บันทึกครั้งที่ ๑๗ ปัญหาที่พบจากการยื่นเสียภาษีทางอินเทอร์เน็ต


ปัญหานี้ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีไม่ดี แต่เนื่องจากภาครัฐเองยังไม่ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ในการรับและส่งข้อมูล รวมถึงมีระบบตรวจสอบความถูกต้อง ดังนั้น ภาครัฐควรมีการศึกษาสร้างความเข้าใจในตัวเทคโนโลยีและการทดลองนำมาใช้เพิ่มเติมในกิจการบางอย่าง มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงใช้กลวิธีอื่นประกอบกัน

เดิมผมตั้งใจว่าเพื่อเป็นการปรับปรุงแก้ไขให้ต่อเนื่องจากบันทึกฉบับก่อน โดยจะทำโครงสร้างไดอะแกรมความสัมพันธ์ของปัญหาด้านเทคโนโลยี WLAN ว่าเชื่อมโยงกับหน่วยงานหรือบุคคลใดบ้าง และข้อกฎหมายหรือนโยบายที่ควรสนับสนุนและที่ใช้สำหรับป้องกันหรือลงโทษควรมีตรงจุดใด  นำมาแสดงให้ดู  แต่เกรงว่าจะไม่ถูกต้อง จึงขอยกไว้ในสัปดาห์หน้าครับ

ในสัปดาห์นี้ขอกล่าวถึงข่าวนี้ก่อนครับ จาก http://www.thairath.co.th/news.php?section=economic&content=37145

ลุยจับขบวนการโกงภาษีทางอินเตอร์เน็ต สรรพากรขู่ฟ่อล้างคุกรอ วันที่ 16 ก.พ.50

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ของปีบัญชี 2548 หรือเสียภาษีทางอินเตอร์เน็ต ที่มายื่นแบบแสดงรายการภาษีระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. 2549 พบว่ามีการกระทำการทุจริตโดยขอคืนภาษีเท็จ   โดยมีการหลอกลวงประชาชนประมาณ 10,000 คน รวมเป็นเงินที่ขอคืนภาษี 43 ล้านบาท ให้มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคล ทั้งแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด.91 กับกรมสรรพากรจนทำให้เกิดความเสียหาย เพราะเป็นการขอคืนภาษีที่ไม่ถูกต้อง จึงมีความผิดทางอาญาฐานร่วมกันฉ้อโกงหรือพยายามฉ้อโกงเงินภาษีอากรของรัฐ มีความผิดตามมาตรา 341 มาตรา 80 และมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีความผิดในการใช้เอกสารเท็จ จำคุก 6 เดือนปรับไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

รูปแบบการโกงภาษีทางอินเตอร์เน็ตในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 โดยมีประชาชนเข้ามาเกี่ยวมากที่สุดถึง 10,000 คน โดยได้ยื่นภาษีแบบ 90 และ 91 ในปี 2549 เป็นเท็จ ภายหลังจากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตรวจพบว่าชื่อและที่อยู่ของผู้รับเช็ค ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่เดียวกันหลายฉบับ จึงเกิดข้อสงสัย และได้ประสานงานกับดีเอสไอ เพื่อเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงพบว่ามีประชาชนที่เป็นพนักงานโรงงาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และอาชีพลูกจ้างจำนวนมากร่วมกันยื่นภาษีเท็จ เพื่อขอคืนภาษีจากกรมสรรพากร โดยมีหัวหน้าเป็นแกนนำในเรื่องนี้ 10 คน หรือแบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม ซึ่งขณะนี้ตามจับกุมหัวหน้ากลุ่มที่กระทำความผิดได้แล้ว 9 คน และมีประชาชนที่ขอคืนภาษีเท็จทยอยนำเงินมาคืนกรมสรรพากรแล้ว และมีส่วนหนึ่งที่กรมสรรพากรได้สั่งอายัดเช็คไว้ได้ทัน 6,700 ราย เป็นเงิน 22 ล้านบาท ส่วนที่ยังขาดอยู่ 21 ล้านบาท กรมสรรพากรและดีเอสไอกำลังติดตามเงินดังกล่าวกลับคืนมา”        นายศานิตกล่าวว่า วิธีการโกงเงินคืนภาษีน่าจะเกิดจากความบังเอิญของหัวหน้ากลุ่มที่กรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปในอินเตอร์เน็ตแบบไม่ตั้งใจ แต่เมื่อการคำนวณของคอมพิวเตอร์ระบุว่าได้ภาษีคืน และก็ได้คืนจริงๆด้วย จึงหัวใสขึ้นมาว่าทำแบบนี้ จะได้เงินจากกรมสรรพากร จึงไปรวบรวมพรรคพวก คนรู้จัก หรือไปหลอกสาวโรงงานว่า รัฐมีเงินพิเศษคืนแก่คนโสดหรือช่วยเหลือน้ำท่วม แล้วก็กรอกข้อมูลส่วนตัวที่ผิดๆลงในอินเตอร์เน็ต หลังจากนั้นกรม สรรพากรก็ส่งเช็คถึงที่บ้าน แล้วนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินกับธนาคาร แล้วไปแบ่งกัน เช่น เงินคืนภาษี 3,000 คน จะถูกหักไว้เป็นค่าตอบแทน 500 บาทเป็นต้น ทั้งๆ ที่คนที่ยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตมีรายได้ ไม่ถึงขั้นที่จะต้องเสียภาษีเงินบุคคลธรรมดา   นายศานิตกล่าวว่า ปัจจุบันคนโสดที่มีรายได้ ไม่ถึง 14,600 บาทต่อเดือนไม่ต้องยื่นแบบภาษี แต่ถ้ามีรายได้ตั้งแต่ 14,600 บาท แต่ไม่เกิน 23,000 บาทต่อเดือนต้องมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเพื่อแสดงรายการภาษีกับกรมสรรพากรแต่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะกรมสรรพากรได้ยกเว้นภาษีและหักค่าลดหย่อนต่างๆ ให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในกรณีดังกล่าว ประชาชนทั้ง 10,000 คน มีรายได้ไม่ถึง 14,600 บาท แต่กลับถูกหลอกว่า จะได้รับการคืนภาษีจากรัฐบาล โดยกำหนดให้มีรายได้มากกว่า 23,000 บาทต่อเดือน และมีค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนจำนวนมากถึงขั้นต้องรับการคืนภาษีจากกรมสรรพากร.

ความคิดเห็น 

ข่าวการทำทุจริตแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเกิดจากความไม่ซื่อสัตย์และความโลภของคน อาศัยช่องโหว่ของเทคโนโลยี กระทำการผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาในข่าวที่ได้กล่าวไว้แล้ว  ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีไม่ดี  แต่เนื่องจากภาครัฐเองยังไม่ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ในการรับและส่งข้อมูล รวมถึงมีระบบตรวจสอบความถูกต้อง  รัฐไม่กล้าที่จะใช้และยังไม่ยอมรับการใช้ดังเช่นระบบเทคโนโลยีการรับ-ส่งเอกสารหลักฐานผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการตรวจสอบ เพราะกลัวการปลอมแปลง ไม่มั่นใจว่าเป็นของบุคคลดังกล่าวจริง กลัวว่าระบบไม่ปลอดภัยแล้วจะมีการลักลอบนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด ฯลฯ  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ณ ปัจจุบันระบบดังกล่าวได้รับการพัฒนาและรับรองคุณภาพมาตรฐานในระดับที่มีการใช้แพร่หลายมากขึ้นในต่างประเทศ และในประเทศไทย ก็มีภาคเอกชนบางแห่งได้นำมาใช้ดำเนินการบางอย่างในการบริหารกิจการธุรกิจ ตัวอย่างระบบความปลอดภัยที่มีการพัฒนาขึ้นใช้งาน เช่น การเข้ารหัสระดับสูง , การส่งกุญแจไขเอกสารระหว่างผู้รับและผู้ส่งเท่านั้นที่จะได้รับโดยเป็นคียสำหรับรับเท่านั้น หรือเป็นคีย์สำหรับเปิดเท่านั้น , ลายเซนต์อิเล็กทรอนิกส์ที่ระบุความเป็นตัวบุคคลแบบมีรหัสยืนยัน เป็นต้น  ดังนั้น ภาครัฐควรมีการศึกษาสร้างความเข้าใจในตัวเทคโนโลยีและการทดลองนำมาใช้เพิ่มเติมในกิจการบางอย่าง มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงใช้กลวิธีอื่นประกอบกัน ตัวอย่างการตรวจสอบ เช่น หมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้เป็นตัวบอกตำแหน่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาใช้งานในระบบบริการ ซึ่งหากมีการกระทำที่ผิดปกติ หรือ หน่วยงานรัฐต้องการตรวจสอบย้อนกลับไปที่อยู่ของผู้ใช้  ก็สามารถทำได้ เป็นต้น

 การป้องกันนั้น ปัจจุบันมีกฎหมายอาญาลงโทษอยู่แล้ว ซึ่งอาจต้องรอกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์อีกฉบับก็น่าจะเพียงพอ ในขณะเดียวกันควรส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐได้รับความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐ อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการที่รวดเร็วถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือของข้อมูล และหาวิธีตรวจสอบและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

หมายเลขบันทึก: 79003เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2007 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่มเติมข้อมูล

ตัวอย่างข้อความในกฎหมาย ที่มีการกล่าวถึงความน่าเชื่อถือของการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการส่งข้อมูลและการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ๒๕๔๗

ข้อ 4 "... สำหรับการส่งข้อมูลทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แบบเข้ารหัสลับให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และจะใช้เมื่อใดและให้ถือวันใดเป็นวันที่ส่งข้อมูล ให้เป็นไปตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานประกาศกำหนด  ประกาศตามวรรคสองอาจกำหนดขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการส่งข้อมูลทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แบบเข้ารหัสลับได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์"

และอีกเรื่องหนึ่ง ทราบว่าปัจจุบันมีกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีกฎหมายที่จะให้ภาครัฐดำเนินการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้ว่าพ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 จะให้การรับรองให้หน่วยงานของรัฐสามารถรับคำขอ  การอนุญาต  การจดทะเบียน  หรือการดำเนินการใดๆ ของประชาชนทั่วไปหรือผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ยื่นคำร้องหรือคำขอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือยื่นคำขอในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผลที่สำคัญคือการกระทำข้างต้นนี้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการกระทำในรูปแบบเดิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท