"เรตติ้ง"ขจัดสื่อร้ายสร้างสรรค์สังคมไทย


ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา 3 ประการ คือ "ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน"

สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีสื่อที่สร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์สังคมไทยขึ้น เป็นกลไกในการดำเนินการ คณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติเร่งรัดการส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย โดยมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา 3 ประการ คือ "ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน" เพื่อเพิ่มสื่อสร้างสรรค์ทั้งคุณภาพและปริมาณ รวมทั้งเร่งรัดฟื้นฟูพื้นที่ "วัด บ้าน โรงเรียน" ให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคม ตลอดจนเห็นชอบในหลักการให้มีมาตรการป้องกัน โดยการจัดประเภทความเหมาะสมของสื่อ(Rating) ที่จะเผยแพร่ในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ที่กำลังพิจารณาให้มีผลบังคับใช้

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ท่ามกลางความคลุมเครือด้านมาตรฐานของเนื้อหาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนไทยโดยเฉพาะวัยรุ่นไทย คงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือในการมองหาวิธีการกลั่นกรอง "สาร" ก่อนส่งผ่านทางสื่อไปถึงผู้รับ การจัดเรตติ้ง หรือการจัดระดับเนื้อหาของสื่อแต่ละประเภทให้สอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้บริโภค ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกได้มีการนำมาใช้กลั่นกรองเนื้อหา และแบ่งให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละเพศแต่ละวัย แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้มาตรฐานการจัดลำดับ วิธีการที่ถูกนำมาใช้กลั่นกรองเนื้อหาของสื่อวันนี้ คือการตรวจเซ็นเซอร์ "อนุญาต" หรือ "ไม่อนุญาต" เท่านั้น

ความหลากหลายของสื่อที่มีอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการร่างมาตรฐานที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สื่อจากโลกไซเบอร์ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ คงมีเพียงผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสื่อคือผู้ที่จะสามารถสร้างค่าวัดหรือตัวกลั่นกรองขึ้นมาได้ การนำระบบเรตติ้งมาใช้ในการบริหารจัดการสื่อสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น และสร้างมาตรฐานที่ชอบธรรมให้เกิดกับทุกฝ่าย ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่นำพาสังคมไปในทิศทางที่เหมาะสม โดยมีเจ้าภาพซึ่งหมายถึง วธ. และกระทรวงอื่นๆ ในฐานะขององค์กรภาครัฐ อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อเปิดพื้นที่เชิญชวนทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงประชาชนชาวไทยทั้งประเทศมาร่วมกันคิดเพื่อกำหนดแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้น การร่วมมือร่วมใจของนายทุนผู้เป็นเจ้าของสื่อ บุคลากรด้านสื่อ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อและวัฒนธรรม คือหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากลูกค้าซึ่งเป็นเยาวชนและวัยรุ่นในวันนี้ไม่ถูกสื่อมอมเมาจนขาดซึ่งเสถียรภาพของการดำรงชีวิตแล้ว ในอนาคตโลกธุรกิจของสื่อจะยังคงมีลูกค้าที่เปี่ยมด้วยคุณภาพไว้มากมาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา กลุ่มนักวิชาการ คนในแวดวงภาพยนตร์ ได้นำเรื่องนี้ไปจัดประชุมสัมมนาในหัวข้อ "จากเรตติ้งถึงกองทุนคนทำหนัง : บนเส้นทางสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย" เพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำเรตติ้งของสื่อภาพยนตร์ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ และการส่งเสริมกิจการภาพยนตร์ และร่วมกันกำหนดมาตรการและมาตรฐานการจัดประเภทความเหมาะสมของสื่อ(Rating) ให้มีความเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับวัยวุฒิและวุฒิภาวะของผู้บริโภคและสอดคล้องกับบริบทสังคมไทย รวมถึงการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ และการส่งเสริมกิจการภาพยนตร์ ให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เห็นว่า การจัดเรตติ้งหนังส่งผลกับสังคมไทยอย่างแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่าในสังคมไทยอยู่กันหลากหลายมาก ไม่ได้มีเฉพาะคนที่แข็งแรง หรือมีความสามารถที่จะใช้วิจารณญาณได้ตลอดเวลา ฉะนั้น การจัดเรตติ้งเป็นแบบหนึ่งที่จะทำให้เกิดการคัดเลือก หรือการพิจารณาว่าหนังประเภทไหนเหมาะสมกับคนกลุ่มไหน เป็นเครื่องมือที่คนในสังคมมาเรียนรู้ร่วมกันว่าหนังบางประเภทมีลักษณะเฉพาะกับคนบางกลุ่ม และหนังบางประเภทสามารถดูร่วมกันได้

ขณะที่นายประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ มองว่า เรื่องการจัดเรตติ้งหนังพูดกันมาช้านานมากแล้วในประเทศไทย ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ประสบความสำเร็จสักที ทั้งๆ ที่ได้ถามจากคนหลายกลุ่มมาก ทั้งคนทำหนังเอง คนดูหนัง ตำรวจ และฝ่ายเซ็นเซอร์เอง เขาก็เห็นด้วยว่าการจัดตามอายุ การแบ่งตามอายุคนดูน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการแบ่งอายุคนดูเป็นวิธีการเซ็นเซอร์ที่ดีที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วมันพิสูจน์ออกมาแล้วจากเมืองนอก ในประเทศที่เจริญแล้วในทางวัฒนธรรมก็จะเห็นว่าเขาใช้ระบบการแบ่งอายุคนดูกันแล้ว

ฟากนักวิชาการ อย่างนายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า ผลการวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการดูหนัง ดูโทรทัศน์ของเด็ก พบว่าเด็กใช้เวลาวันละ 6-7 ชั่วโมง ในการเสพสื่อเหล่านี้ ถ้ามีการทำเรตติ้งแยกประเภทสื่อบางประเภทที่มีเนื้อหาแบบผู้ใหญ่ เด็กบริโภคไปแล้วอาจจะไม่ค่อยดี ก็บอกกล่าวเป็นข้อมูลผู้บริโภคไว้ให้พ่อแม่ทราบ สื่อประเภทเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีก็บอกไว้ให้ทราบ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี

ท้ายที่สุดนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ในฐานะอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี วธ. เสนอแนะว่าการจัดประเภทความเหมาะสมของสื่อ โดยการกำหนดกฎหมายและนโยบายรองรับการปฏิบัติ เพื่อกำหนดประเภทความเหมาะสมของสื่อภาพยนตร์ การมีคณะบุคคลหรือองค์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม กำกับหรือควบคุม การผลิต การเผยแพร่ และผู้รับบริการ เป็นคณะเจ้าภาพร่วมดำเนินการ โดยมี วธ.เป็นองค์กรเจ้าภาพในการประสานงานการดำเนินงาน การกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน การกำหนดระบบงานและการบริหารจัดการ นอกจากนี้ควรมีการเตรียมการดำเนินงานไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อให้สามารถรองรับการส่งเสริม การกำกับหรือควบคุม งานด้านภาพยนตร์ที่เป็นระบบในภาพรวม โดยอาจมีแนวทางการดำเนินงานด้วยการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่จะรองรับการดำเนินงาน การจัดทำแผนแม่บทในการส่งเสริมและสนับสนุน การกำกับหรือควบคุมอย่างเหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการสนับสนุน เช่น การสนับสนุนด้านงบประมาณ การให้สิทธิทางภาษี การส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ รวมทั้งการขยายผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.2550 เพื่อให้ครอบคลุมการจัดประเภทสื่ออื่ๆ ได้แก่ การโฆษณา สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และจัดประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ที่มิใช่ข่าวในปี พ.ศ.2551

ผลการระดมความคิดเห็นครั้งนี้จะมีการสังเคราะห์ผล และแสวงหาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด ก่อนเสนอเป็นกฎหมายออกมาใช้ต่อไป

ตัวอย่างการจัดเรตติ้งในต่างประเทศ

อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา

U-ทั่วไป TV-Y เด็กทั่วไป P-เด็กก่อนวัยเรียน C-เด็กเล็ก

Uc-ทั่วไป+เด็ก TV-Y๗-เด็กอายุ ๗ ปีขึ้นไป C-เด็กเล็ก ๘+>-เด็กแปดขวบและมากกว่า

PG-ผู้ใหญ่ดูร่วมและให้คำแนะนำกับเด็กในการรับชม TV-G-ทั่วไป G-ทั่วไป G-ผู้ชมทั่วไป

๑๕-ผู้ชมอายุ ๑๕ ขึ้นไป TV-PG-ผู้ใหญ่ดูร่วมและให้คำแนะนำแก่เด็กในการรับชม PG-ผู้ใหญ่ดูร่วมและให้คำแนะนำกับเด็กในการรับชม PG-ผู้ใหญ่ดูร่วมและให้คำแนะนำกับเด็กในการรับชม

๑๘-ผู้ชมอายุ ๑๘ ขึ้นไป TV-๑๔-ผู้ชมอายุ ๑๔ ขึ้นไป M-ผู้ชมอายุ ๑๕ ขึ้นไป ๑๔+>ผู้ชมอายุ ๑๔ ปีขึ้นไป

R-ผู้ชมอายุ ๑๘ ขึ้นไปและฉายในที่เฉพาะ TV-M-ผู้ชมอายุ ๑๗ ปีขึ้นไป MA-ผู้ชมอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปและมีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรงและภาษาที่หยาบคายกว่า M ๑๘+>ผู้ชมอายุ ๑๘ ปีและมากกว่า

AV-ผู้ชมอายุ ๑๕ ขึ้นไป แต่มีความรุนแรงชัดเจน

แหล่งที่มา มติชนรายวัน   ฉบับที่ 10164 [หน้าที่ 7 ] ประจำวันที่ 7 มกราคม 2549 

หมายเลขบันทึก: 81392เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น่าสนใจมากเลยค่ะ เพื่อสังคมไทยที่ดีขึ้นค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท