สร้างสันติด้วยมือเรา : การดูแลความโกรธ (ตอนที่ ๒)


สร้างสันติด้วยมือเรา : การดูแลความโกรธ (ตอนที่ ๒)

เขียนโดย Shari Klein and Neill Gibson

แปลโดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์



ถึงครึ่งทางแล้ว

ในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผ่านมา คุณทำความเข้าใจกับตัวเอง ในขั้นที่ 2 คุณกลับไปดูให้ชัดว่าอีกฝ่ายทำอะไร ขั้นที่ 3 คุณรับผิดชอบต่อความรู้สึกของคุณเอง ขั้นที่ 4 คุณรับผิดชอบต่อความคิดของตนเองและเริ่มมองความรู้สึกและความต้องการอย่างลึกซึ้ง คุณเลือกที่จะใช้ความคิดของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ รู้แน่ชัดว่าคุณให้คุณค่ากับสิ่งใด ในขั้นที่ 5 คุณสัมผัสกับความเต็มเปี่ยมของชีวิตมากขึ้น เพราะคุณรู้ว่าคุณมีความต้องการอะไร


ในขั้นต่อ ๆ ไป คุณจะดูว่าใครจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ความต้องการของทุกคนได้รับการตอบสนอง ในขั้นที่ 6 คุณจะเริ่มคิดถึงการกระทำที่จะทำให้บรรลุถึงความต้องการนั้น



ขั้นที่ 6 หาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำว่า "ไม่"

เมื่อเรากำลังโกรธ เรามักคิดแต่ว่าอีกฝ่ายไม่ควรทำพฤติกรรมเช่นนั้นเช่นนี้ ลองเปรียบเทียบดูกับเวลาที่คุณอยากให้ความร้อนของรถคุณลดลง ถ้าคุณแค่อยากโดยไม่หาวิธีแก้ไข ความร้อนก็ไม่มีทางลดลงได้ คุณต้องหาจุดที่เสียแล้วรีบซ่อม


ผู้บริหารในตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว อาจจะรู้แล้วว่า เขาต้องการความไว้ใจและความน่าเชื่อถือ เวลาที่นำเสนองาน เขาต้องการให้เริ่มต้นการนำเสนองานอย่างตรงเวลาและมีเอกสารที่สามารถใช้ได้ดี ถ้าเขาพูดอย่างคนทั่ว ๆ ไป เขาก็อาจจะบอกลูกน้องคนนั้นว่า "อย่ามาสาย แล้วก็อย่าเอาเอกสารที่มีกาแฟหกใส่มาแจก" แต่ปัญหาก็คือ ลูกน้องคนนั้นอาจไม่มาเลย หรือ มาแต่ไม่เอาเอกสารมาแจกเลย


ถ้าผู้บริหารคนนี้ใช้คำขอร้องในแง่บวก ความต้องการของเขาจะมีโอกาสได้รับการตอบสนองมากกว่า คำขอในแง่บวกนี้จะบอกชัดเจนว่าการกระทำใดที่ทำให้ความต้องการของเขาได้รับการตอบสนอง เช่น "คุณจะช่วยโทรหาผม 30 นาทีก่อนการประชุมได้ไหม ผมจะได้รู้ว่าคุณจะมาทันเวลาหรือไม่ แล้วช่วยใส่เอกสารในซองกันน้ำทันทีที่ได้มาด้วยได้ไหม" มุ่งความสนใจไปในสิ่งที่คุณต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่คุณไม่ต้องการ


ขั้นที่ 7 คิดหาคำขอร้องที่ชัดเจน

        คุณได้เห็นแล้วว่าเมื่อคนกำลังโกรธ เขามักคิดว่าคนอื่นทำให้เขาโกรธ ตอนนี้คุณคงเห็นได้ว่า คุณมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงความเข้าใจผิดนี้ ไม่ว่าใครก็ตามสามารถนำพลังนี้มาทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ในขั้นนี้เราจะเรียนรู้วิธีการขอร้องสิ่งที่ทำได้จริง ในปัจจุบัน


"ผมขอให้คุณทำตัวให้น่าเชื่อถือมากขึ้น" คำขอร้องเช่นนี้ไม่ชัดเจนและไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เราจะลองมาคิดหาคำขอร้องที่อีกฝ่ายสามารถปฏิบัติได้ทันที และเป็นการกระทำที่จะตอบสนองความต้องการของคุณได้ ลองถามตัวเองดูว่า ตอนนี้อีกฝ่ายจะทำหรือพูดอะไร ที่จะเป็นการเคารพต่อความต้องการของคุณ


เช่น พนักงานคนหนึ่งไม่ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นเวลาหลายปี เธอรู้ดีว่าความต้องการด้านการเป็นที่ยอมรับและความเคารพของเธอไม่ได้รับการตอบสนอง เธอรู้ชัดว่าควรจะพูดให้เจ้านายเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น เธอมีความรู้สึกอย่างไรและมีความต้องการอย่างไร ตอนนี้เธอกำลังคิดว่าจะขอร้องอย่างไรให้มีความชัดเจนและเป็นบวก เธอคิดว่าประโยคขอร้องต่อไปนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี "หัวหน้าจะช่วยพิจารณาสองโครงการที่ดิฉันทำสำเร็จในปีนี้ และเป็นโครงการที่หัวหน้าเห็นว่าช่วยพัฒนาสถานะด้านการตลาดของบริษัทได้ไหมคะ"


แต่เธอฉุกคิดได้ว่า คำขอร้องเช่นนี้เป็นการขอร้องเรื่องที่จะทำในอนาคต เพื่อเป็นการสื่อสารกับหัวหน้าในปัจจุบันเธอต้องการเปลี่ยนคำขอร้องนี้เป็นสิ่งที่หัวหน้าทำได้ทันที เธอถามตัวเองว่าแล้วหัวหน้าจะทำอะไรได้บ้างในทันที


เธอคิดแล้วเห็นว่ามี 2 คำขอร้องที่หัวหน้าสามารถตอบได้ทันที คำขอแรกขึ้นต้นด้วย "หัวหน้าจะช่วยตกลงว่า...." คำขอนี้สร้างข้อตกลงทันทีว่าหัวหน้าจะทำอะไรบ้างในอนาคต ผู้ที่ถูกขอสามารถให้คำตอบได้ในทันที เธอยังขออีกว่า ".....ภายในอาทิตย์หน้าได้ไหมคะ" คำขอนี้สร้างความกระจ่างว่าเวลาที่ตกลงกันนั้นคือเมื่อไร ประโยครวมของคำขอนี้คือ "หัวหน้าจะช่วยตกลงได้ไหมคะว่า ภายในอาทิตย์หน้าจะพิจารณาโครงการสัก 2 โครงการที่ดิฉันทำสำเร็จในปีนี้และหัวหน้าเห็นว่าเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาสถานะด้านการตลาดของบริษัทได้มาก"



ขั้นที่ 8 ให้ชื่อความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่าย
        ทุก ๆ สถานการณ์มี 2 ด้าน เหมือนเหรียญที่มี 2 หน้า ถ้าคุณต้องการให้ความต้องการของคุณได้รับการตอบสนอง สำคัญมากที่ความต้องการของอีกฝ่ายจะได้รับการตอบสนองด้วยเช่นกัน ขั้นที่ 8 นี้เป็นการทำความเข้าใจว่า ความต้องการของคุณจะไม่ได้รับการตอบสนองอย่างแท้จริง ถ้าคนอื่นต้องเสียสละความต้องการของเขาเพื่อคุณ มันเหมือนกับการส่องสว่างความรู้เท่าทันไปที่ความรู้สึก ความต้องการและคำขอร้องของคุณ แล้วก็ส่องสว่างไปที่คนอื่น ๆ ในชีวิตคุณเช่นกัน


เราสามารถใช้ขั้นที่ 2 ถึง 7 ในใจเพื่อคาดคะเนความรู้สึก ความต้องการของอีกฝ่ายได้ด้วย ข้อสำคัญคือ เราคาดคะเนโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกต้องหรือไม่ แค่เพียงพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อจะเข้าใจความต้องการและความปรารถนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของอีกฝ่าย


โปรดระลึกไว้ว่า จนถึงขั้นนี้คุณยังไม่ได้พูดอะไรออกมาเลย ทุกขั้นที่ผ่านมาเป็นการไตร่ตรองอยู่ภายใน


ลองคาดคะเนความรู้สึกของอีกฝ่าย แปลความคิด เช่น "เขาเป็นจอมบงการ" ดูสิว่าเบื้องหลังการบงการนั้นเขาต้องการอะไร เขาอาจจะต้องการความงดงามและระเบียบในการใช้ชีวิต (เขาจึงบอกให้คุณหยิบถุงเท้าที่ใส่แล้วบนพื้นไปเก็บที่เสีย) หรือถ้าแฟนของคุณบ่นว่าคุณใช้เวลากับเพื่อนมากเกินไป เขาอาจต้องการการเอาใจใส่ การดูแล หรือความรัก ถึงตอนนี้แม้คุณจะยังไม่ได้พูดกับอีกฝ่าย แต่ความคิดที่มีต่อเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว แทนที่จะมองเป็นเขาเป็นศัตรู คุณมองเขาอย่างอ่อนโยนด้วยความกรุณา เห็นว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความต้องการ และต้องการทำให้ชีวิตเป็นสุขมากขึ้นด้วยการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

ขั้นที่ 9 ใครจะพูดก่อน
      มองให้กว้าง และคิดว่าในที่สุดความต้องการของทุก ๆ คนจะได้รับการตอบสนอง และได้รับการเคารพ จะไม่มีใครได้เปรียบอีกฝ่าย กระบวนการนี้จะจบลงที่ทุก ๆ คนได้รับการรับฟัง ความเข้าใจ และพอใจด้วยกันทุกฝ่าย กระบวนการจะยังไม่เสร็จสิ้น ถ้ามีคนเพียงคนเดียวที่ได้รับการรับฟังและความเข้าใจ


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ มีเพียงคน ๆ เดียวที่จะได้รับการรับฟัง ดังนั้นลองถามตัวคุณดูหลาย ๆ คำถามว่า ใครจะเป็นคนพูดก่อนและใครจะเป็นคนฟังก่อน คุณอยากพูดแสดงความรู้สึก ความต้องการ แล้วเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายรับฟังก่อน หรือคุณอยากแสดงความเข้าใจโดยรับฟังอีกฝ่ายก่อน ลองดูว่าใครเป็นทุกข์มากกว่า ใครมีความกระจ่างชัดมากกว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนที่มีความชัดเจนมากกว่าเป็นฝ่ายตั้งใจฟังความรู้สึก ความต้องการของฝ่ายที่เป็นทุกข์มากกว่า เมื่อได้รับการรับฟังแล้ว คนที่เป็นทุกข์มักจะรู้สึกสบายใจและมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้พร้อมที่จะรับฟังความต้องการของคุณ


ไม่ว่าจะฟังก่อนหรือหลัง คุณจะเป็นฝ่ายที่ฉายความรู้เท่าทันในระหว่างการสนทนา คุณจะเป็นคนที่ใส่ใจว่าความรู้สึก ความต้องการ และคุณค่าคืออะไร และดูว่าจะระบุความต้องการของใครก่อน ถ้าคุณเป็นฝ่ายพูดก่อน คุณจะบอกให้อีกฝ่ายทราบถึงความรู้สึก ความต้องการ และคำขอร้องที่คุณไตร่ตรองมาก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าคุณเลือกที่จะรับฟังก่อน คุณจะเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายพูดถึงความรู้สึก ความต้องการ และคำขอร้อง ซึ่งคุณได้คาดคะเนไว้ล่วงหน้าในขั้นที่ผ่านมา


ขั้นที่ 10 เริ่มต้นการสนทนา
        ถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้ก่อนเริ่มการสนทนากับอีกฝ่าย คุณเห็นชัดหรือยังว่าคุณมีปฏิกิริยาต่อต้านกับอะไร คุณรู้ถึงความรู้สึกและความต้องการของคุณแล้วหรือยัง คุณคาดคะเนได้หรือยังว่าอีกฝ่ายมีความรู้สึก ความต้องการ และคุณค่าอะไร คุณรู้ไหมว่าคุณต้องการให้เกิดผลอะไรในขั้นต่อไป เอาล่ะ ตอนนี้ถึงเวลาที่คุณจะเริ่มสนทนาได้แล้ว ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำบางประการว่าจะพูดอะไรและไม่พูดอะไรดี


ข้อแรกคือ ไม่พูดสิ่งที่อยู่ในข้อ 3 เพราะสิ่งที่อยู่ในข้อ 3 นั้นเป็นความคิดเชิงกล่าวโทษ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความโกรธขึ้นตั้งแต่ตอนแรก ขอให้ใช้ขั้นที่ 2 และอธิบายสิ่งที่สังเกตเห็นให้ชัด "ฉันกำลังคิดถึงเรื่องที่คุณไปค้างบ้านเพื่อนอาทิตย์ละ 3 วัน" แล้วใช้ขั้นที่ 4 เพื่อบอกว่าคุณรู้สึกอย่างไร ขอให้ความรู้สึกนั้นเป็นความรู้สึกที่ออกจากใจ หรือความรู้สึกทางกาย เช่น "ฉันรู้สึกเหงาและเสียใจ" โปรดระวังเวลาที่คุณเริ่มต้นประโยคว่า "ฉันรู้สึกว่า..." หรือ "ฉันรู้สึกว่าคุณ..." เตือนตัวเองว่าถ้าเริ่มประโยคเช่นนี้ สิ่งที่ตามมามักจะเป็นการกล่าวโทษหรือความคิด ซึ่งมักจะไม่ทำให้คุณได้รับสิ่งที่คุณต้องการ โปรดระลึกไว้ว่า เราจะพูดแสดงความรู้สึกทางกายหรือใจ ไม่ใช่คิดวิเคราะห์หรือกล่าวโทษ


เมื่อคุณให้ชื่อความรู้สึกที่มาแทนที่ความโกรธ และเป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับความต้องการของคุณได้แล้ว ขอให้คุณพูดความต้องการของคุณออกมา ("ฉันรู้ว่าฉันต้องการมีคนอยู่เป็นเพื่อนมากกว่านี้") แล้วจึงขอร้องสิ่งที่จะเอื้อให้เกิดการตอบสนอง อันจะช่วยให้ชีวิตคุณเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น ระลึกไว้ว่าขอในสิ่งที่อีกฝ่ายจะสามารถทำได้ทันที ("คุณจะรับปากว่า จะใช้เวลาคืนวันอังคารกับวันเสาร์กับฉันได้ไหม")


อีกฝ่ายอาจจะต้องการให้เราเข้าใจความต้องการของเขาเช่นกัน แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เขายังไม่ผ่านกระบวนการภายในมาเช่นคุณ เขาอาจก้าวข้ามไปขั้นที่ 3 ทันที เช่น อาจพูดว่า "คุณมันเห็นแก่ตัวทุกที คิดถึงแต่ตัวเอง" เขาอาจพูดแต่คำกล่าวโทษ ที่คุณพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด ขอให้คิดว่าไม่เป็นไรคุณรับได้อยู่แล้ว ขอให้เลือกที่จะฟังทุกอย่างที่เขาพูดอย่างเข้าใจ ใส่ใจกับความรู้สึกและความต้องการของเขา คาดคะเนดูว่าเขาอยากให้คุณทำอะไร "คุณรู้สึกกังวลใจ (ความรู้สึก) อยากได้ความเห็นใจในความต้องการของคุณ (ความต้องการ) แล้วอยากรู้ว่าฉันจะตกลงทำตามความต้องการนั้น (การกระทำ) ได้รึเปล่า"


การบอกอีกฝ่ายว่าคุณรับรู้ถึงความต้องการของเขาต่างจากการตอบตกลงที่จะทำตามเขา การรับฟังความต้องการของอีกฝ่ายทำให้คุณเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของเขาจริง ๆ คุณจะแปลกใจว่า เขาจะไว้ใจคุณเร็วเพียงใด นี่เป็นเพราะเขาจะรู้สึกว่าความต้องการของเขาสำคัญสำหรับคุณ ผลก็คือเขาอาจเปิดใจมาดูความต้องการของคุณได้มากขึ้น เขายังจะสามารถเปิดรับกับวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ความต้องการของเขาบรรลุผลได้มากขึ้น




มาทบทวนกันหน่อย

     ในขั้นที่ 1-3 คุณเรียนรู้วิธีใหม่ ๆ เพื่อให้คุณเข้าใจและกลับมามองความโกรธได้

          ในขั้นที่ 1 คุณเรียนรู้ว่า ความโกรธเป็นสัญญาณเตือนอันมีค่า มันช่วยสะกิดให้คุณหยุดและหันกลับมามองดูว่าความรู้สึกและความต้องการของคุณคืออะไร และยังช่วยให้คุณเริ่มที่จะมองว่าอะไรทำให้ชีวิตคุณเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น

          ขั้นที่ 2 คุณเรียนรู้ที่จะดูให้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ โดยปราศจากการตัดสินกล่าวโทษ

         ขั้นที่  3  คุณรู้ว่าความรู้สึกของคุณเกิดขึ้นเนื่องมาจากความต้องการของคุณได้รับหรือไม่ได้รับการตอบสนอง ความรู้สึกของคุณไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้อื่นแต่อย่างใด

         ในขั้นที่  4  คุณรับผิดชอบความคิดของคุณเอง  และหันจุดสนใจมาที่ความรู้สึกและความต้องการของคุณ

        ขั้นที่  5  คุณรู้สึกได้ว่าชีวิตเต็มเปี่ยมมากขึ้น  เพราะคุณสัมผัสกับความต้องการของตัวเอง และตระหนักว่า  คุณสามารถทำอะไรในแง่บวกที่จะส่งผลให้ความต้องการของคุณได้รับการตอบสนองได้

         ขั้นที่ 6 และ 7 คุณเริ่มจินตนาการถึงการกระทำในแง่บวก ซึ่งเอื้อให้ความต้องการของคุณได้รับการตอบสนองได้ทันที

         ขั้นที่ 8 คุณหันมาใส่ใจกับคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณพยายามเข้าใจ ความรู้สึกและความต้องการของเขา และดูว่ามีการกระทำอะไรที่จะเอื้อให้ความต้องการของเขาได้รับการตอบสนองบ้าง

         ขั้นที่ 9 คุณเลือกว่าใครจะเป็นผู้เริ่มพูดก่อน ระลึกไว้ว่า คุณสามารถสนทนาต่อไปได้เรื่อยๆ จนความต้องการของทุกคนได้รับการตอบสนอง ด้วยการกระทำที่ทุกคนเต็มใจที่จะทำ

           ขั้นที่ 10 ขั้นสุดท้าย คุณเริ่มลงมือปฏิบัติ เริ่มสนทนาอย่างสร้างสรรค์ ผลัดกันพูดแสดงความรู้สึกและรับฟังความรู้สึกของอีกฝ่าย คุณจับความรู้สึกดูว่าคุณรู้สึกเช่นไร ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนความต้องการของทุกคนได้รับการตอบสนอง ด้วยการตกลงจะทำในสิ่งที่ทุกคนเต็มใจ

บทสรุป

         ในทุกๆขณะเราทุกคนมีชีวิตอยู่โดยมีความต้องการและคุณค่าต่าง ๆ ทั้งความต้องการและคุณค่าต่างก็หาหนทางเปิดเผยตัวออกมาให้เรารู้ เราต่างก็อยากที่จะใช้ชีวิตให้เป็นไปตามคุณค่าของเรา และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตตามคุณค่าของเขา สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบังคับ ทุกชั่วขณะคุณสามารถใช้ความจริงใจและความเข้าใจ เพื่อทำให้ความต้องการของคุณบรรลุผล และให้คุณค่าต่าง ๆ ที่คุณเชื่อถือปรากฏเป็นจริงในชีวิต การฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนทั้ง 10 นี้ จะช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงความโกรธ เป็นความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความกรุณาอย่างแท้จริง

หนังสือเล่มนี้ใช้หลักการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย ดร. มาแชล โรเซนเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ ชาริ ไคล์น และ นีลล์ กิ๊บสัน โดยมี แกรี บาราบ และซิลเวีย ราสคาวิทซ์ จาก The Center for Nonviolent Communication เป็นบรรณาธิการ


คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 78132เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท