ชีวิตที่พอเพียง : 212. เรียนรู้จาก ศ. ระพี สาคริก


        วันที่ ๑๒ ม.ค. ๕๐  ผมเข้าร่วมประชุมสภาอาศรมศิลป์ ที่มี ศ. ระพี สาคริก เป็นนายกสภา      ท่านเป็นคนที่ผมเคารพอย่างสุดๆ ในความมีจิตใจที่บริสุทธิ์ เห็นแก่บ้านเมือง     และมีวิธีคิดที่เป็นตัวของตัวเองสูงมาก     ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดท่านตอนที่ท่านเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว     แต่ตอนนั้นผมฟังท่านไม่รู้เรื่อง     เพราะท่านพูดเป็นนามธรรมมาก
 
         วันนี้ท่านเปิดการประชุมโดยปรารภว่า     การศึกษาไทยเดินผิดทาง พาสังคมไทยเข้าสู่เข้าสู่มุมอับ     เป็นการศึกษาที่แยกเยาวชนออกมาจากท้องถิ่น     กลายเป็นการศึกษาที่ทำลายความเข้มแข็งของท้องถิ่น     ท่านพูดเป็นนามธรรมกว่านี้มาก     ผมตีความลงบันทึกด้วยสำนวนของผมเอง         

         ท่านกล่าวว่า สถาบันการศึกษาต้องมีกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาชนบท     โครงการพัฒนาชนบทยุคแรกของมหาวิทยาลัยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ๓ แห่ง คือ ธรรมศาสตร์ (ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี)  เกษตรศาสตร์ (ศ. ระพี สาคริก เป็นอธิการบดี)  และแพทยศาสตร์ (ศ. นพ. กษาน จาติกวณิชย์ เป็นอธิการบดี)     แต่ก็มีผลร้ายต่อ ดร. ป๋วย ทำให้ท่านต้องรับเคราะห์กรรมในเวลาต่อมา     ผมเข้าใจว่านั่นคือโครงการชัยนาท    ที่ต่อมากลายเป็นมูลนิธิบูรณะชนบท  

         ท่านกล่าวว่า การศึกษาที่แท้ต้องก่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน    โดนใจผมเลยครับ     ผมเพิ่งบันทึกใน บล็อก ไปเมื่อวาน    ว่าการศึกษาของเราเดินผิดทาง     ที่มุ่งเอาความรู้จับยัดใส่สมองเด็ก    เน้นการเรียนรู้จากภายนอก  ไม่เอาใจใส่การเรียนรู้จากภายในตน     ไม่เอาใจใส่การจัดการศึกษา/เรียนรู้ ที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบตัวเองเป็นผู้ตีความ   

         เนื่องจากนี่เป็นการประชุมสภาอาศรมศิลป์     ท่านจึงปรารภว่า จริงๆ แล้ว ศิลปะเป็นฐานของศาสตร์ ของทุกสาขาความรู้      ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน มีคนพูดอย่างนี้ผมฟังไม่รู้เรื่อง     แต่ตอนนี้ผมคิดว่าผมเข้าใจ     เวลานี้ผมเชื่อว่า arts และ science เป็นสิ่งเดียวกัน     เป็นเพียง ๒ ด้านของเหรียญเดียวกัน    เป็นเรื่องของธรรมชาติ    วิทยาศาสตร์เป็นผลของการตีความธรรมชาติในแนวหนึ่ง    ส่วนศิลปะเป็นผลของการตีความธรรมชาติในอีกมุมหนึ่ง     เป็นการตีความผ่านคน     คนที่จะได้ชื่อว่า "มีการศึกษา" ที่แท้  ควรต้องผ่านการศึกษาเล่าเรียน ทำความเข้าใจธรรมชาติ ผ่านการตีความทั้ง ๒ แบบ      ไม่ใช่เรียนเอียงด้านเดียวแบบผมตอนเรียนจากการศึกษาในระบบ    

        ท่านกล่าวว่า สังคมต้องการการศึกษาที่ท้าทายกระแสหลัก    คือเราต้องการการศึกษากระแสทางเลือก  อย่างกรณีของอาศรมศิลป์     ท่านกล่าวว่าทางจะไม่ตัน ถ้าใจเราเปิดกว้าง     เราจะเปิดทางให้ลูกหลานมีใจอิสระเปิดกว้าง     นำไปสู่ความเข้าใจตนเอง มองเห็นตนเอง มองเห็นด้านในของตนเอง
 
         ท่านกล่าวว่าผู้ใหญ่ต้องไปหาชาวบ้าน  ไปคุยกับชาวบ้าน     ถ้าเราทำเช่นนี้บ้านเมืองจะไม่เป็นอย่างนี้     และจริงๆ แล้วพวกเราก็เป็นชาวบ้านเหมือนกัน     

        มีกรรมการปรารภว่า อยาให้เอาแผนระยะยาวของสถาบันมานำเสนอ     กรรมการจะได้ให้ความเห็น    ท่านบอกว่าต้องอย่าผูกมัดตัวเอง อย่าตีกรอบตนเอง     ต้องเปิดกว้างเข้าไว้ มีอิสระเข้าไว้     ผมนั่งนึกว่า ผมมาเจอนัก chaordic ตัวจริงเข้าแล้ว

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ม.ค. ๕๐
ระหว่างนั่งรถไป retreat ที่แก่งกระจาน

หมายเลขบันทึก: 76322เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์หมอครับ

ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ เราถูกหล่อหลอมให้แยกวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ออกจากกันทำให้แนวคิดมักจะสุดโต่ง การพัฒนาที่ผ่านมาจึงเป็นแบบไม้กระดกขึ้นภูเขา คือขึ้นได้ก็จริงแต่ต้องเหวี่ยงซ้ายสุด ขวาสุดไปเรื่อยๆ น่าเหนื่อยนะครับ ผมว่าค่อยๆเข็นครกขึ้นภูเขาอย่างมีสติ เหนื่อยนักก็เอาลิ่มปักไว้แล้วพักดีกว่าเป็นใหนๆ

นักปราชญ์ผู้รอบรู้ในสรรพสิ่งเลยดูน้อยๆลงเลยครับ ผมเริ่มคิดถึงคนแบบ อริสโตเติล ดาวินชี่ เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพร มากขึ้นทุกที

ปรอง

  • เห็นด้วยกับอาจารย์หมอคะ
  • ขอชื่นชม เคารพศ.ระพี สาคริกเป็นอย่างสูงสุด
  • สมัยที่เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พวกเราเรียกท่านว่า"คุณพ่อ"ด้วยหัวใจและเรารู้สึกว่าท่านเป็นคุณพ่อจริง ๆ เวลาเราออกค่ายท่านก็อยู่ใกล้ ๆ คอยสั่งสอนและให้กำลังอยู่เสมอ
  • ท่านได้สร้าคุณูปการแก่ประเทศชาติมากมายหลายด้าน ไม่อาจกล่าวได้หมด โดยเฉพาะการสร้าง"คน"
  • ปัจจุบันลูกศิษย์มีท่านอยู่ในใจตลอดเวลา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท