ถ่ายทอดประสบการณ์ : จุดคานงัดคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ (๒)


ระบบมีส่วนที่ขาดหายไป จึงคิดถึงการสร้างระบบที่เชื่อมโยงไปถึงบ้าน ปิดรอยต่อ

ตอนที่ ๑

 

 บนเวทีถ่ายทอดประสบการณ์

คุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์คนที่ ๒ เมื่อเริ่มเปิดเวทีคุณหมอสุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผู้ดำเนินรายการแซวว่าคุณหมอนิพัธอยู่ในตำแหน่งและหน่วยงานที่ไม่มีชื่อในสารบบของทางการ และโดนตั้งคำถามว่า รพ.ก็ใหญ่โตแล้วไปเกี่ยวข้องกับชุมชนได้อย่างไร

คุณหมอนิพัธเล่าให้ฟังว่า รพ.พุทธชินราชมีแพทย์จำนวนเกิน ๑๐๐ เดิมไม่มีหมอ GP เลย จบ specialist กันทั้งนั้น สิ่งที่คุณปรีชาเล่ามาเป็นเหมือนผลลัพธ์ของ “๓ ประสาน”

คุณหมอนิพัธเป็นแพทย์ Ortho. ทำผ่าตัดปีละ ๓๐๐ กว่าราย เจอปัญหาสะสม มีผู้ป่วยรายหนึ่งให้ชื่อว่านายสมชาย อายุ ๒๕-๒๖ ปี มีเมีย มีลูก ๒ คน นายสมชายคอหักเป็นอัมพาตทั้งตัว ขยับได้แต่คอและหัว คุณหมอเดินผ่านนายสมชายทุกวัน ผู้ป่วยรายนี้ รพ.ทำอะไรไม่ได้ก็ให้กลับบ้าน

วันหนึ่งคุณหมอนิพัธเจอนายสมชายที่ OPD นอนอยู่บน stretcher ร้องไห้บอกว่ามาไม่ทัน หมอตรวจเสร็จไปกันหมดแล้ว พี่จำเนียรพยาบาลที่ทำ Home Health Care มานาน บอกว่านายสมชายอยู่ในชุมชนแออัด เมียขายผัก ขายเสร็จแล้วจึงจะมาอุ้มนายสมชายขึ้นสามล้อแดง ซึ่งซิ่งเต็มที่แล้วก็ยังมาไม่ทัน (OPD) หมอก็ทำไม่ผิดนะตรวจเสร็จหมดเวลาแล้วก็ไป คุณหมอนิพัธเกิดความคิดว่าการใส่ใจเป็นหน้าที่ของหมอหรือเปล่า

ยังมีกรณีอื่นๆ อีก อย่างนางเป้าที่แพ้ Penicillin ลายมือหมอสั่งยาขีดๆ เขียนๆ ยาหลายตัวคล้ายๆ กัน ก็อาศัยพี่จำเนียรไปบอกให้คนไข้เอายามาเปลี่ยน คนไข้เบาหวานที่เจอก็ต้องตัดขาตัดนิ้วบ่อย เมื่อใดก็ตามที่ต้องตัดแขนตัดขาคน เป็นความทุกข์ของหมอ Ortho. ทั้งๆ ที่เราเรียนมาเพื่อต่อ

เมื่อปี ๒๕๔๔ ตัดสินใจมาทำงานเวชศาสตร์ครอบครัว เพราะเห็นว่าระบบมีส่วนที่ขาดหายไป จึงคิดถึงการสร้างระบบที่เชื่อมโยงไปถึงบ้าน ปิดรอยต่อ พอดีเจออาจารย์แพทย์รุ่นพี่ ๒-๓ ปี (คณบดีคณะแพทย์) มาถามว่ารู้จักเวชศาสตร์ครอบครัวไหม แล้วให้ไปศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ๑ เดือน ตอนนั้นไปกับพยาบาลจากเวชกรรมสังคมอีก ๓ คน แล้วมาเปิดกลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว ทีแรกมีแพทย์ ๑ คน พยาบาล ๓ คนและธุรการ ๑ คน

ปัจจุบันสามารถอุดช่องโหว่ได้ระดับหนึ่ง โชคดีที่อยู่ (โรงพยาบาล) มานาน staff รู้จักและยินดีช่วย มาช่วยคิด ฝ่ายการพยาบาลเห็นความสำคัญก็ให้คนมา คิดระบบงานเบาหวานให้บูรณาการ ทำงานไประยะหนึ่งคนในโรงพยาบาลก็ค่อยๆ ลงมาทำร่วมกับชุมชน มีการสร้างกิจกรรมในชุมชนโดยคนในชุมชนเอง แล้วเราสนับสนุน การไม่แบ่งแยกโรงพยาบาล อนามัย ชุมชน เป็น key success factor เป็น staff เดียวกัน ทำงานด้วยกัน ๖ ปีก็เติบโตมาเรื่อยๆ

พวกเราคนฟังได้เห็นภาพโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สามารถหลอมรวม รพ.และชุมชนได้อย่างน่าประทับใจ เพราะงานเวชศาสตร์ครอบครัวที่เป็นจุดรอยต่อนี่เอง คุณหมอนิพัธได้กล่าวเสริมตอนท้ายว่าจุดเปลี่ยนแนวความคิดในการดูแลคนของทุกส่วนคือทุกคนมีส่วนร่วม (หมอ รพ. หมออนามัย และอื่นๆ)

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 81074เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2007 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
คุณหมอนิพัธ คงมีความสุขกับงานชุมชนนะครับ คงหา specialist ที่มาทำงานเวชปฏิบัติครอบครัว ได้ยากมาก ๆ   ชื่นชมจริง ๆ ครับอยากให้มี หมอแบบนี้มาก ๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท