"พลังแห่งปัญญา ตลาดนัดความรู้สู่ชุมชนเป็นสุข":อานิสงส์ของการเหลียวหลัง (I)


มีใจ ชอบทำงานกับชุมชน ใฝ่รู้ อดทน อดกลั้น เปิดใจ อยากเรียนรู้เรื่อง KM (คิดว่าอันนี้สำคัญ เพราะเป็นจุดร่วมทำให้เราได้มาเรียนรู้กันได้อย่างราบรื่น) มีความสนใจทำ Training Service (สิ่งนี้ก็เพื่อให้ภาคีมีความยั่งยืนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต) ต้องสามารถทำงานแบบ “เกาะติด” ได้ (ส่วนนี้เป็นจุดเด่นของ สรส. เพราะเราพบว่าแค่หมู่บ้านเดียวทำทุกเรื่อง ให้คนเรียนรู้พัฒนาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย)

จาก AAR สู่ BAR
(from After Action Review  to Before Action Review)
“อานิสงส์ของการเหลียวหลัง สู่พลังของการแลหน้า”
เพื่อมุ่งไปสู่การจัดงาน
"พลังแห่งปัญญา ตลาดนัดความรู้สู่ชุมชนเป็นสุข"

โดย สมโภชน์ นาคกล่อม 


ตอนที่ ๑  “อานิสงส์ของการเหลียวหลัง”

                เพิ่งได้ยินคำว่า BAR ครั้งแรก จากอีเมล์ของน้องอุ (อุไรวรรณ เทิดบารมี สคส.) ที่รบกวนให้ช่วยเล่าเรื่องราวการไปพูดคุยกันของทีม สรส. (สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) ที่ทรัพย์ไพรวัลย์รีสอร์ท อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ ๕-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ โดยมีเป้าหมาย ๒ อย่างคือ เพื่อถอดบทเรียนการทำงาน (AAR) และเพื่อวางแผน (BAR) จัดตลาดนัดความรู้ท้องถิ่น ในวันที่ ๒๑-๒๓ เมษายน ๒๕๕๐

              ในใจตอนแรกคิดว่าน้องอุคงจะเขียนมาผิด แต่พอได้อ่านรายละเอียดจึงได้รู้ว่า BAR น่าจะเป็น การเรียนรู้ก่อนทำ (Learn before) อย่างหนึ่งเหมือนกัน  แล้วงาน ๒ อย่างของสรส.ที่พูดคุยกันใน ๔ วันนี้ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร ระหว่าง AAR และ BAR จะได้เล่าให้ฟัง
 
             สาเหตุที่เลือกเจอกัน ณ เมืองพระพิษณุโลกสองแคว (ชื่อโบราณตามกระแสสมเด็จพระนเรศวรที่กำลังมาแรง) เพราะว่าเป็นกึ่งกลางระหว่างทางพอดี สำหรับผู้ที่มาจากภาคเหนือ (เชียงใหม่ และลำพูน) และผู้ที่มาจากภาคกลาง (ทีม สรส.ซึ่งอยู่กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี อ่างทอง และทีมแม่กลอง สมุทรสงคราม)
 
             จะขอพูดถึงการถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาของ สรส.ก่อน  จากนั้นจะเล่าว่าการจัดตลาดนัดสรส.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นการเตรียมตัว (preview) ก่อนที่ห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๙ นั้น พวกเราได้บทเรียนอย่างไร และนำไปสู่การเตรียมตัวจัดตลาดนัดของจริงในเดือนเมษายน ๒๕๕๐ ที่จะถึงนี้ได้อย่างไร

               การถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ทำให้ภาคีของเราซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด หลักการ และเครื่องมือของ สรส.ในแต่ละเวลาและโอกาสที่แตกต่างกันมาก ได้ความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การสร้างสังคมฐานความรู้ระดับหมู่บ้าน ตำบล (โมเดลประเทศ) และการจัดตลาดนัดความรู้

                พวกเราเริ่มต้นการถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ โดยพี่ทรงพล (ทรงพล เจตนาวณิชย์) ได้ “เติมเต็ม” แนวคิด หลักการ ให้กับพวกเราก่อน   สรส. ถือโอกาสที่ภาคีอยู่กันพร้อมเพรียงนี้เป็นเวทีพัฒนาศักยภาพพวกเรากันเองด้วย  อย่างน้อยวันนี้พวกเราก็ได้ “กรอบในการสังเคราะห์” งานที่พวกเราต่างแยกย้ายกันไปทำ ณ ที่ต่างๆ กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ  ซึ่งนี่จะเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญของ สรส. เป็นความรู้ที่เกิดจากการทำงานจริง  ลองมาดูกรอบดังกล่าว พร้อมรายละเอียดที่พวกเราได้ลองถอดกัน ตามเวลาที่เอื้ออำนวยกันดู เริ่มตั้งแต่

                   การเลือกภาคีในพื้นที่ (node)

                  พี่ทรงพล ได้เล่าให้ฟังว่ามีเกณฑ์เหมือนกัน กล่าวคือ ภาคีหรือผู้ประสานงานในพื้นที่ ควรจะมีคุณสมบัติ ได้แก่ มีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากเห็น  “ชุมชนเข้มแข็ง”  มีฐานงาน มีพื้นที่ มีคน มีประสบการณ์ทำงานด้านชุมชน  มี Know how เช่น  “งานวิจัยท้องถิ่น”  ที่สามารถต่อยอดได้ (มิน่าล่ะภาคีของ สรส. จึงเป็นที่รวมโหนดวิจัยท้องถิ่นอย่างน้อย ๓ โหนด คือ สกว.แม่โจ้  สถาบันวิจัยหริภุญชัย และศูนย์ประสานงานแม่กลอง)  มีใจ ชอบทำงานกับชุมชน ใฝ่รู้ อดทน อดกลั้น เปิดใจ  อยากเรียนรู้เรื่อง KM (คิดว่าอันนี้สำคัญ เพราะเป็นจุดร่วมทำให้เราได้มาเรียนรู้กันได้อย่างราบรื่น)  มีความสนใจทำ Training  Service (สิ่งนี้ก็เพื่อให้ภาคีมีความยั่งยืนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต)  ต้องสามารถทำงานแบบ “เกาะติด” ได้ (ส่วนนี้เป็นจุดเด่นของ สรส. เพราะเราพบว่าแค่หมู่บ้านเดียวทำทุกเรื่อง ให้คนเรียนรู้พัฒนาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย)
 

                  พี่ทรงพล “หงายไพ่ เปิดใจ” ไปแล้ว ถึงคราวภาคีสะท้อนผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากการทำงานให้ฟังบ้าง ทำให้พวกเราได้ทราบว่า KM เข้าไปมีประโยชน์แก่ภาคีอย่างไร

                 อันดับแรก คือ ทำให้คิดงานมีตัวชี้วัดมากขึ้น  มีการจัดการมากขึ้น  เห็นวิธีการยกระดับงานวิจัยท้องถิ่น  (ข้อนี้น่าจะขยายความให้เห็นรายละเอียดมากขึ้นในโอกาสต่อไป เพราะคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบว่า KM เข้าไปแล้วทำให้งานเดิมดีขึ้น ยกระดับขึ้นอย่างไร) ทำให้ต้องเห็นภาพรวมมากขึ้น ถอยออกมาดูมากขึ้น  มีการให้ทีมงานถอดความรู้ ถอดบทเรียนมากขึ้น   การตั้งคำถามเพื่อถอดบทเรียนได้ดีขึ้น  ตีความได้มากขึ้น  ลึกขึ้น  เข้าไปอยู่ในใจของชาวบ้าน  เกิดการพัฒนาโครงการวิจัยแบบใหม่  ถูกมหาวิทยาลัยเรียกใช้เรื่อง KM มากขึ้น   เห็นทิศทางเชิงบูรณาการมหาวิทยาลัย นักศึกษา และชุมชนมากขึ้น  ได้ความรู้ในการจัดตลาดนัดความรู้  และการออกแบบการเรียนรู้มากขึ้น   เข้ามวยเป็นขึ้น  เข้าไปคลุกกับผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านมากขึ้น  มีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชนมากขึ้น   มีทักษะการพูด การคิด การมองลึก ตั้งคำถาม ชวนคุย ชวนพูด  รวมทั้งการเขียน  การบันทึก เรื่องเล่า ดีขึ้น  เอามิติธรรมไปใช้กับตัวเอง กับชุมชน มากขึ้น  แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่งขึ้น  ทำลายความกลัวของตัวเอง มั่นใจในตัวเองมากขึ้น ฯลฯ

(สาระยังไม่หมดเพียงเท่านี้.... ติดตามอ่านต่อได้ในบันทึกถัดๆ ไปนะค่ะ)

หมายเลขบันทึก: 81397เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท