โต้เกียร์ว่าง-รัฐมนตรีไม่ใช่พระเอก


(คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษลงในหนังสือพิมพ์ ข่าวสด หน้าที่ 9 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550)

            เข้ารับตำแหน่งมากว่า 5 เดือน พบปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง

            ผมไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่การทำงาน คือ การเผชิญปัญหา เป็นเรื่องธรรมดา ผมมองการทำงานเป็นการทำภารกิจมากกว่า และมองชีวิตไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการทำภารกิจ วิธีคิดของผมจะมองทุกอย่างเป็นทางบวก มองแบบสร้างสรรค์ เดินหน้า มองแบบคนทำงาน ไม่ได้มองว่าอะไรเป็นปัญหาขัดข้อง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะชีวิตต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ 

            โครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นเรื่องใหญ่ ปัญหามาก จะเร่งแก้ไขอย่างไร 

            ปัญหาบ้านเอื้ออาทรเป็นปัญหาสะสมที่ต้องจัดการ ผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ คณะกรรมการการเคหะฯ และคณะกรรมการติดตามประเมินผลดูแลอยู่ ผมก็คอยกำกับดูแลอยู่ วิธีการทำงานของผมจะไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่จะเอาภารกิจเป็นศูนย์กลาง พยายามสร้างพลังของคนที่ทำงาน ให้ทำหน้าที่ได้ดี ผมจะให้กำลังใจให้ข้อคิดเห็น คอยติดตาม ร่วมคิดร่วมทำไปด้วย เป็นพาร์ตเนอร์ชิพรวมพลังกัน

            ปัญหาการทุจริตซับซ้อน รัฐมนตรีน่าจะลงไปแก้ในระดับปฏิบัติมากกว่านี้

            ทุกส่วนมีความสำคัญเป็นแนวหน้าหมด ทั้งผู้บริหาร คณะกรรมการการเคหะฯ ได้คิดวิเคราะห์ประเมินปัญหาจนตกผลึก ผมตั้งผู้ว่าการฯ ผู้บริหาร คณะกรรมการ ขึ้นมาทำงาน ก็ต้องให้เวลาเขาทำงาน คนทำงานก็เหมือนกองทัพ ผมเป็นผู้บัญชาการสูงสุดก็คอยดูสนับสนุน ไม่ใช่ลงไปลุยเอง ตอนนี้เขาก็มีแผนปฏิบัติการทำงานแล้ว คนที่ทำงานก็ไม่ได้มาเรียกร้อง หรือบ่นว่าผมไม่ไปช่วย เราพูดคุยกัน ผมช่วยเขาตลอด เขาก็พอใจวิธีทำงานของผม 

            เราทำงานแบบให้เกียรติ เกื้อกูลกัน เสริมสร้างพลังซึ่งกันและกัน ไม่ใช่รัฐมนตรีเป็นพระเอกเด่นอยู่คนเดียว คนอื่นเป็นพระรอง ไม่ใช่สไตล์การทำงานของผม ผมพยายามให้คนอื่นเป็นพระเอก ส่วนผมเป็นผู้ช่วย ผมอาจจะเป็นนายวง ไม่ต้องไปร้องรำ แต่ให้คนอื่นเป็นพระเอก เพราะผมเป็นผู้บริหาร ทำงานบริหารมาเยอะ ต้องทำงานแบบผู้บริหาร ไม่ใช่ทำงานแบบทหารเอก

            ปัญหาบ้านเอื้ออาทรจะคลี่คลายอย่างไร 

            บ้านเอื้ออาทรเราต้องรับมรดกมา คล้ายสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เร่งมากและคาดว่ามีทุจริตด้วย ก็เกิดปัญหา ต้องจัดการแต่ไม่ใช่ออกมาโวยวาย ปิดสนามบิน เกินเหตุ ที่ยังพอเปิดได้ก็เปิด เหมือนบ้านเอื้ออาทร อะไรที่ปรับแก้ ชะลอ หรือต้องเจรจาก็ว่ากันไป ต้องควบคุมความเสียหายให้ได้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เกิดแล้ว การเคหะฯ ไม่ใช่มีแต่เรื่องบ้านเอื้ออาทร ต้องคิดไปข้างหน้า มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ผมช่วยได้และคิดไปด้วยกัน ระดับปฏิบัติเขาจัดการ มีคณะกรรมการลงไปช่วยจำนวนมาก รวมถึงนายขวัญสรวง อติโพธิ น้องชายนายแก้วสรร อติโพธิ

            มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูบ้านเอื้ออาทรเป็นพิเศษ แบ่งเป็นกลุ่มดูแล เช่น กลุ่มมีปัญหามาก กลุ่มมีปัญหาน้อย กลุ่มไม่มีปัญหา และกำลังทาบทามผู้อาวุโสด้านกฎหมายเข้ามาช่วย ในฐานะผู้บริหารก็พยายามสร้างเครื่องมือในการทำงาน เหมือนกัปตันเรือ จะไปวิ่งโร่ดูเครื่อง ยกธงไม่ได้ ต้องบริหารอยู่ตรงกลาง ดูแลให้มีกลุ่มคนทำงาน หน้าที่หลักผู้บริหาร คือ คิดเชิงวิสัยทัศน์ 

            ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใส่เกียร์ว่าง ผลงานไม่โดดเด่น

            ผมก็รับฟัง เท่าที่ทราบก็มีคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) จัดผมเป็นกลุ่มไม่สะดุดตา และนายแก้วสรร เท่านั้น ความจริงแล้วผมเป็นคนทำงานเชิงลึก คิดเชิงยุทธศาสตร์ พยามยามขับเคลื่อนกลไกให้เดินดีขึ้น

            บางปัญหารัฐมนตรีต้องลงไปทำมากกว่าเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายจะเป็นปัญหาหรือไม่ 

            วันนี้เรากำลังขับเคลื่อนสู่ยุทธศาสตร์สังคมดีงามอยู่เย็นเป็นสุข มี 3 ยุทธศาสตร์ คือ สังคมไม่ทอดทิ้งกัน สังคมคุณธรรม และสังคมเข้มแข็ง และทำงานใน 3 บริบท คือ เชิงพื้นที่ เป้าหมาย และเชิงประเด็น โดยเชิงพื้นที่จะเคลื่อนไปโดยใช้กลไกการจัดการร่วมกัน รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ เน้นลงไปสู่ระดับตำบล เทศบาล จังหวัด ส่งเสริมให้มีการรวมตัวทุกฝ่ายทั้งราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน มีคณะทำงานที่จังหวัด การหนุนเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 

            ขณะนี้การทำงานเชิงพื้นที่ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จนน.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ใช้คำว่า เป็นการปฏิวัติเงียบ และเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ที่ผ่านมาเราเน้นการทำงานตามหน้าที่ เอาภารกิจหน่วยงานเป็นตัวตั้ง ลงเป็นสายดิน แต่ตอนนี้เน้นการทำงานเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งให้ประชาชน ให้เครื่องมือกับประชาชน 

            ช่วง 5 เดือนนี้ เรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลง มีดีกรีเข้มขึ้นขึ้น มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ มีการประสานความร่วมมือในกระทรวงเดียวกัน และยังประสานกับกระทรวง หน่วยงานอื่นๆ มีการสร้างกลไกการทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งจะไปได้กว้าง และให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญ 

            มีการใช้ 3 พลัง คือ พลังความรู้ พลังสังคม และนโยบาย ร่วมกับ 2 เครื่องมือ คือ การสื่อสาร และการจัดการ ประสานกับ 3 ยุทธศาสตร์ และพลังประชาชน ยอมรับว่าที่เรายังทำได้ไม่เต็มที่นัก คือ การสื่อสาร เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้การมองจากสังคมยังเห็นไม่เต็มที่ การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนจะเป็นคนตัดสินใจ ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือ 

            เราต้องทำเชิงพื้นที่ระดับต้น จากนั้นจึงทำงานในบริบทกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ สตรี ผู้ด้อยโอกาส เราต้องส่งเสริมเครือข่ายแต่ละกลุ่มเป้าหมาย สร้างพลังให้ทำงานได้ และเชิงประเด็น จะมีการหยิบประเด็นสำคัญๆ เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจนโดยขบวนชุมชน การพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบ้านเอื้ออาทร จากนี้จะเน้นสร้างคน จากเดิมเน้นสร้างบ้าน ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือ ต้องมาสร้างให้คนพร้อมมีที่อยู่อาศัย ให้คนมีบ้านมีชีวิตที่พอเพียง การป้องกันและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับภัยพิบัติ การสนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ความขัดแย้งที่มาบตาพุด แม่เมาะ เป็นต้น และเร่งออกกฎหมาย 

            ถูกวิจารณ์ว่าใส่เกียร์ว่าง ทั้งที่ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว 

            การถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา เทียบกับคนอื่นแล้วเบาบางมาก คนยิ่งมีตำแหน่งสูงยิ่งต้องถูกวิจารณ์ มีทั้งคำชมเชยและคำวิพากษ์วิจารณ์ คำสรรเสริญ คำนินทา เป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่สามีภรรยา เพื่อนฝูงก็ยังมีการว่ากล่าวกัน ชมกันบ้าง ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ผมเล็กน้อยมาก แต่ผมก็รับฟัง เพราะผมจะรู้ว่าผมทำอะไรอยู่ คนที่ทำงานด้วยก็รู้ อย่างน้อยก็คนที่ผมเกี่ยวข้องด้วยทั้งในและนอกกระทรวงก็ไม่ได้ว่าผม และร่วมงานกันด้วยดี

            รู้สึกเสียใจกับคนที่ไม่เข้าใจ หรือจะปรับวิธีการทำงานเพื่อลบภาพเกียร์ว่างหรือไม่

            ผมไม่รู้สึกอะไร เพราะผ่านชีวิตมาเยอะ ใครให้ความเห็นมาก็ขอบคุณ ในคน 100 คนต้องมีคนที่เข้าใจบ้าง เฉยๆ บ้าง ไม่เข้าใจบ้าง จะคาดหวังให้ทุกคนเข้าใจหมด ชื่นชมหมดไม่ได้ ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน ขนาดพระพุทธเจ้ายังถูกนินทา คนมีบารมีมากๆ ในสังคมไทยยังถูกนินทา อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อ.ปรีดี พนมยงค์ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ยังถูกกล่าวหา ในฐานะผู้ใกล้ชิดเรารู้ว่าท่านเป็นคนดี ยังถูกกล่าวหาโจมตี เป็นเรื่องธรรมดา เป็นสัจธรรม เราต้องมองให้เห็นภาพรวม สำคัญเราต้องสำรวจตัวเอง พยายามพัฒนา ไม่หยุดที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คำว่า "เกียร์ว่าง" คงเป็นคำพูดล้อเล่น ผมก็คุยกับนายแก้วสรรแล้ว คนที่อยู่ด้วยกันก็จะรู้ว่าผมทำงาน 

            ตอนนี้ใส่เกียร์ 4 เกียร์ 5 แล้ว หลังจากนี้งานจะหนักกว่าเดิม ต้องเคลื่อนหลายเรื่อง เน้นนโยบาย ยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างระบบฐานราก ส่วนการประชาสัมพันธ์ก็ทำพอสมควร เพราะงานที่ทำไม่ถึงกับเป็นประเด็นร้อน หวือหวา แต่ผมทำหวังผลระยะยาว ผมทำงานแบบปักเสาเข็ม ไม่ใช่มาก็ต่อหลังคาขึ้นไป แต่ต้องทำฐานให้ดี และโดยนิสัยผมไม่ชอบประชาสัมพันธ์ตัวเอง เป็นคนขี้อายด้วยซ้ำ โดยหน้าที่ขอให้ทำประโยชน์ได้ก็พอ จะประชาสัมพันธ์งานมากกว่าประชาสัมพันธ์ตัวเอง

            การทำงานของผมคล้ายปิดทองหลังพระ แต่ผมก็ทำเต็มที่ จะทำต่อไปและแจ้งข่าวสารให้สังคมทราบด้วย ส่วนจะให้ปรับการทำงานให้หวือหวาคงไม่ทำ แต่จะพยายามทำเท่าที่จะทำได้ สร้างสรรค์สิ่งดีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เชื่อว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

29 ก.พ. 50
หมายเลขบันทึก: 81391เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

     เป็นกำลังใจให้ครับอาจารย์ เชื่อว่ากระทรวงพัฒน์ฯ ยุคนี้น่าจะวางกรอบการทำงานไว้ได้มากพอสมควร

ด้วยความเคารพรัก....

แวะเข้ามาให้กำลังใจเช่นกันค่ะ การวิจารณ์นั้นง่ายกว่าการปฏิบัติจริงค่ะ การทำงานปิดทองหลังพระนั้น ดิฉันเชื่อว่าถ้าเราทำต่อไปอย่างเต็มที่ สักวันทองจะล้นออกมาหน้าองค์พระเองค่ะ
เป็นกำลังใจค่ะ แต่ขอให้ช่วยแก้วันที่จาก 29 กพ. 50 เป็น 1 มี.ค. 50 ขอบคุณค่ะ

คนกองทุนสวัสดิการไทบ้านทุกคนขอเป็นกำลังใจครับ

เป็นกำลังใจให้ท่านครับ  ผมเห็นใจคนทำงานครับ ทุกคนทุกรัฐบาลแหละครับ รวมทั้งรัฐบาลเลือกตั้งด้วยครับ บางคนวิจารณ์คนอื่นเก่งครับ แต่ตัวเองทำเองแล้วไม่เอาไหนก็มีครับ
อย่าท้ออย่าถอยครับอาจารย์  สู้ ๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท