ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

Shower ที่ไม่ใช่การอาบน้ำ


คอลัมน์ Etiquette ใน Gourmet & Cuisine ตุลาคม 2549

         นั่งดูหนังฝรั่งช่องยูบีซีส่วนใหญ่ก็ฟังเสียง แต่ตัวอักษรแปลด้านล่างก็มองเห็นไปพร้อมกันเพราะเลี่ยงไม่ได้  ทำให้หลายครั้งจะเกิดอาการสะดุดในการดู ด้วยมีความรู้สึกว่า"?!?" ในใจ

         ก็คนแปลนะสิคะ  น่าจะเก่งภาษาอังกฤษอยู่หรอกค่ะ แต่ด้อยในเรื่องของการใช้ภาษาในลักษณะสำนวนหรือการใช้คำพูดของคนในสังคมต่างระดับต่างวัฒนธรรมกัน   หลายครั้งที่คำซึ่งตัวละครใช้ไม่ได้มีความหมายตรงตามพจนานุกรม

         ผ่านมาหลายเรื่องหลายคำโดยที่ไม่ได้ใส่ใจนัก  จนกระทั่งเจอกับคำว่า shower ซึ่งเป็นเรื่องของมารยาทและธรรรมเนียมต่างๆ เข้าพอดี
         ในหนังเรื่องหนึ่ง พอตัวละครพูดว่า "…baby shower.." คำแปลก็ขึ้นว่า "อาบน้ำเด็ก"  ส่วนอีกเรื่องได้ยินคำว่า "…wedding shower…"  ก็เป็น "รดน้ำแต่งงาน"
        
คนดูที่ไม่ได้สนใจเสียงภาษาอังกฤษ  ก็เข้าใจตามตัวอักษรไทยที่ปรากฏ  คนที่ดูหนังจริงจังหน่อย  อาจเกิดความสงสัยว่าสิ่งที่ตัวละครพูดมันเกี่ยวกับเรื่องที่ดำเนินอยู่ยังไงหว่า?

         ใช่ค่ะ shower แปลว่ารดน้ำ อาบน้ำ ซึ่งถ้าละเอียดขึ้นอีกนิด ก็ต้องบอกว่าเป็นการรดหรืออาบโดยใช้ฝักบัวให้น้ำโปรยปรายลงมา ไม่ใช่นอนแช่อ่างหรือตักราดโครมๆ
         แต่ shower ในที่นี้ หมายถึงธรรมเนียมในการจัดงานปาร์ตี้ประเภทหนึ่ง  ซึ่งเวลาพูดจะมีคำว่า party ตามหลังหรือไม่ก็ได้
         จุดเด่นของงานเลี้ยงแบบ  shower  คือของขวัญค่ะ  ผู้จัดงานแบบนี้มีความตั้งใจจะมอบของขวัญให้กับใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ

         เบบี้ชาวเออร์ จัดเพื่อให้ของขวัญแก่เด็กที่กำลังจะเกิด  คนที่รับของขวัญแทนก็คือว่าที่คุณแม่  หรือบางงานอาจจัดเพื่อให้ของขวัญเฉพาะตัวคุณแม่ก็มี  เรียกว่า mommy shower
         ส่วนเวดดิ้งชาวเวอร์ ก็จัดเพื่อให้ของขวัญแก่คนที่กำลังจะแต่งงาน  ถ้าจัดให้เฉพาะว่าที่เจ้าสาวแต่เพียงฝ่ายเดียวก็จะเรียกว่า bridal shower

         บางงานถึงขั้นตกลงกันในระหว่างญาติมิตรว่าใครจะนำของขวัญอะไรมาให้ เพื่อที่จะได้ไม่ซ้ำกันและได้ของที่ผู้เป็นเป้าหมายต้องการ

         การจัดงานเพื่อให้ของขวัญล่วงหน้าแบบนี้ไม่ใช่ธรรมเนียมไทยแน่นอนค่ะ  ของเราต่างคนต่างให้และให้ของขวัญกันในวันแต่งงาน  ถ้าจะให้ของขวัญเด็กก็ต้องรอให้คลอดออกมาซะก่อน และด้วยความที่เราไม่รู้ว่าจะให้ของขวัญอะไรดี  ทุกวันนี้ก็เลยให้เงินแทนซะเลย อยากได้อะไรก็ซื้อเอาเอง ก็ดีไปอย่างค่ะ  แต่ไร้อารมณ์ไปหน่อย  

         การจัดปาร์ตี้แบบชาวเวอร์นั้น สร้างความอบอุ่น สนุกสนาน มิตรภาพ และความใกล้ชิดได้ดีมากค่ะ  แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อกันและกัน  เพราะเป็นงานเลี้ยงที่เจ้าภาพไม่ได้จัดให้ตัวเองแต่จัดให้กับคนที่ตนรัก

         กิจกรรมการเปิดของขวัญคือไฮไลต์ของงานอยู่แล้ว แต่กิจกรรมประกอบอื่นๆ เช่น เกมหรือการแสดงก็เป็นสีสันของงาน  ชาวเออร์หรูๆ จะมีการจัด theme ให้งานด้วยว่าจะเป็นแนวไหน แขกรับเชิญจะแต่งกายอย่างไร  บางรายถึงกับจ้างคนรับจัดงานเลี้ยงมาทำให้  แต่กิจกรรมที่จะขาดไม่ได้เลยคือ การกินอาหารค่ะ

         เมนูสำหรับงานเลี้ยงแบบชาวเออร์ส่วนใหญ่ จะเป็นรายการอาหารว่างและเครื่องดื่ม  เพราะมักจะจัดในเวลาที่อยู่ตรงช่วงระหว่างก่อนอาหารหลักมื้อกลางวันหรือมื้อเย็น
         อาหารที่จัดจึงเป็นประเภทแซนวิช  พาย ทาร์ต สลัด ผลไม้ คุกกี้และเค้ก  ส่วนเครื่องดื่มจะเป็นน้ำชา กาแฟ น้ำผลไม้ เบียร์ หรือไวน์  งานเบบี้ชาวเออร์มักจะเน้นเรื่องเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเป็นพิเศษ

         ปาร์ตี้ Shower ไม่มีตอนไหนที่ต้องทำกิจกรรมรดน้ำหรืออาบน้ำเลยค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 77864เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2007 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 03:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ ขออนุญาตเรียก ป้าเจี๊ยบ เลยละกันนะคะ :)

ขอบคุณที่นำความรู้มาฝากค่ะ   หนูด้อยความรู้ด้านภาษาอังกฤษอย่างหนัก  ตอนนี้ก็เริ่มพยายามขวนขวาย เพราะว่าอยากเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น  ก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากเพลง หรือภาพยนต์หน่ะค่ะ 

 

  • สวัสดีค่ะ
  • ถ้าคุณจินตนาอยากมีเพื่อนคุยภาษาอังกฤษด้วย ป้าเจี๊ยบมีสาวๆหนุ่มรออยู่ที่ http://learners.in.th/planet/translation  ค่ะ แวะไปทักทายได้นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท