โรงเรียนข้างถนน : เมื่อเด็กตกเป็นทาส...อินเตอร์เนต ภาคสอง ต่อจากภาคแรกเมื่อ ปี 2544


เรื่องราวข้อมูลที่กล่าวข้างต้นเป็นการทำงานกึ่งภาคสนามที่สัมผัสและพูดคุยกับผู้เสียหายหรือเหยื่อกว่า 50 ราย และเกือบทุกรายในปัจจุบันเข้าสู่เส้นทางการค้าบริการสมบูรณ์แบบแล้ว 30 กว่าคน นอกนั้นไม่สามารถจะติดตามได้ บางคนไปเริ่มชีวิตใหม่ในต่างประเทศ บางคนเสียชีวิตแล้ว
เมื่อเด็กตกเป็นทาส...อินเตอร์เนต ภาคสอง ต่อจากภาคแรกเมื่อ ปี 2544


       6 ปีให้หลังจากที่อิสรชนเคยทำการสำรวจและสอบถามเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่วงการขายบริการโดยผ่านจากการใช้บริการทางอินเตอร์เน็ตทั้งในรูปแบบของอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ และ เล่นเน็ตภายในบ้านของตัวเอง สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคืด ปัญหาดังกล่าวขยายตัวและลุกลามมากยิ่งขึ้นผู้ให้ข้อมูลรายเดิมบางคนเลิกประกอบอาชีพไปแล้ว แต่บางคนเสียชีวิตไปแล้วทั้งจากโรคร้ายและจากขบวนการอาชญากรรม

      เรื่องราวปัญหาในสังคมไทยปัจจุบันหลายคนออกมาบอกเล่ามากมาย ทั้งเรื่องของเด็กเร่ร่อน เด็กได้รับผลกระทบจากแม่ที่ติดเชื้อเอดส์ เด็กที่ตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของผู้ที่เข้มแข็งหรือมีอำนาจมากกว่า แต่อีกเรื่องหนึ่งแม้มีคนพยายามบอกกล่าวเล่าเรื่องให้สังคมฟัง ให้สังคมระวังมานานกว่า 5 ปี แต่ดูเหมือนสังคมเองยังไม่เห็นภยันตรายของมันอย่างแท้จริง
เด็กที่ตกเป็นเหยื่อจากสารสนเทศหรืออินเตอร์ เรื่องนี้ นที อนุกานนท์ ผู้ประสานงานศูนย์กิจกรรมอิสรชน มีข้อคิดจากการลงพื้นที่มาบอกเล่า จากการทำงานในพื้นที่ที่มีศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ๆ บางเมือง เช่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น พิษณุโลก นครราชสีมา ตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา พบว่าเด็กจำนวนกว่า 35% ที่ใช้บริการจะมีอายุอยู่ระหว่าง 12-15 ปี และกว่า -35% อายุ 17-18 ปี อีกราวกว่า 10% กระจายอยู่ในกลุ่มอายุเฉลี่ยไม่เกิน 25 ปี นอกนั้นเป็นคนอายุ 30 ปีขึ้นไป


      การใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ตนั้นกว่า 75% จะใช้บริการ Chat(คุย) เป็นส่วนใหญ่ และการคุยดังกล่าวกว่า 47% จะเป็นการคุยเพื่อมีจุดประสงค์ในเรื่องของการชักชวนกันไปมีเพศสัมพันธ์ ทั้งแบบขายบริการและแบบสมยอม อัตราค่าบริการการใช้อินเตอร์เน็ตนั้นอยู่ระหว่าง 5-30 บาท ตามแต่ความหนาแน่นและแพ็กเกจของแต่ละร้านจะได้มา จากการติดตามข้อมูลและลงสัมภาษณ์เด็กที่ใช้บริการดังกล่าว ทั้งที่เป็นผู้ซื้อ(ชาย) และผู้ขาย(หญิง) พบว่าเด็กที่ขายบริการส่วนใหญ่ 45% จะเป็นนักศึกษาในระดับต่ำกว่า ป.วช.-อุดมศึกษา ทั้งสถาบันของราษฎร์และรัฐ และที่น่าตกใจ 25-30% เป็นเด็กระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย ที่เหลือจะเป็นคนทำงานและหญิงขายบริการแอบแฝงเข้ามาประมาณ 10-15% และเป็นแม่บ้านหรือผู้ที่เข้ามาอยากลองหรือหารายได้พิเศษชั่วคราวประมาณ 5-10% อัตราค่าใช้บริการเฉลี่ย 1,000-4,000 บาท แล้วแต่คุณภาพของผู้ขายบริการและความพอใจของผู้ซื้อ

      ตัวเลขของการขายบริการทางอินเตอร์เน็ตข้างต้น ยังไม่น่ากลัวเท่าการล่อลวงเพื่อนำไปล่วงละเมิดทางเพศ โดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทาง คือมีค่าอยู่ที่ 30% หรือในทุกๆ 3 คู่สนทนา หรือหากคุณสนทนากับใครก็ตามในอินเตอร์เน็ต ทุก 3 คนใน 10 คนมีแนวโน้มจะหวังผลเพื่อล่อลวงคุณออกไปนอกสายเพื่อพบปะกัน และในจำนวนนั้น ทั้ง 3 คนมีเจตนาจะล่อหลอกเหยื่อเพื่อให้สนองความต้องการของตนเอง หรือชักชวนจูงใจให้เหยื่อเข้าสู่เส้นทางการค้าบริการทางเพศหรือยาเสพติด ซึ่งเหยื่อเกือบทั้งหมดจะไม่กล้านำเรื่องราวไปเล่าให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง หรือไม่กล้าออกมายืนยันว่าตนเองโดนหลอก เพราะอับอายในสิ่งที่เกิดขึ้น

      จากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้กระทำส่วนใหญ่มีอายุ 18-30 ปี มีทั้งเป็นนักศึกษา คนทำงานโดยทั่วไป มีทั้งทำคนเดียว และร่วมมือกันเป็นทีม ส่วนหนึ่งจะมีการข่มขู่เหยื่อด้วยการบอกว่าจะนำเรื่องของเหยื่อไปกระจายในอินเตอร์เน็ต และในสถาบันการศึกษาของเหยื่อ ทำให้เหยื่อไม่กล้าที่จะให้ข้อมูลโดยละเอียด

      เรื่องราวข้อมูลที่กล่าวข้างต้นเป็นการทำงานกึ่งภาคสนามที่สัมผัสและพูดคุยกับผู้เสียหายหรือเหยื่อกว่า 50 ราย และเกือบทุกรายในปัจจุบันเข้าสู่เส้นทางการค้าบริการสมบูรณ์แบบแล้ว 30 กว่าคน นอกนั้นไม่สามารถจะติดตามได้ บางคนไปเริ่มชีวิตใหม่ในต่างประเทศ บางคนเสียชีวิตแล้ว

      หลายครั้งที่คิดถึงปัญหานี้ รวมถึงปัญหาส่วนใหญ่ของสังคมไทย แล้วพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาที่ทำกันอยู่ เราทำได้ก็เพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่กำลังคน ทรัพยากรที่มีอยู่จะสามารถแก้ไขได้หมดหรือ มันก็เป็นไปได้ยากมาก เหมือนการรักษาโรค ถ้าเราปล่อยให้เป็นโรคก่อนแล้วค่อยรักษา มันต้องใช้เวลาและเงินสักเท่าไร ถึงจะรักษาให้หายได้ ถ้าให้ยาไม่ถูก รักษาช้า คนไข้ก็อาจหมดลม ทำไมเราไม่คิดถึงการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ไม่คิดจะฉีดวัคซีนให้กับเยาวชนของเราเพื่อให้เขาแข็งแรงและมีภูมิต้านทานในตัวเอง ซึ่งต่อมาหากว่าเขาเหล่านั้นต้องสัมผัสเชื้อโรคก็ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะไม่สบาย ไม่ดีกว่าหรือ

      อยากเห็นการศึกษาของไทยเน้นการพัฒนาจิตใจคนควบคู่กับการพัฒนาสมองและความคิด อย่าลืมว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ในวันนี้มันอาจจะดูยากและเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่ก็คงดีกว่าไม่ทำกันเลย แล้วปล่อยให้อนาคตเราวนเวียนอยู่แต่ในเรื่องปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีการพัฒนา ติดอยู่กับการแก้ปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังคงมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่จิตใจของมนุษย์มากกว่าเทคโนโลยีหรือวัตถุใดๆ

หมายเลขบันทึก: 76227เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2007 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 04:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
กำลังและเกือบจะเป็นผู้ล่อลวงครับ นี่เป็นความคิดเพื่อความพอใจส่วนตัวโดยไม่มีและไม่ยอมรับขอบเขต และจะไม่จบสิ้นตราบใดที่ความต้องการทางจิตใจที่ซ่อนเร้น (ของผม) อยู่ยังไม่ได้รับการมองเห็น วางลงในตำแหน่งที่ถูกต้อง ทั้งจากตัวเอง และ สังคม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท