เรียนรู้จากหน้างาน : การประเมินแบบมีส่วนร่วม (6) อ.ทรายทองวัฒนา


และวันนี้พวกเราพยายามกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มได้ร่วมกันคิดเพื่อหาแนวทางในการพัฒนา โดยไม่พูดกันแต่เฉพาะปัญหา หากพบปัญหาก็ให้เปลี่ยนวิธีคิดว่าจะหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร

         อ่านตอนที่ 5

          วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2550 ) ทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย คุณสายัณห์  เกียรติกำแหง, คุณสราญจิต  หรุ่นขำ ,คุณสมเดช  สิทธิยศ,คุณสายัณห์  ปิกวงค์ และผม ได้ลงสนามไปร่วมประเมินกลุ่มวิสาหกิจศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองนกชุม หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งทราย   อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร     ทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอทรายทองวัฒนา ในวันนี้เข้ามาร่วมเรียนรู้จำนวน 3 ท่าน นำโดย คุณสมชาย  สงพูล เกษตรอำเภอทรายทองวัฒนา ได้เข้าร่วมประเมินด้วย

           สถานที่ประเมินเราใช้ใต้ถุนบ้านของชาวบ้านเป็นที่นัดหมายและรวมกลุ่มฯ ในการประเมินครั้งนี้  ในวันนี้ เราก็ยังดำเนินตามขั้นตอนการประเมิน 3 ขั้นตอนเป็นหลักคือ

  • ขั้นตอนที่ 1  การทบทวนข้อมูล/ประเมินสถานการของกลุ่ม
  • ขั้นตอนที่ 2  การประเมินตนเองโดยสมาชิกกลุ่มฯ และ
  • ขั้นตอนที่ 3  การระดมหาแนวทางในการพัฒนากลุ่มฯ

         ลองดูภาพบรรยากาศของการดำเนินกระบวนการและผลที่ได้จากการดำเนินกระบวนการภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงของเรานะครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ขั้นตอนที่ 1  การทบทวนข้อมูล/ประเมินสถานการของกลุ่ม 

          วันนี้ คุณสมเดช  สิทธิยศ เป็นคนดำเนินกระบวนการทบทวนข้อมูล  โดยบันทึกบางส่วนลงบนกระดาษฟางให้กลุ่มฯ ได้เห็น และขณะเดียวกัน คุณสายัณห์  ปิกวงค์ ก็ทำหน้าที่เป็นคุณลิขิตอยู่ด้านหลังผลสรุปอย่างย่อๆ พบว่ากลุ่มฯ นี้ดำเนินการผลิตพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่าย แต่ลักษณะการดำเนินการยังอยู่ในระยะของการเริ่มต้น เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ยังทำกิจกรรมแบบทำใครทำมัน  ยังไม่มีการวางแผนการผลิต การตลาด ของกลุ่ม


ทบทวนข้อมูล โดยคุณสวมเดช  สิทธิยศ

ขั้นตอนที่ 2 การประเมินตนเองโดยสมาชิกกลุ่มฯ 

          วันนี้ผมเป็นคนดำเนินกระบวนการเอง   ตามที่ผลจากขั้นตอนที่ 1 ทำให้เราพอจะทราบข้อมูลอย่างคร่าวๆ ว่ากลุ่มฯ เพิ่งเริ่มยังดำเนินการ   ผมก็เลยทบทวน 7 ประเด็นที่ทุกกลุ่มวิสาหกิจจะต้องได้รับการประเมินหลังจากการจดทะเบียนแล้ว   (ลิงค์อ่าน 7 ประเด็นที่ทำการประเมิน)  เพื่อให้สมาชิกกลุ่มฯ ได้ทราบ

          ต่อจากนั้นก็ให้ทุกคน หลับตาแล้วมองไปที่กลุ่มฯ ซึ่งทุกคนน่าจะรู้ข้อมูลของกลุ่มฯ ดีอยู่แล้ว มองไปที่ 7 ประเด็นที่ผมได้เขียนเตรียมมาและนำมาติดให้กลุ่มได้อ่านทบทวน แล้วก็มอบคะแนนให้ทุกคน ๆ ละ 7 คะแนน เพื่อให้ออกมาประเมินตนเองลงบนกระดาษฟางที่เขียน 7 ประเด็นดังกล่าว

  • บรรยากาศของการประเมินโดยการให้คะแนนตนเอง
  • หน้าตาของผลการประเมินฯ

 

ขั้นตอนที่ 3  การระดมหาแนวทางในการพัฒนากลุ่มฯ

          ในการระดมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนากลุ่มฯ ก็ใช้การพูดคุย และต้องทบทวนข้อมูลตั้งแต่กระบวนการที่ 1 จนถึงผลการประเมินในขั้นตอนที่ 2  ซึ่งในขั้นตอนที่ 2 ผลการประเมินก็พอจะทำไห้ทราบว่ากลุ่มฯ จะต้องปรับปรุงในด้านใดบ้าง

          วันนี้ใช้คำถามกระตุ้นให้คิด และผมเป็นคนเขียนบัตรคำ ส่วนคุณสราญจิตดำเนินกระบวนการ   และวันนี้พวกเราพยายามกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มได้ร่วมกันคิดเพื่อหาแนวทางในการพัฒนา โดยไม่พูดกันแต่เฉพาะปัญหา  หากพบปัญหาก็ให้เปลี่ยนวิธีคิดว่าจะหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร    ซึ่งก็ได้ประเด็นในการพัฒนากลุ่มตามภาพด้านล่างนี้ครับ

  • การระดมความคิดเพื่อหาแนวทางพัฒนาฯ ร่วมกัน
  • ผลจากการระดมความคิด ซึ่งก็ใช้เวลาไปมาพอสมควรกว่าจะสรุปได้

         หลังจากดำเนินกระบวนการเสร็จ เวลาประมาณ 12.15 น. พวกเรานักส่งเสริมการเกษตรทั้งจากสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอก็ร่วมกันสรุปบทเรียน  และเชื่อมโยงไปถึงกิจกรรมที่สำนักงานเกษตรอำเภอจะต้องลงไปปฏิบัติงานร่วมกับกลุ่มฯ นี้ อาทิเช่น

  • การร่วมเข้ามาวางแผนพัฒนาร่วมกับกลุ่มฯต่อไป
  • ศึกษาข้อมูลและตลาดของเมล็ดพันธุ์ข้าว
  • พัฒนาความรู้ด้านมาตรฐานข้าว
  • หากิจกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว
  • ร่วมทำแปลงเรียนรู้ และอาจนำกระบวนการ PAR เข้ามาดำเนินการร่วมกับกลุ่มฯ นี้ได้
  • ร่วมเรียนรู้และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และคุณภาพของข้าว  เป้นต้น


สรุปบทเรียนร่วมกัน


อ่านตอนที่ 7

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.ครับ

วีรยทุธ  สมป่าสัก

 

หมายเลขบันทึก: 75760เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
กระบวนการที่ใช้น่าสนใจดี ขออนุญาตเอาไปปรับใช้บ้างนะคะ

เรียน  ดร.วัลลา

  • ยินดีมากครับ หากจะนำกระบวนการนี้ไปปรับใช้ต่อ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน
นี่ก็อีกบันทึกหนึ่งที่พี่สนใจติดตามครับ

เรียน  ครูนงเมืองคอน

  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ 
  • ติดตามอ่านอีกประมาณ 5 ตอนนะครับ 

เรียน พี่สิงห์ป่าสัก

    ตามอ่านมาตลอดครับ พอดีวันที่ 9 ก.พ. 50 สำนักงานผมจะจัด สัมมนานักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เรื่อง การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ปี 2550 ก็ขอนำแนวทางการประเมินที่พี่และทีมงานใช้ มาปรับใช้ให้เข้ากับ พื้นที่ ของสมุทรปราการ ผมมีประเด็นอยากจะสอบถามเพิ่มเติมครับ คือว่า ผลการประเมินศักยภาพที่จะนำไปใช้ ( เป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาคี )เป็นผลจากการประเมินโดยวิสาหกิจชุมชนเอง หรือ เป็นผลจากการประเมินของทีมประเมินอำเภอ ครับ รบกวนด้วยครับ

  ขอบคุณมากครับ ( กำลังพยายามจะเขียน Blog มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ )

ได้อ่านพร้อมการสังเกตุจากภาพ ตั้งแต่ตอนที่1-5 ผมสรุปว่าการทำงานของทีม ได้ทั้งงานและอารมณ์ ทั้งตัว จนท.และสมาชิกวิสาหกิจ ซึ๋งคงจะเกิดจากการจัดขั้นตอนหรือกระบวนการและเครื่องมือที่ตรงกับสถานการณ์ กลุ่มเป้าหมาย เนื้อหาที่ต้องการเรียนรู้ ขอชมเชยว่ายอดเยี่ยมจริงและคงจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการและเปลี่ยนรียนรู้

  • เยี่ยมเลยครับ
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน

                อีก 5 ตอน แบบว่าครบทุกอำเภอเลยใช่ไหมครับ ...รออ่านอยู่ครับ กระบวนการเรียนรู้เด่นชัดมาก จะ C@D ใช้กับงาน เพื่อนำสาระการเรียนรู้ไปเพื่อการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์แบบสะสมหน่วยกิต ครับ

เรียน น้องวิศรุต ตุ้ยศักดา

  • การประเมินที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ เป็นการเข้าไปประเมินหลังจากที่ประเมินโดยทีมคณะทำงานแล้วรอบหนึ่ง (ในเชิงปริมาณตามแบบคู่มือจากส่วนกลาง)
  • ที่ทำอยู่นี้เป็นการประเมินในเชิงคุณภาพ  เพื่อให้กลุ่มได้มีการประเมินตนเอง    เป็นการตรวจสอบข้อมูลอีกทางหนึ่ง   อีกทั้งเป็นการสนทนากลุ่มเพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนาของกลุ่มฯ ตามประเด็นในคู่มือของการประเมิน
  • ในขณะที่สอบถามข้อมูลในขั้นตอนที่ 1 ตามที่เรากำลังดำเนินการอยู่นั้น  ก็จะทำการตรวจสอบข้อมูลตามแบบประเมินตามไปด้วย
  • สรุปแล้วก็เป็นการประเมินตามสิ่งที่เขากำหนดมา แต่เราเพิ่มเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครับ
  • ดีใจที่ นวส. สนใจและเข้ามา ลปรร. มีประเด็นใดที่อยากทราบเพิ่มเติมยินดีที่จะแลกเปลี่ยนนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน

เรียน  ท่านมิสเตอร์หวัง

  •  งาน  อารมณ์ และการเรียนรู้ ทำไปก็เรียนรู้ไปนะครับ ทีมที่ลงไปทำกับกลุ่มฯ ต่างก็มีความสุข
  • ทีมฯ ก็เห็นช่องทางในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรกว้างออกไปเรื่อยๆ
  • กลุ่มฯ ก็ได้ข้อคิดและแนวทางพัฒนาตนเอง อีกทั้งดีใจที่ข้าราชการไม่ได้ทอดทิ้ง ยังเข้าไปกระตุ้นและดูแล
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยนเยียนและให้กำลังใจ

เรียน พี่ชาญวิทย์

          ขอบะพระคุณมากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ

เรียน พี่สิงห์ป่าสัก

  •   ขอบพระคุณมากครับ สำหรับคำแนะนำดีดี ก็คิดว่าจะนำแนวทางที่ทีมของกำแพงเพชรดำเนินการอยู่ นำเสนอในการสัมมนาวันที่ 9 นี้ แล้วหาข้อสรุปร่วมกันในการวางแผนการดำเนินงานส่งเสริม วช. ของสมุทรปราการต่อไป
  • ตอนนี้เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ แล้วครับ
  • กำลังรออ่านตอนต่อไปอยู่ครับ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท