"สูตร PI กำลังสอง" คืออะไร? ...รับรองว่าไม่ใช่ "คณิตศาสตร์"


...ที่ผมพูดถึงสูตร PI กำลังสองนี้ เพราะผมยังเชื่อคำแนะนำของอาจารย์รัศมี ว่าในแต่ละวันเราควรจะสำรวจดูตัวเองว่า เราได้ใช้เวลาหมดไปกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดมากเกินไปหรือไม่...

        ผมเคยเข้าคอร์สเกี่ยวกับการคิดของ ดร. เดอร์โบโน ที่ดำเนินการโดยท่านอาจารย์ รัศมี มาหลายปีแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังติดตาตรึงใจผมเสมอมา ก็ตรงที่ท่านบอกว่า เราควรแบ่งเวลา (การทำงาน) ออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน ส่วนหนึ่งใช้สำหรับแก้ปัญหา (Problem- solving)  อีกส่วนหนึ่งใช้พัฒนางาน (Improvement) ส่วนสุดท้ายใช้สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เราเรียกว่านวัตกรรม (Innovation)

       ผมได้นำความรู้เดิมนี้มา ต่อยอด โดยเติมประสบการณ์บางส่วนเข้าไป และตั้งชื่อให้ใหม่ เพื่อให้จำง่าย (สไตล์ผม) ผมเรียกหลักนี้ว่า พายสแควร์  จริงๆ แล้วผมหมายถึง พาย ที่เป็นเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ แล้วยกกำลังสองนั่นแหละครับ ซึ่งก็คือ (PI)2  คือมีตัว P สองตัว และตัว I สองตัวครับ

        P ตัวแรกมาจาก Problem – solving เป็นการตั้งคำถามว่า เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าเรือรั่วก็ต้องหาทางอุดรูให้ได้ นี่คือการแก้ปัญหา  ในการทำงานจะมีสภาพนี้ให้เห็นตลอดเวลา  ที่เราเรียกกันว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  หรือ “Fire Fighting” นั่นแหละครับ

        P ตัวที่สองมาจากคำว่า Prevention  ซึ่งก็คือการตั้งคำถามว่า เราจะต้องทำอะไร จึงจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ (ปัญหา) นั้นอีก(ในอนาคต) หากเราทำตัว P ตัวที่สองนี้ได้ดี ตัว P ตัวแรกก็น่าจะน้อยลงนะครับ

        I ตัวแรก มาจากคำว่า Improvement ซึ่งก็คือ การตั้งคำถามว่า ถึงไม่มีปัญหา  แต่เราจะพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่ทำอยู่นี้ให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร  คล้ายๆ กับว่า เรือที่ใช้อยู่นี้ไม่มีรูรั่ว แต่เราจะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร เช่นเห็นว่าคนนั่งเรือต้องถูกแดด จะมีวิธีใดไหมที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้ หรือลูกค้ามากขึ้น

        I ตัวที่สอง มาจากคำว่า Innovation  เป็นการตั้งคำถามแบบ ทลายกรอบ  คือเป็นคำถามในทำนองที่ว่า การนั่งเรือข้ามฝั่งที่เราทำกันอยู่นี้... มีวิธีอื่นไหม  ใช้ลวดสลิงโยงสองฝั่ง แล้วใช้การโรยตัวจะดีกว่าไหม...อะไรทำนองนั้น

        ที่ผมพูดถึงสูตร PI กำลังสองนี้  เพราะผมยังเชื่อคำแนะนำของอาจารย์รัศมี ว่าในแต่ละวันเราควรจะสำรวจดูตัวเองว่า เราได้ใช้เวลาหมดไปกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดมากเกินไปหรือไม่  เช่น ต้องแก้ปัญหาทั้งวัน โดยไม่ได้มีเวลาที่จะคิดป้องกัน หรือคิดนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรเลย เป็นต้น หากผู้บริหาร หรือรัฐบาล ใช้สูตรนี้ก็คงจะดีนะครับ  จะได้ไม่เอาแต่อุดรูรั่ว (หรือกระทุ้งรูรั่วให้มันใหญ่ขึ้น จะได้จับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้) แต่จะได้ให้เวลากับการพัฒนา การป้องกัน และการสร้างนวัตกรรมไปพร้อมๆ กันด้วย
หมายเลขบันทึก: 76802เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2007 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • คณิตศาสตร์เป็นวิชาให้รู้จักแก้ปัญหา
  • สมัยเรียนเป็นยาเบื่อไม้เมา จึงมาเรียนสายศิลป์
  • แต่เริ่มชอบคณิตศาสตร์ตอนเรียนป.โท เพราะต้องนำมาใช้ในงานวิจัย
  • ยังเสียดายที่มาชอบคณิตศาสตร์เกือบสายไปเสียแล้ว
  • ได้ความรู้เพิ่มเติมของอาจารย์และสัญยาว่าจำนำไปต่อยอดค่ะ
  • P ตัวแรกอาจจะเห็นผลง่ายสุดหรือเปล่าครับ? (สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน)
  • ผมจะพยายามทำครับ ขอบพระคุณอาจารย์ครับ
  • ดีใจที่ได้อ่านบทความดี ๆอย่างนี้
  • ขออนุญาตนำไปใช้นะค่ะ

น่าสนใจดีค่ะ   กำลังพยายามทำ   ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

สวัสดีครับทุกๆ ท่าน ...และขอถือโอกาสนี้ทักทาย "คุณกอบ้ว" ซึ่งผมเพิ่งได้รู้จักและเพิ่งจะเข้าไปอ่านบันทึกของท่าน ...ชอบมากครับ โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยว ...จะคอยตามอ่านต่อไปครับ

  • หนูล่ะ..ช้อบ..ชอบ... ... หลักการคิดของอาจารย์และนึกพิศวงในหยักลอนของสมองอาจารย์เสมอว่า..อุ๊ย...คิดได้ไงคะ
  • โดยปกติการทำงานส่วนตัวมักใช้ 2P และ 1 I ค่ะ แต่พออ่านบันทึกอาจารย์คงต้องใช้พลังสมองซีกขวาให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ I ที่ 2 ค่ะ 

ผมขออนุญาต นำไปต่อยอดอบรม CQI ในองค์กรครับ

(PI)2 คือ ปัญญาปฏิบัติของคนทำจริงครับ

ทำให้เห็นภาพต่อครบภาพใหญ่ก่อน

แล้วค่อยๆต่อ(ทำ)ไปทีละขั้นตอน ตามเหตุ-ปัจจัย

ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ

นพ.พิพัฒน์ ชุมเกษียร

นึกอยู่เหมือนกันครับว่าคุณหมอพิพัฒน์หายไปไหน ...ดีใจที่ได้พบใน blog ครับ ...

ในวันงาน World Bank หล้งจากที่คุณเล็กลงจากเวทีก็ยังไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกัน ...อยากจะบอกว่าคุณเล็กเล่าเรื่องได้มีสีสันมากครับ ....ประทับใจมาก ...รู้สึกได้ถึงพลังที่ถ่ายทอดออกมาครับ

เข้ามาอ่านแล้ว ประทับใจครับ ขออนุญาตเข้ามารับความรู้จากท่านบ่อยๆนะครับ

  • สวัสดีค่ะ ขอเรียกอาจารย์เพราะเคยรับฟังบรรยายKMที่พิษณุโลก ยังประทับใจภูมิรู้ของอาจารย์ค่ะ
  • สูตรนี้น่านำไปแทนค่าค่ะ คงต้องขอจดสูตรไว้ก่อน
  • ได้ความรู้จากการอ่านหลายๆblogค่ะ

ผมจำเรื่องราวบอกเล่าจากเพื่อนผมคนนึงมาครับ

เค้าชื่อ เอกราช

เค้าบอกว่า การป้องกันปัญหา ก็เพียงถามว่า

ถ้าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น คืออะไร ?

เมื่อเรารู้ เราก็จะได้ป้องกันได้ครับ ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท