ในสมัยเป็นเด็ก ทุกท่านคงได้เรียนวิชาสุขศึกษา และเรียนรู้ว่า เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเราได้ทางทวารต่างๆของร่างกาย เช่น ทางปาก (จากสิ่งที่เราดื่ม กิน) ทางจมูก (จากสิ่งที่เราสูดดม) ทาง หู (จากสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้าไป) ทางผิวหนัง (จากสิ่งที่เราสัมผัส) ฯลฯ เรียกว่า มีประตูทางเข้าไหนที่เปิดอยู่ตามธรรมชาติ ก็อาจมีแขกไม่รับเชิญเข้ามาได้ทั้งนั้น ดังนั้น ครูก็จะสอนวิธีป้องกัน และวิธีรักษาพื้นฐาน ไม่ให้เป็นโรคทางกายอย่างถูกต้องนานัปการ
ในสมัยเป็นเด็ก ทุกท่านคงได้เรียนวิชาศีลธรรมเหมือนกัน แต่ที่น่าแปลกก็คือ ส่วนใหญ่เราไม่ได้เรียนรู้ว่าโรคทางจิต (ไม่ได้หมายถึง Mental disorder แต่หมายถึง Spiritual disorder : โรคทางวิญญาณ) เข้าสู่ร่างกายเราได้ทางใดบ้าง มีวิธีป้องกันอย่างไร และมีวิธีเยียวยารักษาอย่างไร
จะว่าไปแล้ว เราไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า มีโรคอย่างนี้อยู่ในโลก และแทบทุกคนในโลกก็ว่าได้ ที่เป็นโรคนี้ อาการมากบ้างน้อยบ้าง....
ท่านพุทธทาส สอนว่า เชื้อโรคประเภทนี้ เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะของผัสสะ แล้วก็ปรุงเป็นความพอใจหรือไม่พอใจเรียกว่าเวทนา จากนั้นก็ฝักตัวเต็มที่กลายเป็นความอยาก เช่น อยากได้ อยากเป็น หรืออยากล้างผลาญทำลาย เรียกว่า ตัณหา เกิดตัวกูของกูจากความอยาก ความรู้สึกตัวกูของกู เรียกว่า อุปาทาน หลังจากอุปาทานก็มี ภพ ซึ่งแปลว่าความมี ความเป็น ซึ่ง ณ ขณะนี้ นับได้ว่าเป็นช่วงแสดงอาการของโรคโดยสมบูรณ์แล้ว ภพ ทำให้เกิดชาติ ชาติ คือความเกิด เกิดตัวกู เกิดทุกข์
"ในทางปฏิบัติเราหยุดการเกิดโรคนี้ ตรงที่ไม่ให้ผัสสะปรุงเวทนา หรือถ้าพลาดตรงนั้นก็ให้มาทำตรงที่ไม่ให้เวทนาปรุงเป็นตัณหา หลังจากนี้แล้วช้วยไม่ได้...."
"ความรู้สึกที่ว่า ตัวกู-ของกู ที่เป็นแม่บทของกิเลสทั้งปวงนี้ เป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งปวง คือมูลเหตุของโรคทั้งปวง"
"ความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู หรือ Egoism โผล่ขึ้นมาคราวหนึ่งนี้ ท่านเรียกว่า ชาติหนึ่ง ชาติ คือความเกิด ทีหนึ่ง นี่แหละ ความเกิดที่แท้จริงหมายถึงความเกิดของสิ่งนี้ อย่าได้ไปหมายถึงความเกิดจากท้องแม่ คนหนึ่งเกิดจากท้องแม่ทีหนึ่งแล้วก็เข้าโลงไปทีหนึ่ง นั้นไม่ใช่ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมาย มันเป็นความเกิดทาง Physical มากเกินไป"
"ความเกิดที่พระพุทธเจ้ามุ่งหมายนั้นเป็นฝ่าย Spiritual หมายถึงความเกิดที่เป็นอุปาทานว่า ตัวกู-ของกู วันหนึ่งเกิดได้หลายชาติหลายสิบชาติ หรือหลายร้อยชาติก็ตาม แล้วแต่ว่าใครจะเกิดเก่งสักกี่มากน้อย แต่ทุกคราวจะต้องเป็นชาติ เป็นตัวกู-ของกู ขึ้นมาทีหนึ่งเสมอไปแล้วมันก็ค่อยจางไป เดี๋ยวมันก็ค่อยดับไป แล้วก็ตายไป เดี๋ยวก็เกิดโผล่มาใหม่อีก เมื่อไปกระทบรูป เสียง หรือกลิ่นอย่างอื่นขึ้นอีก และแต่ละชาติ ก็มีปฏิกิริยา (reaction) ส่งต่อถึงกัน อย่างที่เรียกว่ากรรมเก่าของชาติก่อนส่งผลให้เกิดในชาตินี้ เป็นอย่างนี้ เป็นผลขึ้นมาแล้วส่งต่อกันไปอย่างนี้ทุกชาติ"
"ถ้ายังมีการเกิด เป็นต้องรู้สึกว่า ตัวกู-ของกูเรื่อย ก็เป็นวัฏฏสงสารไปเรื่อย คือทุกข์เรื่อยเป็นลูกโซ่ไปเลย แต่เราอย่าไปเข้าใจผิดตรงที่ว่า ไม่เกิดๆ นี้ มันหมายถึงว่าไม่มีความรู้สึกอะไรเลย ไปนั่งตัวแข็งเป็นท่อนไม้ นี้ไม่ใช่ มันกลับว่องไว(active)มากที่สุด ที่ว่างจากตัวกูหรือว่างจากความเกิดมากที่สุดนั้น กลับเป็นสติปัญญามากที่สุด ทำอะไรได้คล่องแคล่วที่สุด เพราะมันไม่อาจคิดผิด พูดผิด ทำผิด มันจึงทำได้รวดเร็ว"
"ถ้าใครมีบุญ คือฉลาดถึงกับรู้ว่าโดยที่แท้จิตโดยพื้นฐานนั้นมันว่าง หรือเป็นนิพพานอยู่เองแล้ว เรื่องมันก็ระวังอยู่แต่เพียงว่า อย่าให้ของใหม่เข้ามาแทรกแซง เจ้าบ้านว่างดีอยู่แล้วแขกอะคันตุกะนั่นคือวุ่น เพราะฉะนั้นอย่าให้มันเข้ามา ไล่มันออกไป ไม่ให้มันเข้ามาในบ้านในเรือนของเรา มันก็ว่างอยู่ตลอดเวลาได้"
ตัดความบางตอนมาจาก หนังสือ แก่นพุทธศาสน์ หนังสือชนะเลิศรางวัล UNESCO แห่งสหประชาชาติ เรื่อง ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา โดย พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ) ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช) ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๔
ต้องขออภัยนะค่ะ สำหรับท่านที่ไม่ชอบแนวนี้ ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ทีไรเป็นต้องง่วง แต่เมื่อใดที่หยิบมาอ่านซ้ำเหมือนซึมซับได้ดีกว่าครั้งแรกๆ การบันทึกช่วยให้หายง่วง เพราะต้องสกัดแก่นความรู้ ทำให้เข้าใจและจดจำได้ดี