาม  ฝึกฝนความชำนิชำนาญ  เตรียมไว้ก่อนแต่ต้น  ซึ่งเมื่อมีเหตุต้องใช้ก็จะเป็นผู้พร้อมที่จะต้อนรับความสำเร็จ  สามารถสร้างสรรค์  ประโยชน์สุข  และก้าวสู่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

 

ข.หลักความสำเร็จ

ปฏิบัติตามหลักธรรม  ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งกิจการนั้นๆ  ที่เรียกว่า อิทธิบาท (ธรรมให้ถึงความสำเร็จ)  ซึ่งมี ๔ ข้อ คือ

        ๑. ฉันทะ  มีใจรัก  คือ  พอใจจะทำสิ่งนั้น  และทำด้วยใจรัก  ต้องการทำให้เป็นผลสำเร็จอย่างดีแห่งกิจหรืองานที่ทำ  มิใช่สักว่าทำพอให้เสร็จๆ หรือเพียงเพราะอยากได้รางวัลหรือผลกำไร

        ๒. วิริยะ  พากเพียรทำ  คือ  ขยันหมั่นประกอบ  หมั่นกระทำสิ่งนั้นด้วยาความพยายาม  เข้มแข็ง  อดทน  เอาธุระ  ไม่ทอดทิ้ง  ไม่ท้อถอย  ก้าวไปข้างหน้าจนกว่าจะสำเร็จ

        ๓. จิตตะ  เอาจิตฝักใฝ่  คือ ตั้งจิตรับในสิ่งที่ทำ  และทำสิ่งนั้นด้วยคามคิด  ไม่ปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย  ใช้ความคิดในเรื่องนั้นบ่อยๆ เสมอๆ ทำกิจหรืองานนั้นอย่างอุทิศตัวอุทิศใจ

        ๔. วิมังสา  ใช้ปัญญาสอบสวน  คือ  หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล  และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนเกินเลยบกพร่องขัดข้อง เป็นต้น  ในสิ่งที่ทำนั้น  โดยรู้จักทดลองวางแผน  วัดผล  คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง  เป็นต้น  เพื่อจัดการและดำเนินงานนั้นให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป

        ตัวอย่างเช่น  ผู้ทำงานทั่วๆ ไป อาจจำสั้นๆ ว่า สู้งาน ใส่ใจงาน และ ทำงานด้วยปัญญา

 

จาก หนังสือธรรมนูญชีวิต: พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)
หน้า ๓๙-๔๐

แค่นี้เราก็พอจะรู้แล้วนะครับว่าในพระไตรปิฎกนั้นมีอะไรมากกว่าที่เราคิด

 

ธรรมเพื่อธรรม
ธรรมาวุธ
หมายเลขบันทึก: 81773เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เข้ามาเป็นกำลังใจในการเขียนบทความครับ น้องชาย

พี่เม้ง

ขอบคุณครับพี่

ช่วยกันทำมาหากินดีจริงๆ

ร่วมเป็นกำลังใจและเป็นหน้าม้าให้

สู้เค้านะเพื่อน

55555

มาส่งเสียงในใจ เชียร์อีกคนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท