สร้างสันติด้วยมือเรา : การดูแลความโกรธ (ตอนที่ ๑)


 

สร้างสันติด้วยมือเรา : การดูแลความโกรธ (ตอนที่ ๑)

 

เขียนโดย Shari Klein and Neill Gibson

แปลโดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์

 

เพราะอะไรเราจึงโกรธ 10 ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงความโกรธ
ใช้หลักการสื่อสารอย่างสันติ

โดย ชาริ ไคล์น และ นีล กิ๊บสัน

 

What's Making You Angry? 10 Steps to Transforming Anger So Everyone Wins.

 

A presentation of Nonviolent Communication ideas and their use

by Shari Klein and Neill Gibson

 

แปลโดยไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์


บทนำ



ขณะที่เรากำลังโกรธ มีสามสิ่งเกิดขึ้น คือ


1  เรากำลังไม่พอใจ  เพราะความต้องการบางอย่างของเราไม่ได้รับการตอบสนอง

2  เรากำลังโทษใครบางคนหรืออะไรบางอย่างว่าทำให้เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ

3  เรากำลังจะพูดหรือทำอะไรบางอย่าง  ที่เกือบจะแน่นอนว่าถ้าทำไปแล้วเราจะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการหรือไม่ก็ต้องมาเสียใจภายหลัง

เมื่อเรากำลังโกรธ  เรามักพุ่งความสนใจเกือบทั้งหมดไปในที่สิ่งที่เราไม่ต้องการ เรามักคิดแต่ว่าคนอื่นทำผิดอย่างไรบ้าง  เราลืมไปเสียสนิทว่า  จริงๆ  แล้วเราต้องการอะไร ขั้นตอน  10  ข้อต่อไปนี้  จะช่วยให้คุณเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นที่ว่า  และช่วยให้คุณหันกลับมาเห็นคุณประโยชน์ของความโกรธ คุณจะค้นพบว่า  ความโกรธนี้มาจากไหน  และเรียนรู้การแสดงความโกรธออกมา ในวิถีทางที่จะทำให้ทั้งความต้องการของคุณและผู้อื่นได้รับการตอบสนอง คุณสามารถใช้ขั้นตอนเหล่านี้ในการปรับความสนใจขณะตกอยู่ในความโกรธและความขัดแย้ง พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจสำหรับทุกฝ่าย

ขั้นที่ 1 คิดว่าความโกรธเป็นเหมือนสัญญาณเตือน

ความโกรธก็เป็นเหมือนไฟเตือนบนหน้าปัดรถ  เมื่อคุณเห็นสัญญาณเตือน คุณจะรีบใส่ใจดูว่ามีอะไรผิดปกติในรถแล้วรีบแก้ไข  เมื่อแก้ไขแล้ว  คุณก็จะสามารถขับรถไปสู่จุดหมายปลายทางด้วยดี อย่างไรก็ตาม การรับมือกับความโกรธนั้นไม่ใช่เป็นแค่การพยายามดับสัญญาณเตือน ความโกรธสามารถเป็นเสียงปลุกให้เราตื่นขึ้นมาใส่ใจกับความต้องการและคุณค่าต่าง ๆ  ในชีวิต  ความรู้สึกและสัมผัสของร่างกายคุณ  เปรียบได้ดั่งสัญญาณเตือนและเข็มวัดต่าง ๆ  บนหน้าปัดรถ  มันจะช่วยให้คุณรู้ว่าความต้องการใดของคุณได้รับการตอบสนอง หรือความต้องการใดไม่ได้รับการตอบสนองบ้าง

        ดังนั้นเมื่ออารมณ์ความรู้สึกของคุณกำลังคุกรุ่น  หรือความรุนแรงภายในกำลังปรากฏตัวขึ้น สิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตคุณและผู้อื่นเป็นสุขมากขึ้นก็คือ มุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่คุณต้องการ และละวางความคิดว่าอีกฝ่าย "ผิด" หรือ คิดว่าเธอคนนั้นเป็น "ศัตรู" ของเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า  เราจะดูแลความต้องการของเรา  และมุ่งหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ทำให้ความต้องการของทุก ๆ ฝ่ายได้รับการตอบสนอง 


ขั้นที่ 2 ดูให้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น

         คุณเคยถามใครสักคนดูไหมว่าเขาโกรธเรื่องอะไร ส่วนใหญ่แล้ว คำตอบที่เขาให้กลับมาจะเป็นการต่อว่าว่าคนนั้นคนนี้ทำอะไรผิดบ้าง เช่น  มีผู้บริหารคนหนึ่งกล่าวว่า  "เขาทำงานไม่รู้เรื่องเลย  นำเสนองานได้แย่มาก ไม่เคารพคนในที่ประชุมเอาเสียเลย"  คำพูดเช่นนี้ไม่ได้บอกเลยว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ  ในขั้นนี้  คุณจะทำตัวเหมือนนักสืบ  สิ่งที่คุณกำลังสืบคือ  เกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ลองดูว่าประโยคต่อไปนี้ให้ข้อมูลต่างกับประโยคข้างต้นอย่างไรบ้าง "เขามาช้ากว่าเวลาประชุม  20  นาที  แล้วแจกเอกสารที่มีรอยกาแฟหกใส่"

ในขั้นนี้คุณพยายามดูให้ชัดว่า  สิ่งที่ทำให้คุณเกิดปฏิกิริยาต่อต้านนั้นคืออะไร เมื่อคุณอธิบายได้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น  คุณจะสามารถเห็นความต้องการของคุณชัดขึ้นด้วย อีกฝ่ายจะมีท่าทีต่อต้านน้อยลงด้วย  เพราะเขาจะเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด ดังนั้นในสถานการณ์ความขัดแย้ง  ขอให้คุณสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นให้ชัดและอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น

         ถ้ามีคนคนหนึ่งกำลังโกรธ  เขาอาจจะพูดว่า  "เธอดูถูกฉัน"  "เธอมันจอมบงการ" หรือ  "เธอพยายามควบคุมฉันตลอดเวลา"  ประโยคเช่นนี้สื่อนัยว่าอีกฝ่ายกำลังทำผิด แต่ไม่ได้สื่อให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ  สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ  ให้คิดว่าคุณเป็นกล้องวีดีโอจับภาพสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้ คุณจะสามารถอธิบายสถานการณ์ได้อย่างชัดเจนขึ้น  เช่น  "ฉันได้ยินคุณพูดว่า ฉันเป็นตัวขี้เกียจ"  "คุณพูดว่าคุณจะไม่ออกไปงานกับฉัน ถ้าฉันไม่ใส่ชุดสีแดง" "คุณพูดว่าฉันชอบแต่งตัวเชย ๆ"  


       เมื่อคุณสามารถอธิบายได้อย่างตรงไปตรงมาว่าคุณมีปฏิกิริยากับอะไร โดยไม่ใส่การตีความหรือตัดสินลงไป คนอื่นที่ฟังคำพูดคุณ  มักจะไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านกลับมา


ขั้นที่ 3 รับผิดชอบต่อความรู้สึกของเราเอง

      ความโกรธยังเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า คุณมีความคิดในเชิงตัดสินหรือกล่าวโทษ และยังบอกด้วยว่าขณะนั้นความต้องการที่สำคัญบางอย่างของคุณถูกละเลยไป ใช้ความโกรธของคุณเป็นสัญญาณเตือนให้คุณหยุดและหันกลับมาหาว่าความต้องการใดถูกละเลยไป
        เมื่อหน้าปัดบนรถคุณเตือนว่าความร้อนในรถขึ้นสูง นั่นแสดงว่า เครื่องยนต์ของรถคุณต้องการความเย็น ถ้าไฟเตือนแบตเตอรี่รถดับลง แสดงว่าไฟในแบตเตอรี่มีเพียงพอแล้ว  ความรู้สึกทางจิตใจและทางกายก็เป็นเช่นเดียวกับสัญญาณเตือนของรถยนต์ มันเป็นสัญญาณที่สำคัญและเที่ยงตรง  มันบอกคุณได้ว่าตอนนี้สภาวะของคุณเป็นอย่างไรบ้าง ความรู้สึกเหล่านี้มีความชัดเจนและรวดเร็ว  ในแต่ละขณะมันจะบอกคุณว่าความต้องการอะไรของคุณได้รับการตอบสนอง หรือไม่ได้รับการตอบสนอง

 โปรดระลึกไว้ว่า  การกระทำของคนอื่นไม่สามารถทำให้คุณเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ได้ความรู้สึกเป็นสัญญาณเตือนของตัวคุณเอง  มันเป็นผลมาจากความต้องการที่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับการตอบสนอง ความโกรธเป็นผลมาจากการพุ่งความสนใจไปที่การกระทำของผู้อื่น การตัดสินว่าเขาควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร หรือตัดสินว่าเขาผิด เขาเป็นคนไม่ดี  เมื่อคุณเปลี่ยนจุดสนใจมาที่การค้นหาว่าความต้องการใดของคุณไม่ได้รับการตอบสนองในสถานการณ์นั้น ๆ ความรู้สึกของคุณก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่น  เมื่อคุณพบว่า  คุณไม่ได้รับการปฏิบัติที่ทำให้ความต้องการความเคารพของคุณได้รับการตอบสนอง คุณอาจรู้สึกเจ็บกลัวหรือผิดหวัง  แต่ถ้าคุณไม่ตัดสินอีกฝ่ายว่าเขาควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร คุณจะไม่รู้สึกโกรธ 

         เมื่อความรู้สึกของคุณทำหน้าที่ของมันแล้ว  ซึ่งนั่นก็คือเมื่อคุณสามารถกลับมาใส่ใจกับความต้องการและคุณค่าต่าง ๆ  เมื่อนั้นความโกรธก็จะสลายไป  การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่เหมือนการเก็บกดความโกรธ และไม่ใช่การพยายามทำความโกรธให้เย็นลง  เมื่อคุณรู้ว่าคุณต้องการอะไรจริง ๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจจะเด่นชัดขึ้นมาและอาจมีความเจ็บปวดมาก แต่มันจะต่างจากความโกรธ


ขั้นที่ 4 รู้เท่าทันความคิด และกระจ่างชัดกับความต้องการ

        ในวัฒนธรรมของเราเรามักถูกสอนให้ละเลยความต้องการของตัวเอง และลดละความจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิต ถ้าเราพูดแสดงความต้องการลึก ๆ ออกมาบางทีเราจะถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวแต่จริงๆ  แล้วทุกคนต่างก็มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ทุกคนต้องการความเคารพทุกคนต้องการการเอาใจใสความสมานฉันท์ ต้องการเป็นตัวของตัวเองและต้องการความรักนี่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ คนที่ไม่มีความต้องการอะไรเลยคือคนที่ตายแล้ว 


        เวลาที่คุณโกรธบ่อยๆครั้งคุณมีความคิดโทษคนอื่นในความคิดโทษคนอื่นจะมีอารมณ์ความรู้สึกแฝงอยู่ ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจากความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อคุณรู้เท่าทันความคิดโทษคนอื่นคุณจะสามารถเริ่มสำรวจความรู้สึกข้างใน และดูว่าความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความต้องการใดไม่ได้รับการตอบสนองบ้าง
เช่น ถ้าความคิดโทษคนอื่นของคุณคือ "เธอชอบดูถูกฉันเหลือเกิน" ความรู้สึกทางกายและใจของคุณจะเป็นเช่นไร คุณอาจจะรู้สึกเกร็ง กลัว เสียใจ กังวล หรือสับสน การให้ชื่อความรู้สึกอาจไม่ใช่งานง่าย ๆ สังคมมักหล่อหลอมให้เรานำการตัดสินมาปะปนกับความรู้สึก ซึ่งก่อให้เกิดความคิดโทษคนอื่นตามมา  การแยกแยะความรู้สึกออกจากการตัดสินผู้อื่น เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้คุณเห็นความต้องการของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น และก้าวไปสู่การทำให้ความต้องการนั้นได้รับการตอบสนอง คุณสามารถใช้รายการความรู้สึก


ขั้นที่ 5 ค้นหาความต้องการ

"เดี๋ยวก่อน นี่มันสัญญาณเตือนเรื่องความน่าเชื่อถือนี่นา"  ผู้บริหารฉุกคิดขึ้นมาได้ หลังจากที่ตอนแรกเขาคิดว่าลูกน้องเขาทำลายการนำเสนองานเสียย่อยยับ เขาคิดว่าความโกรธของเขาเป็นเพียงสัญญาณเตือน เมื่อเขามองลึกลงไปภายใต้ความโกรธ แปลคำตัดสินของเขาเป็นความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เขาก็พบว่า  เขาให้คุณค่ากับความน่าเชื่อถือ และความน่าไว้วางใจสูงมาก การหันกลับมาใส่ใจความต้องการเช่นนี้  ทำให้ความคิดของผู้บริหารเปลี่ยนไป ความโกรธคลายลง เปลี่ยนเป็นความกังวล และความผิดหวังอย่างแรง

แม้แต่คำต่อว่าแรงๆ  เช่น  "พวกโรคจิต"  ก็เป็นเพียงฉากหน้าของความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ถ้าคน ๆ หนึ่งเรียกอีกคนว่าพวกโรคจิต ความต้องการจริง ๆ อาจจะเป็นการอยากจะคาดคะเนอะไรได้ ความวางใจ หรือ ความปลอดภัย แต่ที่แน่นอนก็คือ การเรียกใครสักคนว่าพวกโรคจิต ไม่สามารถสื่อสารความต้องการจริง ๆ ออกมาได้ และสุดท้ายความต้องการนั้นก็ไม่ได้รับการตอบสนองดังเดิม


ความงดงามของความเข้าใจว่า ความรู้สึกของเราเป็นสัญญาณเตือนก็คือ คุณจะพบว่าความต้องการของคุณคืออะไร คุณจะกลับมาอยู่ในสถานะที่เปี่ยมด้วยพลัง มีโอกาสที่จะทำให้ความต้องการของคุณได้รับการตอบสนองได้


เมื่อคุณค้นหาความต้องการของคุณพบแล้ว ลองใช้เวลาสังเกตดูว่า ความต้องการนั้นสำคัญสำหรับคุณอย่างไรบ้าง คุณต้องการมันมากน้อยอย่างไร และเมื่อความต้องการนี้ได้รับการตอบสนอง ชีวิตคุณจะรู้สึกเต็มเปี่ยมมากขึ้นหรือไม่

การฝึกการสื่อสารอย่างสันติช่วยให้เราปรับวิธีการฟังและสื่อสารกับผู้อื่น การสื่อสารเช่นนี้ เรามุ่งความสนใจไปที่ 4 ประเด็น


1 เราสังเกตเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น

2 เรารู้สึกอย่างไร

3 เรามีความต้องการอย่างไร

4 เราจะขอร้องอะไรอีกฝ่ายเพื่อทำให้ชีวิตเราเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น




       ในที่นี้คำว่าความต้องการหมายถึง  ความต้องการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่เราทุกคนมี ตอนท้ายของหนังสือจะมีรายการความต้องการต่าง ๆ ที่การสื่อสารอย่างสันตินิยามว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์


เมื่อเราเริ่มใส่ใจกับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ เราจะเริ่มสัมผัสถึงสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน ซึ่งจะช่วยให้เราฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ทั้งมีความเคารพและเข้าอกเข้าใจผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะเอื้อให้ทั้งเราและอีกฝ่ายเกื้อกูลกันและกันอย่างใจจริง และฟูมฟักความกรุณาขึ้นมาในใจ

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 78130เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท