เรียนรู้จากหน้างาน : การประเมินแบบมีส่วนร่วม (7) อ.คลองลาน


การทำงานกระบวนการในภาคสนาม ต้องลงมือปฏิบัติและเรียนรู้กับกลุ่ม/เกษตรกรจริง ๆ จึงจะเกิดทักษะ และสามารถเชื่อมโยงหลักการ องค์ความรู้กับบริบท ซึ่งจะทำให้มองเห็นทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้องและแม่นตรงได้

          อ่านตอนที่ 6

          วันที่  2  กุมภาพันธ์  2550  ทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย คุณสราญจิต  หรุ่นขำ , คุณสายัณห์  ปิกวงค์ , คุณประยงค์  จินดารัตน์ ,คุณสมเดช  สิทธิยศ และผม ร่วมกับทีมงานของเกษตรอำเภอคลองลานนำโดยคุณสวัสดิ์  คำไทย เกษตรอำเภอคองลาน และคุณมาโนช  อินทกูล นักส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลโป่งน้ำร้อน ได้ร่วมการประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำไร่ หมู่ที่ 5 บ้านคลองสมบูรณ์ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

          กลุ่มเกษตรกรทำไร่บ้านคลองสมบูรณ์ สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  การดำเนินธุรกิจของกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนยังอยู่ในระยะเริ่มต้น  และในการร่วมประเมินฯ ในวันนี้ ทีมงานเราก็ยังวางแผนไว้ 3 ขั้นตอนเช่นเดิม คือ

  • ขั้นตอนที่ 1  การทบทวนข้อมูล/ประเมินสถานการของกลุ่ม
  • ขั้นตอนที่ 2  การประเมินตนเองโดยสมาชิกกลุ่มฯ และ
  • ขั้นตอนที่ 3  การระดมหาแนวทางในการพัฒนากลุ่มฯ

          ลองมาดูบรรยากาศในการประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ของเราในวันนี้นะครับ ว่าผลจะเป็นอย่างไร

          เริ่มต้นพอเราเดินทางไปถึง ทางทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอและกลุ่มฯ ก็ทยอยเดินทางมาเช่นกัน  มีการจัดโตะและเก้าอี้ตามปกติ (รูปแบบการประชุม-อย่างเป็นทางการ)


การจัดโต๊ะ - เก้าอี้ยังใช้รูปแบบที่เป็นทางการ

 

ขั้นตอนที่ 1  การทบทวนข้อมูล/ประเมินสถานการของกลุ่ม

          ขั้นตอนที่ 1 ดำเนินการโดยคุณสมเดช  สิทธิยศ เราก็ปรับการนั่งเท่าที่จะทำได้ โดยการหันหน้าเข้าหาข้างฝาที่ติดกระดาษฟาง  จะให้เป็นรูปครึ่งวงกลมก็ไม่ได้เพราะวันนี้มีสมาชิกมาร่วมมาก และห้องประชุมก็แคบแต่ยาว  เลยเอาเท่าที่ได้  ลดประตูทางเข้าทั้งสองด้านลงมาเพราะลมแรง และแสงสว่างมากเกินไปมองกระดาษฟางไม่เห็น

         การทบทวนข้อมูลในวันนี้ คุณสมเดชก็ใช้เวลาประมาณ 40 นาที เป็นการโยนคำถามเพื่อให้กลุ่มฯ ได้เล่าถึงความเป็นมา และการดำเนินธุรกิจของกลุ่มฯ (เทียบกับเกณฑ์การประเมินของวิสาหกิจชุมชน) ซึ่งผลสรุปก็พอจะทำให้ทราบได้ว่า กลุ่มฯ ยังรวมตัวกันดำเนินธุรกิจกันอย่างหลวมๆ  คล้ายๆ กับการรวมกลุ่มอาชีพกันโดยทั่วๆ ไป แต่ยังดำเนินธุรกิจกันไม่เข้มแข็งมากนัก

การดำเนินกระบวนการ(หลังจากปรับที่นั่งแล้ว)

ขั้นตอนที่ 2  การประเมินตนเองโดยสมาชิกกลุ่มฯ และ

          ขั้นตอนที่ 2 นี้ ผมเป็นคนดำเนินกระบวนการ โดยวันนี้ใช้การเล่า และอธิบายมากหน่อย เพราะแบบประเมินที่เขียนไว้ค่อนข้างจะเป็นภาษาวิชาการ  ต้องใช้การอธิบายและยกตัวอย่างหลายๆ รอบ เพราะเกรงว่าจะไม่เข้าใจคำถาม

          หลังจากนั้นก็ให้สมาชิกของกลุ่มทุกคน ออกมาประเมินตนเอง ซึ่งสมาชิกทุกคนก็ร่วมกันประเมิน  ผลที่ออกมาก็สรุปว่าทุกประเด็นสมาชิกทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องทำการปรับปรุง (ผลการประเมินตามภาพด้านล่างนี้)


ร่วมกันประเมินตนเอง


ผลการประเมินตนเองของสมาชิกกลุ่มฯ


ขั้นตอนที่ 3  การระดมหาแนวทางในการพัฒนากลุ่มฯ

          ขั้นตอนที่ 3 นี้ ดำเนินกระบวนการโดยคุณสราญจิต  หรุ่นขำ  วันนี้มีคุณสมเดชเป็นลูกมือช่วยในการเขียนและเรียงบัตรคำ  ซึ่งได้ร่วมกันหาแนวทางพัฒนากลุ่มฯ  ผลก็ออกมาดังภาพด้านล่างนี้ครับ

 

         หลังจากดำเนินครบทั้ง 3 กระบวนการแล้ว คุณประยงค์  จินดารัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่ดูแลมันสำปะหลังก็ได้ถือโอกาสพบปะกับสมาชิกกลุ่มฯ โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกและแนวทางพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังกับสมาชิกกลุ่มฯ ด้วย

 

          ขั้นตอนสุดท้าย  ธกส. สาขาอำเภอคลองลานร่วมให้ข้อมูลในการดำเนินวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เราร่วมดำเนินการประเมิน และมีเจ้าหน้าที่ ธกส.เข้าร่วมประชุมด้วย

 


          สรุปบทเรียนร่วมกันหลังจากดำเนินกระบวนการประเมินเสร็จเรียบร้อยแล้ว

          กิจกรรมที่นักส่งเสริมของอำเภอคลองลานจะไปดำเนินการต่อ

  • การจัดทำแปลงเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มฯ อาจจะดำเนินการในลักษณะของโรงเรียนเกษตรกร
  • เสริมความรู้ของกลุ่มในด้านการบริหารจัดการ
  • ร่วมกับกลุ่มฯ จัดทำแผนพัฒนากลุ่มฯ
  • เสริมความรู้ให้กับกลุ่มฯ ในด้านการจัดทำบัญชี

 

          ขณะที่เรากำลังสรุปบทเรียนร่วมกัน ทีมงานของ  ธกส. ก็พบปะและหารือกับตัวแทนขอลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไปพร้อมๆ กัน


ธกส. ก็ถือโอกาสพบปะกับตัวแทนของกลุ่มด้วย


          สรุปบทเรียนวันนี้

  • วันนี้ การดำเนินกระบวนการสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นดี เพราะทีมงานทุกคนต่างก็มีประสบการณ์ สามารถปรับ ทดแทนและช่วยเหลือกันได้
  • ในกระบวนการในการหาแนวทางพัฒนากลุ่ม ได้มีทีมงานที่ดูแลเกี่ยวกับพืชที่เป็นกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มาเพิ่มเติมและ ลป.ประสบการณ์ของกลุ่มฯ ทำให้สมาชิกได้รับข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจที่จะกำหนดแนวทางในการพัฒนากลุ่มฯ
  • หลังจากจบกระบวนการจนได้แนวทางพัฒนาของกลุ่มแล้ว ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธกส. เข้ามา ร่วม ลปรร. ในการดำเนินธุรกิจชุมชน  ทำให้บางกิจกรรมพอจะมองเห็นทิศทางในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจชุมชน หากต้องการทุนมาพัฒนากิจกรรมในบางส่วน
  • การทำงานกระบวนการในภาคสนาม ต้องลงมือปฏิบัติและเรียนรู้กับกลุ่ม/เกษตรกรจริง ๆ  จึงจะเกิดทักษะ และสามารถเชื่อมโยงระหว่างหลักการ   องค์ความรู้เข้ากับบริบท  ซึ่งจะทำให้มองเห็นทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้องและแม่นตรงได้

         อ่านตอนที่ 8

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 76323เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน  พี่สิงห์ป่าสัก

  • ผมรบกวนขอข้อมูลรายละเอียดในแต่ละขั้นตอน ว่ามีการดำเนินการอย่างไร ใช้เทคนิค หรือวิธีการอะไรบ้าง
  • ขอขอบคุณสำหรับองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่พี่และทีมงานของจ.กำแพงเพชร ร่วมกันสร้างขึ้น ผมคิดว่า จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน
  • สัมมนาวันที่ 9 เสร็จแล้ว น่าจะมีอะไรมา ลปรร.กับพี่บ้างครับ

ขอรู้แค่สถานการณ์

ส่วนกระบวนการต้องค้นหา

บทสรุปคือข้อมูลมีค่าอนันต์

ระยะทางมิปิดกั้นการทำงานได้

เรียน   คุณวิศรุต ตุ้ยศักดา

  • รูปแบบและเทคนิค ก็น่าจะขึ้นอยู่ที่การปรับใช้นะครับ สำหรับทีมงานของเรา สรุปไว้ 3 ขั้นตอน (ประมวลจากคู่มือทั้งส่วนของกระบวนการ และส่วนของผลลัพธ์ และการสนทนากลุ่มฯ)  คือ

     ขั้นตอนที่ 1  การทบทวนข้อมูล/ประเมินสถานการของกลุ่ม

     ขั้นตอนที่ 2  การประเมินตนเองโดยสมาชิกกลุ่มฯ และ

     ขั้นตอนที่ 3  การระดมหาแนวทางในการพัฒนากลุ่มฯ

  • ทั้งหมดนี้ใช้เวลาระหว่าง 2-3 ชั่วโมง และทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ ใช้เทคนิคผสมผสานครับ
  • บอกไม่ถูกเหมือนกัน   แต่หากทบทวนจากทั้ง 7 ตอนที่ผ่านมา คงจะนำไปปรับใช้ต่อได้นะครับ เพราะจะมีทั้งขั้นตอนและเทคนิควิธีแทรกอยู่
  • หากยังไม่ค่อยมั่นใจก็ลองลงฝึกปฏิบัติจริงดูนะครับ รับรองว่าไม่ยากเลย
  • รอ ลปรร.ทางบล็อกอยู่นะครับ

 

เรียน  คุณศิริวรรณ 

  • เรียนรู้ร่วมกัน  สร้างสรรค์ชุมชน
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน

เรียน พี่สิงห์ป่าสัก

  • ขอบพระคุณมากครับ ผมเองพยายามถอดรหัส กระบวนการอยู่ ตอนนี้อยู่ในระหว่างดำเนินโครงการจัดทำแผนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนำร่องเชิงกลยุทธอยู่ครับ แต่ผมประเมินผลแล้วมันไม่ค่อยได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์เท่าไหร่ (เหลืออีกวิสาหกิจเดียวก็ปิดโครงการ) ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ
  1. ระยะเวลาในการจัดทำแผนแต่ละครั้ง (เวลาสั้น)
  2. เนื้อหา กระบวนการที่ วช.เอง บอกว่ายาก
  3. ผมไม่มีทีมงาน ( พยายามให้จนท.อำเภอเป็นหลัก)
  4. ยังขาดประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรกระบวนการ
  • ก็พยายามเต็มที่ครับ คงต้องใช้เวลาสักพัก

เรียน  น้องวิศรุต ตุ้ยศักดา

  • ระยะเวลาสั้น ก็ต้องปรับเป็นการดำเนินการหลายๆ ครั้ง หรือไม่ก็ส่งลูกต่อให้ทีมอำเภอดำเนินการต่อไป
  • เนื้อหา/กระบวนการ เราคงต้องปรับให้เหมาะกับบริบท ยืดหยุ่นได้ครับ
  • ทีมทำงานก็สำคัญ ต้องหาทีมให้ได้จึงจะทำงานสนุก  ที่สำคัญ เกษตรจังหวัด/หัวหน้ากลุ่มต้องสนใจและเห็นความสำคัญ
  • หากไม่มีประสบการณ์ ก็คงต้องฝึกบ่อยๆ ครับ    ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ (หากสนใจจริงๆ ต้องมาที่กำแพงเพชรนะครับรับรองสนุกแน่....อิอิ-เฉพาะคนที่ชอบนะครับ)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท