การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตำบลห้วยแร้ง


กิจกรรมพิเศษ

  • การตกกุ้งหลวงยามค่ำคืน กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเวลาค่ำคืนในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน หยิบคันเบ็ดนั่งริมคลองหรือนั่งเรือหาที่สงบตกกุ้งหลวง ก็ได้บรรยากาศธรรมชาติแบบที่หาไม่ได้ในเมือง
  • เรียนรู้การทำขนมจาก ขนมพื้นบ้านที่นอกจากจะซื้อเป็นของฝากกลับบ้านแล้ว หากนักท่องเที่ยวนำฝีมือการทำของตนเองนำไปฝากจะยิ่งสร้างความพิเศษมากขึ้น นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการทำหมวกใบจาก วัตถุดิบที่สามารถหาได้ทั่วไปในห้วยแร้ง พร้อมกันนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถหาซื้อ และเรียนรู้วิธีการทำสมุนไพรพื้นบ้านให้เป็นสินค้าในรูปแบบอื่นได้อีกด้วย
  • การพักโฮมสเตย์กับชาวบ้าน รูปแบบการพักผ่อนที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะการพักผ่อนแบบนี้จะได้ซึมซับความเป็นธรรมชาติอย่างเต็มที่ นอกจากจะได้ทำการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆแล้ว การได้พักผ่อนในบ้านร่วมกับชาวบ้านที่ท้องถิ่นจะยิ่งเพิ่มความสุนทรีย์ในการท่องเที่ยวให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านและเรียนรู้ระบบนิเวศของตำบลห้วยแร้ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สมบูรณ์ โดยมีชาวบ้านเป็นส่วนร่วมในการท่องเที่ยวครั้งนี้ด้วย
  • การท่องเที่ยวห้วยแร้ง อยู่ในลักษณะที่เป็นชีวิตในชนบท อยู่ในสวนผลไม้ และตามริมคลอง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมชาติแหล่งที่อยู่ของสัตว์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีคลองที่มีน้ำใสสะอาดมองเห็นปลาหลากหลายชนิด พร้อมทั้งชมป่าจาก ทัศนียภาพต้นจากที่มีขนาดใหญ่เท่าต้นมะพร้าวเรียงร้อยขนานกับลำคลองห้วยแร้ง และลิ้มรสผลไม้ประจำท้องถิ่นในสวนผลไม้พันธุ์พื้นเมืองเคียงคู่ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ
  • การเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้เรือเป็นพาหนะ เนื่องจากชาวชุมชนห้วยแร้งมีวิถีชีวิตติดกับคลองซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญแหล่งหนึ่งต่อจากการทำสวนผลไม้ ชาวบ้านที่นี่แทบทุกคนมีอาชีพทำสวน มีทั้งการทำสวนยางพารา สวนเงาะ ไร่สับปะรด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทไร่นาสวนผสม
     

     

 ออกเดินทาง

  •    การท่องเที่ยวทางเรือ กำหนดเส้นทางจากท่าเรือหน้าวัดคลองขุด ซึ่งทางวัดคลองขุดนั้นถือเป็นวัดที่เก่าแก่มาก สร้างเป็นวัดที่สองของจังหวัดตราด มีอายุราว 200 ปี ภายในวัดมีข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณให้ชมกัน ส่วนการล่องเรือตามลำคลองห้วยแร้ง นักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลินกับการล่องเรือชมทัศนียภาพสองฝั่งคลองห้วยแร้ง และชมแก่งหิน โขดหินต่างๆมากมาย โดยมีประวัติเล่าต่อกันมาว่าในสมัยก่อนนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำลด มีชาวบ้านเห็นโขดหินรูปอีแร้ง จึงเป็นที่มาของชื่อคลองห้วยแร้งในปัจจุบัน
  •  การล่องแก่งตามคลองห้วยแร้ง สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการผจญภัย ต้องไม่พลาดการล่องแก่งกับลำคลองห้วยแร้ง กับรูปแบบการล่องแก่งที่แตกต่าง กับเรือหางเครื่องของชาวบ้านที่พร้อมจะพานักท่องเที่ยวล่องชมทัศนียภาพ
  • ท่องเที่ยวสวนผลไม้ตามฤดูกาล ผลไม้พันธุ์พื้นเมืองของชาวห้วยแร้ง คือ เงาะ มังคุด ลองกอง ทุเรียนและระกำพื้นเมือง นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมสวน และเก็บผลไม้รับประทานจากต้นได้ทันที อร่อยและปลอดสารพิษ และสัมผัสถึงรสชาติที่ไม่เหมือนใคร

 

หมายเลขบันทึก: 79660เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2007 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมไปเป็นครูที่โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม ต.ห้วยแร้งปี พ.ศ./2536-2544 วันใดที่ผมอยากกินกุ้งหลวง กินปลากรบอก ผมจะไปบ้านลุงมังบางปรือ บ้านของลุงอยู่ติดริมคลองห้วยแร้ง ตอนแดดร่มลมตกผมลุงมัง กลูนรา ลุงนัน คงอยู่ พายเรือออกไปวางอวนปลากระบอกใช้เวลานิดเดียวก็ได้ปลา ผมจะจับปลาอีกลุงบอกว่าให้เอาแค่กิน วันหลังจะมีกินอีก ลงบอกว่าสมัยลุงเด็กๆแค่พายเรือผีออกไปก็ได้ปลาเยอะแล้ว (เรือผีคือการเอาทางมะพร้าว 2ทางผูกไว้ที่หัวเรือให้ปลายของทางมพร้าวจุ่มลงไปในนำทั้ง 2ข้างของหัวเรือ เมื่อเราพายเรือออกไปทางมะพร้าวทั้ง 2 ข้างเป็นเมือแขนที่ยื่นไปในน้ำหลอกปลาให้ตกใจกระโดดขึ้นมาบนเรือ) แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ตอนกลางคืนออกส่องกุ้งหลวง โดยการพายเรือไปตามตลิ่งใช้เบตเตอร์รีส่องหากุ้งที่อยู่ในน้ำ เจอก็ใช้เหล็กแทงเอาเลย ขณะที่พายเรือไปจะมี สรถ.เป็นเพื่อนให้อบอุ่น (สรถ.เป็นอะไร ผมไม่บอกให้ท่านเข้าไปที่ห้วยแร้งชาวบ้านบอกท่านได้)

ผมคนสงขลามีความรู้สึกที่ดีๆต่อห้วยแร้ง ชื่นชมชาวบ้านดีมากๆ อยู่ด้วยกัน 8 ปีทุกเรื่องราวยังอยุ่ในความทรงจำผมต้องกลับไปเยี่ยมเขาอีกแน่นอน ชาวห้วยแร้ง

  • ขอบคุณพี่มากครับที่เข้ามาเยียมเยือน ชาวห้วยแร้งยินดีต้อนรับ
อยากเห็นภาพการท่องเที่ยวเชิงเวศที่นั่นจัง...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท