เม็กดำ (จบ) : สู่สถานีชีวิต ห้องเรียนชีวิต ห้องเรียนธรรมชาตินอกรั้วโรงเรียน


การเรียนการสอนของที่นี่ เป็นการนำพานักเรียนคืนกลับไปสู่ธรรมชาติ คืนกลับไปสู่วิถีดังเดิมของสังคมไทยในชนบทที่อิ่มสุขอยู่กับความพอเพียง

หลังมื้อเที่ยงสิ้นสุดลง  ท่าน ผอ. เม็กดำ  ได้อาสานำพาหนะคู่ชีพสัญจรพาเราเข้าสู่ชุมชนเพื่อเรียนรู้ สถานีชีวิต  ที่อยู่ตามหมู่บ้าน ท้องทุ่งและลำน้ำ  โดยมีปราชญ์ชาวบ้านอีก 2 ท่านร่วมขบวนชีวิตไปด้วยกัน   โดยสถานีแรกที่ที่เราได้สัมผัสเรียนรู้นอกรั้วโรงเรียนก็คือ ธรรมาสน์เสาเดียว  อันเก่าแก่ในวัดประจำหมู่บ้านเม็กดำ 

 

เท่าที่พูดคุยกันแต่เพียงสังเขป  พอรับรู้ได้ว่าธรรมาสน์เสาเดียวถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2491  ทำขึ้นจากไม้มะค่าแต้  ฝังเสาลึกตรงกลางศาลาวัด (หอแจก)  และส่วนบนโผล่พ้นขึ้นมาบนศาลา  ส่วนบนของธรรมาสน์ถักสานด้วยไม้ไผ่และยังคงสภาพเดิมอย่างน่าพิศวง  เดิมยืนยันว่าธรรมาสน์เคยมีบันได 3 ขั้น  แต่บัดนี้ได้สูญหายไปแล้ว 

  

 

ที่น่าแปลกใจและน่าสนใจก็คือ  โดยทั่วไปแล้วธรรมาสน์มักจะมี 4 เสากันทั้งนั้น  และเท่าที่เคยได้ฟังได้รู้ก็พอเข้าใจว่าธรรมาสน์เสาเดียวก็มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น 

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าธรรมาสน์เสาเดียวที่เราได้สัมผัสเรียนรู้ที่นี่นั้นสภาพเริ่มทรุดโทรมไปบ้างแล้ว  ลวดลายจิตรกรรมบริเวณเสาและตัวธรรมาสน์เลือนลบไปอย่างน่าใจหาย 

  

 

กระนั้นเราก็ไม่สิ้นหวังเมื่อรับรู้ว่าคณะครูเม็กดำและชุมชนกำลังหารือถึงแนวทางการบูรณะและสืบเค้ารูปรอยเดิมของธรรมาสน์  ซึ่งอาจต้องระดมกำลังพลจากส่วนราชการและปราชญ์ชาวบ้านอีกหลายยก  รวมถึงการใช้เวลาอีกยาวนานไม่น้อยในการอนุรักษ์และพลิกฟื้นในเรื่องดังกล่าว

  

จากนั้นคณะเราก็มุ่งตรงไปยัง ลำพังชู  สถานีชีวิตของเกษตรกรที่เปิดเป็น ห้องเรียนชีวิต หรือสถานีชีวิตให้นักเรียนได้ลงแรงกายและแรงใจเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ชีวิตตามแนวเกษตรพอเพียง 

 

ลำพังชู  เป็นลำน้ำแคบ ๆ  และลึกใส  มีกอไผ่และแมกไม้โรยตัวรกครึ้มเป็นทางยาวไปตามลำห้วย  ลำน้ำนี้ขั้นเขตระหว่างมหาสารคามกับบุรีรัมย์ รวมถึงบางส่วนของสุรินทร์  และถือเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของคนที่นี่  เพราะชาวเม็กดำทั้งหลายต่างพึ่งพิงลำพังชูในการเพาะปลูก  หาปลา  เลี้ยงสัตว์และหล่อเลี้ยงชีวิตสืบมาชั่วนาตาปี

  

 

หลายท่านเล่าให้ฟังว่า  แปลงเกษตรเหล่านี้เป็นสถานีแห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียนกับชาวบ้าน  ซึ่งทุก ๆ สัปดาห์นักเรียนในแต่ละชั้นจะมาเรียนรู้วิถีการทำนา ทำสวนกันที่นี่  เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  โดยนักเรียนจะต้องฝึกปฏิบัติจริงด้วยการจับจอบ จับเสียม คลุกโคลนเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ร่วมกับเจ้าของสวน  และแต่ละสวนก็จะมีกลวิธีภูมิปัญญาที่แตกต่างกันไป  ยังผลให้นักเรียนได้ซึมซับศาสตร์แห่งการเพาะปลูกที่หลากหลาย 

และเป็นที่น่าภูมิใจก็คือ  นักเรียนจำนวนไม่น้อยสามารถนำความรู้จากครูชาวบ้านไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  และผลแห่งการสัมผัสลึกในวิถีเกษตรกร  ส่งผลให้บางคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการ ไม่เอาเวียก (ไม่ชอบทำงาน)  ไปสู่การ เฮ็ดเวียกบ้าน  (ช่วยงานบ้าน)  ของพ่อและแม่ได้อย่างน่าทึ่ง ! 

 

ผมอยากจะเรียกที่นี่ว่า สถานีชีวิต ห้องเรียนชีวิต หรือแม้แต่ห้องเรียนธรรมชาติ..

การเรียนการสอนของที่นี่  เป็นการนำพานักเรียนคืนกลับไปสู่ธรรมชาติ  คืนกลับไปสู่วิถีดังเดิมของสังคมไทยในชนบทที่อิ่มสุขอยู่กับความพอเพียง   และถึงแม้ทุกวันนี้  กระแสอันเชี่ยวกรากของทุนนิยมจะแผ่ไพศาลไปทั่วทุกหัวระแหง  แต่สถานีชีวิตเหล่านี้ก็ยังยืนหยัดเป็นประจักษ์พยานของการอยู่รอดอย่างมีความสุข เรียบง่าย สมถะ...และแบ่งปันอย่างไม่รู้จบ

 

 

วันนี้,  หรืออาจจะนานมาแล้ว  ลำพังชู.. ได้กลายเป็นสายน้ำแห่งชีวิต .. และแปลงเกษตรก็กลายเป็นสถานีชีวิตด้วยเช่นกัน   ขณะที่ข้าวโพดชูใบระบัดเขียวเป็นระนาบยาว  พลิ้วไหวไปกับสายลมและสายน้ำ  กอไผ่ผสานเพลงไผ่ผ่านสายลมมาเป็นระยะ  ท้องน้ำเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องเป็นจังหวะ  ทุกอย่างสอดรับกันอย่างลงตัวเพื่อบอกให้รู้ว่า ที่ตรงนี้  คือสถานีชีวิตการเรียนรู้ของคนต่างวัยในบ้านเม็กดำ

  

ถัดจากสถานีชีวิตใกล้ลุ่มน้ำ,   เรามีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานีชีวิตในที่ดอนกันบ้าง  พบเห็นพื้นที่ของการเตรียมการเป็นสวนสมุนไพร  รวมถึงแปลงผักสวนครัว พริก หอม กระเทียม มะเขือพวง มะเขือเทศ สวนกล้วย  ต้นขนุนที่ถูกปลูกไว้ในพื้นที่อันเล็กแคบ  บางสถานีมีสระน้ำเล็ก ๆ  ไว้สำหรับรดน้ำพืชผักและเลี้ยงปลา    

สถานีเหล่านี้,  ผมมองเห็นความหนาแน่นรกรุงรังของพืชพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของคนเราอย่างสนิทแน่น  เป็นความรกรุงรังอย่างเป็นธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องตกแต่ง  หรือจัดระบบระเบียบใด ๆ ให้กับพืชพันธุ์เหล่านี้เลยแม้แต่น้อย

  

 

จากท้องน้ำลำห้วยมาสู่สถานีชีวิตในที่ดอน   ผมเห็นภาพความพอเพียงของชีวิตที่ชัดเจน  เห็นภาพวิถีวัฒนธรรม กินปลาเป็นหลัก  กินผักเป็นพื้น  อย่างแจ่มชัด

  

 

นี่คือสถานีชีวิตนอกรั้วโรงเรียน  หรือห้องเรียนชีวิตและห้องเรียนธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ใจของชาวเม็กดำ  เป็นห้องเรียนที่สะท้อนให้ถึงความกล้าคิด กล้าทำของครูและปราชญ์ชาวบ้านที่มุ่งหวังให้ลูกหลานได้เรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณค่า  พร้อมทั้งการปลูกจิตสำนึกที่ดีในการรักบ้านเกิดให้กับนักเรียนได้อย่างแยบยล

ไม่เพียงแค่นี้หรอก,...สถานีเหล่านี้ยังเป็นลานเล่านิทานจากคนเฒ่าคนแก่ถึงลูกหลาน  และเป็นนิทานที่เกี่ยวกับคติธรรม, ตำนานบ้าน ตำนานเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย  ซึ่งผู้เล่าต่างก็ต้องเตรียมการสอนมาอย่างดีราวกับครูในโรงเรียนที่เตรียมการสอนในวิชาต่าง ๆ อย่างรอบคอบ

  

 

หนูรักที่นี่  เพราะที่นี่คือบ้าน  และที่นี่คือโรงเรียน .. หนูไม่กลัวความยากจน  เพราะหนูเกิดมาจากความยากจน.. เด็กหญิงลูกหลานของชาวเม็กดำคนหนึ่งพูดกับผมเช่นนั้น !

 

หมายเลขบันทึก: 79357เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2007 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)
  • จากภาพ  คงไม่แปลกที่คุณหนิง ต้องซมหนักเข้าไปอีก
  • เข้ามาอ่านตอนดึกๆ ค่ะ
  • มาอ่านบันทึกมีชีวิต บันทึกมีจิตวิญญาน ของจริง
  • หนูรักที่นี่  เพราะที่นี่คือบ้าน  และที่นี่คือโรงเรียน .. หนูไม่กลัวความยากจน  เพราะหนูเกิดมาจากความยากจน..
  • Wording เหล่านี้ กระตุ้นต่อมความหลัง ให้ดิฉันคิดถึง เด็กๆ ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี  ที่ดิฉันไปสำรวจทำโครงการ "ตะวันยิ้ม" ค่ะ
  • เด็กน้อยทำได้อย่างไร  กับการเดินเท้าเปล่าประมาณ 3 กิโลเมตร ไป-กลับ 6 กิโลเมตร ระหว่างกระท่อมน้อยในไร่มันสำปะหลัง และโรงเรียน  เสื้อผ้าขาดวิ่น สีกระดำกระด่าง ตัวผอมเป็นกุ้ง  เค้าบอกว่า "มาโรงเรียนมีข้าวกิน มีเพื่อนเล่นสนุก"  เด็กน้อย แม้ลำบากเพียงใด ความเป็นเด็ก ก็ยังดูสดใสไร้เดียงสา
  • หากมีโอกาสในอนาคต ดิฉันอยากทำงานในลักษณะนี้อีกครั้งค่ะ  ในรูปแบบของอาสาสมัคร มิใช่งานประจำค่ะ
  • สวัสดีครับ อ.บัว
  • ขอบคุณนะครับที่แวะมาให้กำลังใจ
  • อันที่จริงชื่นชอบวิธีคิดอาจารย์บัวมาก  และดูเหมือนจะปิดทองหลังพระในกระบวนการต่าง ๆ ของเม็กดำอยู่ไม่น้อย
  • เป็นกำลังใจให้นะครับ

วิถีชิวิตของชาวบ้าน เป็นวิถีทางธรรมชาติ ดูแล้วเรียบง่ายมีความสุขแบบง่ายๆ....แต่เราเอาความสุขแบบชาวเมืองไปจับ เร่งจะพัฒนาให้เป็นชาวเมือง จึงทำให้วิถีชิวิตของชาวบ้านในชนบทเกิดปัญหา...รึปล่าวค่ะ

การเดินท่อมๆกลางแดด จึงทำให้คุณหนิงป่วยรึปล่าวค่ะ....ปานนี้เป็นไงบ้างแล้วหนอคนป่วย....

อ่านก็เหมือนได้ฟังอ เล่า

ดูภาพก็ได้เหมือนได้รู้สึกจริง ถึงไอแดด ระอุร้อน ได้กลิ่นดิน กลิ่นผัก หญ้า

มีชิวิตจริง ๆ

  • อ.บัวเป็นหัววิชาการที่เก่งจริงๆ ค่ะ
  • พี่บัว มีพลัง... มาก ในการผลักดัน
  • ถ้ามัวแต่ปิดทองข้างหน้า พระท่านก็ไม่วย จึงต้องมีปิดหลังองค์ท่านบ้าง จึงจะสวยหมดทั้งองค์
  • สวัสดีครับ
    P
  • ชนบทที่ใดก็ไม่ต่างกัน คือ มีความทุกข์ยากเป็นปลิงเกาะกัดชีวิต  โครงการตะวันยิ้ม  เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ  "ไปถึง หยั่งลึก"  ได้อย่างน่าภูมิใจนัก 
  • ผมชอบนะครับ..ทัศนคติที่เด็กมีต่อโรงเรียนในตะวันยิ้ม  อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่า  โรงเรียนยังเป็นที่พึงพิงและการหล่อหลอมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเขา..และเมื่อพวกเขากล้าเผชิญความยากจน   ก็เท่ากับว่าเขาไม่กลัวความยากจน 
  • ดีใจที่ได้ยินเรื่องราวดี ๆ  ในเช้าใส ๆ เช่นนี้
  • และเชื่อว่าอยู่ที่ใด
    P
    คุณBright Lily
    ทำประโยชน์เพื่อสังคมได้เสมอ..เป็นกำลังใจให้เสมอไป..นะครับ
  • วิถีชีวิตธรรมชาติจริง ๆ เป็นกำไรชีวิตของผู้ที่ได้สัมผัส ขอบคุณที่นำสาระดี ๆ เล่าสู่กันฟัง ในมุมหนึ่ง  และคุ้นหน้าหญิงสาวสวยเสื้อเหลืองมากนะคะ พาไปลุยบ่อย ๆ คงผอมเพรียวค่ะ
  • แต่อีกมุมหนึ่งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังมีปัญหามากมายค่ะ เป็นเรื่องเศร้าของชาวไทยจากผลพวงวันที่ 18 ก.พ.50
  • สวัสดีครับ ท่าน อ.แป๋ว
    P
  • ผมเห็นด้วยกับทัศนะการพัฒนาชนบทที่ล้มเหลว  เพราะนำวิถีการพัฒนาแบบชาวเมืองไปใช้โดยไม่คำถึงถึง "ความน่าจะเป็น " หรือความเป็นจริงที่คุ้ยเคยอันเป็นคุณค่าของท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นหลัก
  • เจ้หนิง... แกเป็นไข้ก่อนวันเดินทางแล้วครับ  ยิ่งเดินยิ่งได้เหงื่อ  และการไปอยู่กับธรรมชาติเช่นนั้น  ยิ่งช่วยให้แกสดชื่น (ธรรมชาติบำบัด) ยิ่งขึ้น  ผมเองก็ยังไข้เรื้อรังอยู่จนปัจจุบัน  เลยสนใจการออกกำลังกาย ดีกว่าการพักผ่อนให้มาก ๆ  ซึ่งอาจจะดีขึ้นในเร็ววัน
  • ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ
  • เห็นภาพแล้วคิดถึงบ้านจังเลยค่ะ
  • ขอบคุณครับที่นำมาแบ่งปัน
  • สวัสดีครับ
    P
  • เสียดายผมไม่ได้นำรูปสวนข้าวโพดเขียวสดมาโชว์ในบันทึก  ไม่งั้นคงได้ชื่นชมกับความเขียวขจีที่สดชื่นของธรรมชาติในท้องทุ่ง
  • ขอบพระคุณนะครับที่แวะมาให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ
  • สวัสดีครับ
    P
    หญิงแกร่งแห่งเม็กดำ
  • ท่าน ผอ. ก็เอ่ยชม อ.บัวอยู่ไม่ขาดปาก  รวมถึงคณะครูทุกท่านที่ร่วมแรงแข็งขันอย่างไม่รู้จักเหนื่อย
  • ผมมีความสุขจริง ๆ นะครับที่ได้เห็นสถานศึกษาและชุมชนที่เป็นสถานีชีวิตการเรียนรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกันเช่นนี้
  • สวัสดีครับ
    P
    (พี่ใหญ่ใจดี)
  • ผมเบี้ยวงาน ยังไม่ได้เขียนบันทึกเรื่องสมุดกิจกรรมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เลย..แย่จัง...
  • เจ้แกบอกว่ายิ่งใช้พลังงานเยอะ  ยิ่งต้องกินเข้าไปชดเชยให้เยอะ ๆ...ยังไงก็อ้วนกลม.. ๆ
  • เหตุการณ์ภาคใต้เมื่อ 18  ก.พ. ที่ผ่านมา  ผมเศร้าใจมาก  นั่งดูข่าวรายงานสดแล้วสะท้อนใจไม่หาย...ส่งกำลังใจ และภาวนาอยู่เสมอ  ให้ความสงบสุขมาเยือนในเร็ววัน 
  • คิดถึงบ้านมากเหรอน้องนุ้ย
    P
  • คิดถึงบ้านพอ ๆ กับคิดถึงคนพากลับบ้านหรือเปล่า
  • คิดถึงบ้าน...ก็แสดงว่าที่บ้านยังไม่ใกล้ตัวเมืองเท่าไหร่ล่ะสิ...(จะมากาฬสินธ์พลาซ่าแต่ละที..ไกลน่าดูใช่มั๊ย)
  • หนูรักที่นี่  เพราะที่นี่คือบ้าน  และที่นี่คือโรงเรียน .. หนูไม่กลัวความยากจน  เพราะหนูเกิดมาจากความยากจน..
  • น่าภูมิใจแทน  "ปุ๋ม" เจ้าของคำพูดนี้นะคะ
  • บันทึกของอาจารย์มีคุณค่ามากค่ะ น่าภูมิใจแทนชาวเม็กดำนะคะ
  • สวัสดีตอนดึกครับ
    P
    อ. Panda
  • คราวหน้าจะเรียนเชิญไปเป็นเกียรติร่วมกับเรา  เพราะที่เม็กดำมีการจัดการความรู้ที่น่าทึ่งมากครับ
  • สวัสดีครับ
    P
  • ยินดีมากครับ หากบันทึกของผมจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์เม็กดำให้เป็นที่รูจักในวงกว้างยิ่ง ๆ ขึ้นไป
  • แต่อันที่จริงดังที่ทราบดีอยู่แล้วว่า เม็กดำมีตัวตนและสถานะเช่นนี้ด้วยตัวเอง  โดยอาจไม่จำเป็นต้องประโคมข่าวใด ๆ อีกเลยก็ได้
  • เด็กนักเรียนทั้ง 3 คนที่ได้คุยด้วยในวันนั้น  ผมยอมรับว่าเป็นเด็กที่มีความคิดที่น่าสนใจ มีการหลัก  มีมุมมองที่ลึกซึ้งต่อชีวิตมาก
  • เสียดายที่ผมไม่อาจนำชีวิตของทั้ง 3 มาเขียนถึงในบันทึกนี้ได้อีก
  • ขอบคุณ อาจารย์มากนะครับ
ธรรมาสน์งามมากครับ ลวดลายและหลังคาที่สานด้วยไม่ไผ่งดงามมากจริง ๆ
  • ดีใจจังที่คุณออตเข้ามาเยี่ยมชนจนได้
  • ด้านบนนั้นของเก่าทั้งหมด...ส่วนลวดลายที่เขียนบนไม้  พ่อใหญ่ดา ท่านเขียนสีและแต่งลายเอง  (เห็นบอกว่าเอาสนุก)
  • ขอบคุณครับ
ออตมองเรื่องความสนุกที่ปะปนอย่าลงตัวกับควมเชื่อนั้นเป็นธรรมชาติของศิลปะพื้นบ้านครับ ขอบคุณอาจารย์มากครับ กับเรื่องเล่าที่มีคุณค่าต่อวงการศิลปะวัฒนธรรมของภูมิภาค
ได้รับความรู้มากมายจากการเข้ามาอ่านและได้สัมผัสกับสิ่งดีๆที่นับวันจะหาไม่ค่อยพบนัก...ชอบมากค่ะซึ้งคำพูดของเด็กๆนะคะบริสุทธิ์และจริงใจจัง...ขอบคุณมากๆที่คุณแผ่นดินได้เล่าเรื่องราวดีๆอยู่ตลอดค่ะ...และอยากเห็นโรงเรียนดีๆแบบนี้อยู่ทั่วประเทศไทยค่ะ
  • comeback แล้วค่ะ  เอาชีวิตตัวเองกลับมา(จากไข้) ได้แล้วค๊า...ขอบพระคุณในความเป็นห่วงของทุกๆท่านนะคะ
  • ดีใจที่ น้องออต  แวะมาดูธรรมาสน์เสาเดียวในblog นี้แล้ว  ยังไงก็เชิญมาบ้านเม็กดำนะคะ  ของจริงสวยมากค่ะ
  • คุณออตครับ
    P
  • ทันทีที่เห็นธรรมาสน์นี้ ผมและคุณหนิง  รำพึงตรงกันในทันใดว่าอยากให้คุณออตมาเยี่ยมชมจังเลย  คงสามารถต่อยอดและช่วยเหลือชาวบ้านได้เป็นอย่างดียิ่ง
  • เบื้องต้น  ผมเริ่มขยับเข้าหาหน่วยงานใน มมส บ้างแล้ว เผื่อบางที่ มมส อาจจะลงพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจิงจังสักครั้ง
  • คุณ โก๊ะ  ครับ...
  • ผมมีความสุขเป็นที่สุดเมื่อได้ไปเรียนรู้และสัมผัสเรื่องเหล่านี้ที่เม็กดำ  ถึงแม้เป็นช่วงสั้น ๆ แต่ประทับใจอย่างเป็นที่สุด
  • และตั้งใจว่าจะพานิสิตไปที่เม็กดำสักครั้ง...ไปเรียนรู้ให้เห็นกับความเข้มแข็งของผู้คน ไปให้พบกับความพอเพียงที่หล่อเลี้ยงผู้คนได้อย่างไม่สะทกสะท้าน  ..ไปให้นิสิต ได้เห็นนักเรียนที่มีไฟฝันในการต่อสู้ชีวิตอย่างไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคอันเป็นความยากจน...
  • ขอบคุณมากนะครับ
  • เห็นหายเงียบไป  มารู้อีกทีจากน้องเอกจึงทราบว่าหวนกลับไปเป็นไข้อีกครั้ง
    P
  • หายวันหายคืนนะครับ...
  • พรุ่งนี้คงได้เจอและคุยกันบ้าง...กระมัง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท