รางวัลของคนเป็นนาย


บันทึกนี้มีความรู้สึกดีๆ ที่อยากนำมาแบ่งปันครับ

เมื่อวานนี้ พนักงานจัดการทำบุญบริษัทครบรอบสิบสองปี คราวนี้เขาจัดทำพหุสื่อสำหรับดูกันเองภายในบริษัท เป็นหนังสั้นห้านาทีกว่า ไม่ยาว ไม่สั้นจนเกินไป บอกเล่าเรื่องราวชีวิตการงานของเขา ตลอดจนความรู้สึกหลากหลายด้าน

กลุ่มที่ทำพหุสื่อนี้ เมื่อสองปีก่อนผมเคย challenge ไว้ว่าจะเป็น production house ไหม วันนั้นมองตาเขาเห็นแต่เครื่องหมายคำถามกับความไม่แน่ใจ ส่วนวันนี้มีทั้งความมั่นใจ ความตั้งใจ และคุณภาพ; ทีมนี้เก่งด้วยตัวเอง เพียงแต่กระตุ้นให้กล้าคิดออกนอกกรอบเดิมๆ นิดหน่อย เขาก็เดินได้เอง

สี่ปีก่อน พนักงานจัดทำเอกสารบางอย่าง และพูดถึงนาย ว่าเป็นครู -- คำคำเดียว เล่นเอาปลื้มไปนาน พ่อ-แม่ก็ปลื้ม (เคยเขียนไว้ที่ไหนใน G2k ก็ไม่รู้ ว่าคำว่าครู-อาจารย์ มีความหมายพิเศษสำหรับผมเสมอ); วันนี้เค้าบอกว่านาย เป็นคนดี -- คนเรามีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี แต่หากสิ่งที่เราพยายามทำ มีคนสังเกตเห็นบ้าง ก็เป็นความรู้สึกที่วิเศษมาก; ถ้าตัวเรารู้สึกอย่างนี้ ลูกน้องก็มีรู้สึกเช่นเดียวกัน ดังนั้นคนเป็นนาย ควรจะเตือนตัวเองให้เห็นหัวคนอื่นบ้าง

การเป็นนายคน คือความรับผิดชอบ เมื่อมีลูกน้องแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่ามีคนฝากผีฝากไข้ไว้กับตัวเรา ความสำเร็จของหน่วยงาน เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคน

งานของนายจึงไม่ใช่เรื่องของตัวคนเดียวอีกต่อไป ความคิดของนาย กระทบต่อคนอื่นโดยนัยอันนี้ ตำแหน่งงานกับความเป็นนาย ไม่ใช่แค่ทางผ่าน

คนเป็นนาย มีอะไรที่ต้องทำอีกมากมาย นอกเหนือจากการสั่งการ

คุณภาพ-คุณค่าของคนเป็นนายนั้น มักจะวัดจากเรื่องที่ทำให้แก่คนอื่นเป็นหลัก เช่นความก้าวหน้าขององค์กร หน่วยงาน หรือลูกน้อง เมื่อไหร่ที่นายสนใจแต่เรื่องของตัวเอง นายนั้นก็หมดสภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นนายไปในทันที

แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือพนักงานของเราได้เติบโตเป็นคนที่มีค่า รู้จริง-รู้ลึก เผชิญความจริงอย่างกล้าหาญ ไม่หลอกตัวเอง กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และกลายเป็นคนที่มีค่าต่อสังคมรอบตัวเขา (ไม่ว่าเขาจะอยู่ในบริษัทต่อไปหรือไม่) หากเขาดีกว่าเรา เก่งกว่าเรา ก็จะยิ่งน่าภูมิใจ และงานของนาย ก็จะเรียกได้ว่าบรรลุเป้าหมายไปส่วนหนึ่ง

เมื่อคิดจะให้อะไรแล้ว ก็ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่คนรอบตัวดีกว่าครับ ให้ด้วยสาระ ไม่เน้นการให้ตามรูปแบบ เชื่อในคนของเราว่าใฝ่ดี-เรียนรู้ได้ และให้โอกาสได้พิสูจน์ตัวเอง ในการให้แบบนี้ ตัวเราไม่ได้เสียอะไรไป ในบริบทของการจัดการ หากลูกน้องดีขึ้น เก่งขึ้น องค์กรก็ได้ด้วย และหากเขาไปอยู่ที่อื่น และเป็นคนที่มีค่าสำหรับที่ทำงานแห่งใหม่ สังคมของเราก็จะดีขึ้น เก่งขึ้น องค์กรของเราก็ได้ เราก็ได้ด้วย

เรื่องของคนมีค่าใช้จ่ายตามรูปบัญชี แต่ควรจะคิดเหมือนเป็นการลงทุนครับ ไม่มีเหนื่อยฟรี เพียงแต่ผลตอบแทน ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเสมอไป

คำสำคัญ (Tags): #การบริหาร
หมายเลขบันทึก: 81477เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2007 01:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
งานของนายที่ยอกเหนือจากการบริหารองค์กรก็คงเป็นการเฝ้ามองการเติบโตของพนักงานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นลูกน้องนั่นเอง ... :)

เมื่อปีที่แล้ว ผมซื้อของขวัญให้วิศวกรซอฟต์แวร์คนหนึ่ง เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง อีกทั้งลักษณะของงานก็อาจจะทำให้เธอต้องเป็นคนลุยๆ อยู่สักหน่อย จนถูกตั้งคำถามเป็นประจำว่าเป็น ญ หรือเป็น ช (แซวกันเล่นระหว่างเพื่อนฝูง ซึ่งแม้จะไม่ถือสากัน ผมก็คิดว่าไม่สมควรเท่าไหร่)

ของขวัญนี้เป็น รางวัลจากการจับสลากของขวัญจากผู้บริหารที่ให้แก่พนักงาน ถ้าคิดว่าเป็นการร่วมสนุกกัน ก็คงไม่มีอะไร แต่ว่าผมเป็นคนคิดมาก (ออกแนวประสาท เล็กน้อย) หากให้ของขวัญไปโดยที่ไม่รู้ว่าผู้โชคดีจะใช้ได้หรือเปล่า มันก็อาจเป็นเพียงการทำให้จบๆ ไปเป็นเรื่องๆ โดยไม่ได้ใส่ใจมากนัก

ดังนั้นหลายปีที่ผ่านมา เวลาใครจับสลากได้ของผม จึงต้องมารับรางวัลภายหลัง ซึ่งหลังจากรู้ว่าเป็นใครแล้ว ก็จะไปหาซื้อของที่คิดว่าเหมาะกับเขา คือทุกอย่างตั้งใจเลือกให้จริงๆ

สำหรับรายนี้ ซื้อตุ๊กตาหมาสีชมพู จากจมูกถึงก้นยาวสัก สองฟุต และซื้อให้สองตัวด้วย ตั้งใจว่าตัวหนึ่งให้เอากลับไปเลี้ยงที่บ้าน อีกตัวหนึ่งเก็บไว้ที่บริษัทเผื่อว่าภาพลักษณ์จะ soft ลงบ้าง จะได้เลิกแซวกันเสียที เมื่อให้ไปแล้ว จะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องที่เธอจะตัดสินใจเองครับ

งานนี้ ดูจากสีหน้าและประกายตาเวลาที่มอบของขวัญให้ไป ก็รู้แล้วว่าเลือกไม่ผิด แล้วรู้แน่ว่าเป็น ญ ส่วนบุคลิกที่ไม่ใช่คุณหนู ก็ไม่ใช่ความผิด เป็นแต่เพียงความแตกต่างที่เธอเลือกเองเช่นกัน

นอกจากจะเฝ้าติดตามการเติบโตของลูกน้องแต่ละคนแล้ว คนเป็นนาย ก็ต้องพยายามอ่านคนให้ออกครับ เพื่อที่จะได้วางแผนการพัฒนาศักยภาพได้อย่างถูกต้อง หากไม่รู้จักลูกน้อง ก็อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นนายเลยครับ

น่ารักดีจังค่ะ นายแบบนี้

 อยากเห็นหมาสีชมพู 2 ตัว

น้องคนได้คงมีความสุข

อย่างที่เคยเขียนไว้อะค่ะ อยากกลับไปมีวิถีชีวิตลูกน้องบ้างแล้วเนี่ย แฮะๆ
  • อยากให้คนเป็นนายได้อ่านค่ะ
  • คนเป็นนาย มีอะไรที่ต้องทำอีกมากมาย นอกเหนือจากการสั่งการ

ชอบมากๆ

อิจฉาๆๆๆๆๆๆ

อยากมีนายอย่างนี้...ว้า....กบเลือกนายไหมนี่

ผมคิดว่าความเป็นนาย(ที่ดี) กับความเป็นลูกน้อง(ที่ดี) มีความสัมพันธ์กัน และอาจจะเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันด้วยซ้ำไปครับ

คงไม่มีใครที่ตั้งใจจะเป็นคนไม่ดีหรอก ด้วยมโนคติ ทุกคนน่าจะตัดสินได้อยู่แล้วว่าอะไรดีหรือไม่ดี -- คนทำงาน ถ้าเผลอนิดเดียว คนดีก็จะหลงออกนอกลู่นอกทางได้ง่าย เพราะว่าสิ่งยั่วยุ เช่นความสบาย ความมักง่าย ความขี้เกียจ ความเหนื่อย  ความท้อแท้ "รางวัล"ที่ผิด "สัญญาณ"ที่ผิด ค่านิยมที่ผิด ฯลฯ ทำให้ชีวิตดูง่าย ไม่ต้องฝ่าฟัน (และไม่เป็นจริง)

การเป็นคนดีนั้น มีรางวัลอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่การยอมรับจากคนรอบข้าง การสร้างแรงจูงใจในทางบวก เช่นการยอมรับ การยกย่องชื่นชม ก็จะช่วยย้ำให้การกระทำดีนั้น หนักแน่นขึ้น -- ในทฤษฎีแรงกระตุ้นในมนุษย์ของมาสโลว์ (ซึ่งบางทีเรามักได้ยินแต่ Maslow's hierarchy of needs) ในระดับสูงสุด คือคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์ ตามความเห็นของผม

หากทำสิ่งที่คิดว่าดีไปสักพัก แล้วคนรอบข้างเฉยๆ เหมือนไม่มีอะัไรเกิดขึ้น บางคนท้อถอย บางคนเลิกทำ บางคนโกรธเกรี้ยวกล่าวโทษต่อคนรอบข้างว่าโง่ -- ผมเชื่อว่าไม่ต้องให้ใครมาบอกว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีหรือไม่ดี (ถ้าแม้แต่เราก็ไม่รู้ ก็คงไม่ทำหรอกครับ) แต่ถ้าคนอื่นไม่เห็น บางทีสิ่งที่เราคิดว่าดีนั้น อาจจะยังดีไม่พอ อาจจะยังทำให้ดีกว่านั้นได้อีก อาจจะไม่ตรงประเด็น อาจจะไม่มีแนวร่วมเพื่อสร้างเป็นกำลังอันกล้าแข็งเพื่อที่ผลลัพท์ที่ดีขึ้น

หากคิดเสียได้อย่างนี้ สิ่งที่เราทำ ก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ปรับปรุงได้เรื่อยๆ และสังคมรอบข้าง ก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

แต่เมื่อทำสิ่งที่คิดว่าดีแล้ว สังคมรอบข้างตอบรับในทางที่ดี ก็จะสร้างแรงจูงใจในทางบวก ทำให้สิ่งที่ทำนั้น กลายเป็นค่านิยมของสังคมที่เราอยู่ -- ความเป็นนายและความเป็นลูกน้องนั้น แตกต่างกันที่บทบาท/หน้าที่ของการงาน ไม่ใช่ที่ความเป็นคน ดังนั้นคนเราจะเลือกปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่น่าจะ้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนายหรือไม่

กัลยาณมิตรช่วย เราได้อย่างไร กรณีนี้ก็เป็นคล้ายๆ กันครับ -- นายดีมีส่วนมาจากลูกน้องดี (แต่เนื้อแท้ของตัวก็ต้องดีด้วย) จึงยินดีทุ่มเทให้ได้อย่างเต็มที่ ลูกน้องดีอาจมีส่วนจากนายดี (แต่เนื้อแท้ของตัวก็ต้องดีด้วย) ต่างฝ่ายต่างส่งเสริมกันและกัน ในที่สุดก็จะปรากฏเป็นองค์กรที่ดี; นายดีลูกน้องไม่ดี นายก็จะย้ายไปอยู่กับองค์กรอื่นที่เห็นค่าของเขา; ลูกน้องดีนายไม่ดี นายนำหน่วยงานเดินสู่ป่าช้า

สำหรับรูปหมาสีชมพู ขอติดไว้ก่อนครับ ครอกนี้มีสี่ตัว ไปซื้อมาสองครั้ง; ครั้งแรกซื้อมาสองตัวเป็นรางวัลจับสลาก พอมอบรางวัล ผู้ช่วยเห็นบอกอยากได้บ้าง ก็เลยไปซื้อมาให้ ส่วนอีกตัวหนึ่ง ฝากคุณพ่อเลี้ยงไว้ ได้ข่าวว่าตลอดปีที่ผ่านมา ไม่โตขึ้นเลย

ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะนายนายทั้งหลายช่วยกันหล่อหลอมจริงๆ

นายคนแรกมักจะถามอยู่เสมอว่าเมื่อไหร่จะเก่ง

นายคนที่สองพูดด้วยไม่มากนักเพราะท่านเป็นชาวออสเตรเลียแต่ทุกครั้งที่คุยก็รู้สึกเสมอว่าท่านคงอยากถามว่าเมื่อไหร่จะเก่งเช่นกัน

นายในระดับใกล้ชิดคนปัจจุบันมีสไตล์ตบหัวลูบหลัง สอนบ้างติบ้างชมบ้าง แต่เป็นแรงกระตุ้นชั้นดี โดยสิ่งที่ได้จากนายผู้นี้คือ การทำงานเสร็จก็ดีแต่ที่ดีที่สุดคือการทำให้สำเร็จ 

เข้ามาช้าไปหน่อยครับ เพราะช่วงนี้และที่ผ่านมายุ่งๆอยู่ครับ
ขอบคุณมากๆ ครับ สำหรับบทความที่ผมคิดว่าเป็นข้อเตือนใจสำหรับผม ด้วยความที่เราสนใจแต่งานบางครั้งเลยลืมนึกถึงคนไป

เรียนเชิญอ่านข้อคิดเห็นตรงนี้ด้วยครับ เป็นข้อคิดเห็นอันหนึ่งภายใต้บันทึก ผู้บริหาร "คนนอก"

ภาพมาแล้วครับ แต่ผมต้องขอโทษที่จำผิดไป คือว่าตุ๊กตาหมาล๊อตแรกที่ซื้อมาครั้งแรกเป็นรางวัลจับสลากนั้น สีชมพูกับสีเขียวครับ

ส่วนที่ไปซื้อมาล๊อตหลัง จึงเลือกสีชมพูทั้งสองตัว: ตัวหนึ่งผู้ช่วยเอาไป อีกตัวหนึ่งฝากคุณพ่อเลี้ยงไว้

สำหรับเป็ด ผมไม่รู้จักครับ

เจ้าของเขียนท้ายบันทึกเรื่องเกี่ยวกับทางเลือกไว้ว่า ps. นำแสดงโดยตุ๊กตาสามตัวที่ได้มาโดยสมัครใจของผู้ให้ อาจจะมอมแมมเพราะก็ต้องเลือกเช่นกันว่าจะเก็บให้ดูสะอาดหรือจะวางไว้ในมุม ที่มองเห็นเพื่อระลึกถึง :)

วันนี้ได้ของขวัญมาจากพนักงานอันหนึ่งครับ เป็นหมอนพร้อมคำอธิบายวิธีใช้งาน

หมอน

คุณสมบัติ: ใช้สำหรับหนุนนอน
คำเตือน: ใช้เพื่อการพักผ่อน ควรพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท