เรื่องเล่าจากดงหลวง 26 ลักษณะบางส่วนของไทโซ่ดงหลวง 3


ยิ่งแปลกไปอีกที่ไทโซ่ตำบลอื่นมีลักษณะตรงข้าม เสียงชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า พวกนั้นเป็น “เชื้อคำฮด” พวกเราเป็น “วงษ์กะโซ่” มันต่างกัน... นี่คือโจทย์ของนักพัฒนาชุมชน...

1.        ความเป็นไทโซ่: เราพยายามเก็บอะไรที่เป็นลักษณะเฉพาะของไทโซ่ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เพื่อเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตามหลักของพระองค์ท่านที่พระราชทานมาให้แก่พวกเรา วันนี้พวกเรามีนัดกับคณะกรรมการกลุ่มเกษตรธรรมชาติ ตำบลพังแดง เพื่อทำการประเมินผลองค์กร แบบมีส่วนร่วมโดยประชุมกลุ่มและตั้งคำถามให้กลุ่มได้ร่วมพิจารณาแล้วหาข้อสรุปสุดท้ายว่ากลุ่มมีความเห็นต่อประเด็นคำถามอย่างไร แล้วบันทึกลงในแบบฟอร์ม ระหว่างเราตั้งคำถามและอภิปรายขยายความกันในเรื่องต่างๆนั้น พวกเราก็พบลักษณะบางประการของไทโซ่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะนักส่งเสริมการเกษตร นักส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ หรือนักพัฒนาสังคมทั้งหลาย   

2.        การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทางแนวราบ: โดยทั่วไปในงานพัฒนาชุมชนหรือสังคมทั่วไปมักจะพบการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เป็นแบบธรรมชาติ คือ คุยกันเมื่อพบปะกัน หรือคุยกันเมื่อไปเยี่ยมยามกัน ทั้งระหว่างเพื่อนฝูงกัน  ระหว่างเพื่อนที่ทำงาน หรือแม้แต่เพื่อนต่างพื้นที่กัน ซึ่งเราอาจจะเรียกกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ว่า Horizontal Learning and Exchange ซึ่งส่วนมากอาศัยความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีต่อกัน เช่น เป็นเพื่อนบ้านกัน เป็นผู้ใกล้ชิดสนิทสนม ชอบพอกัน หรือเป็นเครือญาติกัน การประชุมวันนี้ผู้เขียนได้ตั้งคำถามต่อที่ประชุมกลุ่มเครือข่ายตำบลพังแดงนี้ถึงเรื่องที่ว่า มีการแลกเปลี่ยนทุนความรู้และอื่นๆในระหว่างสมาชิกในระดับใด...ซึ่งมีคำตอบให้ที่ประชุมเลือกตอบ 5 ระดับคือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด โดยการอภิปรายหามติที่ประชุมก่อน ปรากฏว่าคำตอบออกมาพร้อมๆกันโดยไม่ต้องอภิปรายในความเห็นต่างกันเลย คำตอบก็คือ น้อย หมายความว่าภายในกลุ่มนี้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆกันน้อย..มันช่างตรงกับที่ทีมงานเฝ้าสังเกตมานานแล้วผ่านกิจกรรมการปลูกพืชในพื้นที่งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 

3.        สรุปกรณีตัวอย่าง:  ต่อไปนี้เป็นการนำตัวพฤติกรรมมาเสนอให้เห็นรูปธรรมมากขึ้น

·       เราไม่รู้ว่ามันเกิดมาเมื่อไหร่ สาเหตุจากอะไร และเป็นกันทั้งหมู่บ้านพังแดง อาจจะต้องหาที่มาที่ไปจากกลุ่มผู้สูงอายุ

·       ปรากฏการณ์หลายครั้งในกิจกรรมการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้า นั้นพบมากที่สุด บ่อยที่สุด เช่น ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำ พบว่าแปลงปลูกพืชมะเขือเทศของเขาติดโรคหลายโรค เจ้าหน้าที่ก็เดือดร้อน วิ่งเต้นกันใหญ่ที่จะหาทางแก้ปัญหา แต่แล้วโรคในแปลงผู้นำนั้นก็ลดลงและหายไป แต่ผู้นำท่านนี้ก็ไม่ยอมบอกว่าแก้ปัญหาด้วยวิธีใดทั้งเพื่อนสมาชิกที่เขามีส่วนรับผิดชอบทางการบริหารและแม้แต่เจ้าหน้าที่โครงการ เหตุผลที่เข้าใจง่ายๆคือ เขาค้นพบเคล็ดลับ แล้วต้องการเก็บลับไว้คนเดียว

·       ขณะเดียวกันมีการแข่งขันกันมากขึ้นระหว่างแปลง โดยเฉพาะแปลงที่ใกล้ชิดกัน ต่างก็พยามยามทำให้แปลงของตัวเองดีที่สุด   การแข่งขันน่าที่จะดีเพราะเป็นแรงขับ (drive) อย่างหนึ่ง แต่น่าเป็นห่วงว่า drive ตัวนี้จะก้าวไปถึงการลงทุนมากขึ้น เกินความจำเป็นขั้นต่ำสุด ไปใส่ปุ๋ยมากเกินจำเป็นเพราะต้องการให้ต้นพืชโตและงามมากกว่าเพื่อนบ้าน

·       ทราบมาว่ามีบางรายทำเป็นไปยิงนก หาสัตว์ป่าในเวลากลางคืน แล้ววกกลับมาส่องไฟดูแปลงพืชของเพื่อนที่เป็นคู่แข่งขัน เพื่อสำรวจ เปรียบเทียบกับของตนเอง หมายความว่าเวลากลางวันก็ไม่มอง ไม่มาดู ไม่มาเยี่ยมเยือน พูดคุยกันหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน (แปลกแต่จริง..) 

·       เกษตรกรผู้ปลูกพืชบางรายพบว่าแปลงของตนเองมีโรคบางชนิด เขาเองก็หาทางแก้ปัญหาเองแบบวิธีของเขาเอง ทราบมาว่าใช้นมกระป๋องผสมกับเครื่องดื่มชูกำลังชนิดหนึ่งผสมน้ำแล้วพ่นใส่พืช  พบว่าโรคภัยหายไปและพืชกลับงามมากขึ้น เทคนิคเฉพาะนี้เราก็ไม่ทราบรายละเอียดว่าใช้ส่วนผสมอย่างไร เท่าใด และทีต้องการทราบคือเอาความรู้นี้มาจากไหน.. และผลการแก้ปัญหานี้จะส่งผลอะไรบ้างแก่พืชในทางวิทยาศาสตร์ 

 4.        นักส่งเสริม นักพัฒนาทำอย่างไร: ทุกคนคงจ้องมาที่คำถามนี้ ต่อไปนี้เป็นทัศนคติของผู้เขียนเท่านั้น ในฐานะที่อยู่สนาม มองอย่างนี้ 

·       ต้องให้ความสนใจจริงจังต่อเกษตรกรทุกราย และพยายามอธิบายถึงหลักทางวิชาการอย่างอดทน  แต่ก็ต้องมีกระบวนท่าการแนะนำความรู้อย่างเคารพ นอบน้อมความคิดเห็นเขาทั้งหลายนั้นด้วย ในกรณีแปลงพืช ต้องทำการ Walk through ตลอดแปลง และใช้หลักการ V&C คือ Visiting and Coaching นั่นเอง

·       ท่าที และการให้ความสนิทสนมส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะความสนิทสนมเป็นสะพานเชื่อมการยอมรับซึ่งกันและกัน

·       แปลงสาธิตยังมีความจำเป็น ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายๆพาทำ ให้เห็นกับตาว่านักวิชาการทำแล้วเป็นอย่างไร ให้ความรู้กับเพื่อนเกษตรกร พามาดู ตั้งประเด็นคุยกัน เป็นต้น

·       ประการสำคัญหนึ่งคือ อย่าด่วนสรุปว่าเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะการพัฒนาใดๆก็ตาม มัน มีระยะของการเรียนรู้ และ ปรับตัวโดยเฉพาะการปรับตัวนั้น บางคนปรับตัวเร็ว บางคนช้า ใช้เวลาไม่เท่ากัน หากเราเข้าใจก็จะไม่ใจร้อน ด่วนสรุป  ต้องมีความรักความตั้งใจดี ความต้องการให้เกษตรกรเติบโต เป็นฐานของการทำงานส่งเสริมพัฒนาชุมชน และแสดงความจริงใจให้เห็น  ความจริงใจและความหวังดีที่แสดงออกนั้น เป็นยาวิเศษที่ให้คนก้าวเข้าหากัน

·       พยายามหาลู่ทางจัดกลุ่มเกษตรกรรายพืชเดินทางไปเยี่ยมซึ่งกันและกัน กิจกรรมนี้อาจจะต้องลองทำเพื่อใช้เงื่อนไปเจ้าหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว.

 ยิ่งแปลกไปอีกที่ไทโซ่ตำบลอื่นมีลักษณะตรงข้าม เสียงชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า พวกนั้นเป็น เชื้อคำฮด  พวกเราเป็น วงษ์กะโซ่ มันต่างกัน...  นี่คือโจทย์ของนักพัฒนาชุมชน...

คำสำคัญ (Tags): #coaching#and#visiting
หมายเลขบันทึก: 79362เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2007 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ผมเห็นด้วยและสนับสนุนประโยคที่ว่า "อย่าด่วนสรุปว่าเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะการพัฒนาใดๆก็ตาม มัน มีระยะของการเรียนรู้และ ปรับตัว โดยเฉพาะการปรับตัวนั้น บางคนปรับตัวเร็ว บางคนช้า ใช้เวลาไม่เท่ากัน หากเราเข้าใจก็จะไม่ใจร้อน ด่วนสรุป"

หลายท่านที่ลงมาทำงานชุมชนมักใจร้อน ขัดหลักธรรมชาติ คงต้องรอให้ได้ตามกลไกของมัน

งานของพี่ไพศาล น่าสนใจและมีกระบวนการที่หลากหลายดีครับ

ขอติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อเนื่องนะครับ

.....................

มีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เป็นประสบการณ์การจัดเวที Food Bank ที่แม่ฮ่องสอน ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น สรุปออกมาเป็นเล่ม เนื้อหาน่าสนใจ อ่านง่าย และสามารถประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆได้เป็นอย่างดี

เห็นว่างานของพี่เกี่ยวข้องกัน ผมจะส่งทางไปรษณีย์ไปให้นะครับผม ตามที่อยู่ใน Gotoknow ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ครับ

ดีใจมากๆ เลย ที่เห็นคุณเอก มาร่วมแสดงความคิดเห็น ในบล็อก พี่บู๊ด (เนื่องจากแวะไปชักชวนมา สองที) เพราะมองว่าทั้งสองทุนมีมุมมองการทำงานที่คล้ายกัน น่าจะร่วมแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งวันนี้ก็เห็นแล้วว่า บรรยากาศนั้นำลังเกิดขึ้น ดีใจจังเลยค่ะ

ดิฉันได้ประโยชน์นะเนี้ย ได้ความรู้ในสิ่งที่อยากเรียนรู้

สองท่าน

   กำลัง 

  (แก้ไข ผิดจุด)

สวัสดีครับ คุณอำนวย Kawao

ต้องขอขอบคุณที่ชักนำให้ผมมาพบขุมความรู้และนักปฏิบัติพัฒนา กัลยาณมิตรทางปัญญา

ต้องขอแก้ตัวว่า ผมเข้ามาอ่านบันทึกของพี่ไพศาลมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เขียนข้อแลกเปลี่ยนครับ

ต้องขอคุณ คุณกาเหว่ามากๆครับ

ผมคิดว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกในระดับน้อย คงต้องดูว่ามีปัจจัยอะไร ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์แบบนั้น...เป็นเพราะเปิงบ้าน (บริบทหมู่บ้าน) เช่น นามสกุลที่ต่างกัน หรือ กิจกรรมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการแข่งขัน และทำให้เกิดอาการหวงวิชา...การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแบบวิถีชาวบ้านที่มีการพบปะพูดคุยแบบเพื่อนบ้านอาจเป็นเรื่องปกติทั่วไป...แต่สำหรับกิจจกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากภายนอก...อาจส่งผลต่อแนวคิดที่เปลี่ยนไปของชาวบ้าน จากที่เคยพบปะพูดคุยตามประสาคนบ้านเดียวกัน...แต่พอมีกิจกรรมส่งเสริม..ทำให้รู้ความเป็นพวกเดียวกันลดน้อยลง...ผมคิดว่า กิจกรรมที่ส่งเสริมก็มาจากภายนอกแล้ว...การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ส่วนหนึ่งก็คงต้องได้รับการกระตุ้นจากภายนอกเช่นกัน...กิจกรรมเยี่ยมแปลง หรือ เวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนสรุปบทเรียนก็คงต้องลองเอามาใช้ดู...เห็นด้วยครับว่ากระบวนการเรียนรู้คนเรา มันช้าเร็วต่างกัน...ซึ่งกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คงจะช่วยปรับสมดุลได้ไม่มากก็น้อย...

ขอบคุณน้องทั้งสองท่านครับ

  • เรื่องระยะการปรับตัวของคน องค์กร ชุมชน เป็นเรื่องที่นักบริหารหลายท่านไม่เข้าใจ จะเอาแต่ผลสำเร็จภายในเวลาที่ให้...
  • ยิ่งร้ายไปกว่านั้น นักประเมินผล ไม่เข้าใจระยะปรับตัวของคน องค์กร ชุมชน เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็สรุปตามคะแนนที่ได้เก็บมา.. มันไม่เห็นลักษณะ dynamic ของคน องค์กร ชุมชน
  • ขอบคุณล่วงหน้าครับที่จะได้รับหนังสือเล่นนั้น ส่งตรงได้เลยตามที่อยู่ใน G2K (พี่แอบเพิ่มประวัติตัวเองมากขึ้น คงรู้จักพี่มากขึ้นนะครับ) เช่นเดียวกันพี่ก็จะส่ง ตลาดชุมชนไปให้นะครับ
  • น้องจตุพร..ครับ อาคารเรียนที่ มช.ระหว่างคณะวิศวกับคณะเกษตรนั่น เป็นที่เกิด ทางสำนึกของพี่ด้วยนะครับ
  • ขอบคุณน้องกาเหว่า พี่ส่งคู่มือ V&C ไปให้แล้วนะครับ
  • ขอยคุณครับคุณ ชอลิ้วเฮียง
  • การทำงานกับชุมชนนี่มันสนุกตรงนี้แหละครับ มันท้าทาย และมีโจทย์ให้เราขบคิดอยู่เสมอ ครับ
เราอาจจะต้องหาวิธีทำลายกำแพงที่ขวางกันนะครับ กำแพงหนึ่งที่พบจากการอ่านและดูเหมือนจะสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติ(สมัยก่อน)ของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่คือ ไม่ค่อยไว้วางใจใครนะครับ เรื่องลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมกับกลุ่มอื่นของโซ่มีที่มาที่ไปครับ
  • ขอบคุณคุณออตมากครับ
  • คงต้องหาเวลาสนทนากันเสียแล้วครับคุณออต ผมต้องการรู้จักพี่น้องโซ่ให้รอบด้านเพื่อประโยชน์ในการทำงานที่สร้างสรรกับชุมชนเขา โดยไม่สร้างความขัดแย้งใดๆ แต่เมื่อพบลักษณะดังกล่าวเล่นเอาเรามึนตึบไปเหมือนกัน
  • ขอน้อมรับคำแนะนำครับคุณออต
  • ออตไม่เก่งเลยครับ อาศัยฟังเรื่องเล่าจากท่านอาจารย์ที่เคารพนับถือ
  • เวลาไปเที่ยวแถบนั้นก็พยายามถามครับ
  • ชอบดงหลวงที่มีไร่ฝ้ายครับ อยากไปขอซื้อฝ้ายที่นั้นมากคงต้องหาเวลาไปให้ได้ครับ
  • อันที่จริงเรื่องทำลายกำแพงเพื่อการพัฒนาออตยังไม่รู้ไปใหญ่ อันนี้ต้องเรียนรู้จากคนทำงานจริง ๆ ออตได้ประโยชน์จากเรื่องเล่าจากดงหลวง มากครับ

 

 

  • แต่ประเด็นน่าสนใจครับ "การทำลายกำแพง" เป็นการบ้านที่พี่จะเอาไปคิด
  • อย่างไรก็ตามยินดีรับฟังข้อเสนอแนะนะครับ
  • อย่างลืมฝากความระลึกถึงอาจารย์ไพโรจน์ด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท