ผมได้มีโอกาสสนทนากับท่านอาจารย์ประพนธ์เล็กน้อยเรื่องการเขียนบล็อก ท่านบอกว่าเราสามารถสร้างบล็อก ซึ่งเปรียบเสมือน Diary ส่วนตัว ใครจะมีกี่เล่มก็ได้ แต่มันเป็น Diary IT ต้องมีคอมพิวเตอร์ ต้องมี Internet ถึงจะทำได้ (ถึงไม่มีของส่วนตัวแต่เป็นของส่วนรวมก็ทำได้) ที่ไหนมีเครื่องและมีสายต่อ Internet ก็ทำได้ทั้งนั้น
Diary ธรรมดา เราเขียนแล้วไม่อยากให้คนอื่นมาอ่านเพราะมันเป็นบันทึกส่วนตัว แต่เจ้าบล็อกนี่มันเป็น Diary สาธารณะซึ่งเมื่อเขียนบันทึกลงไปแล้ว (เมื่อสั่งตีพิมพ์ทันที) คนอื่นก็จะเข้ามาอ่านได้ด้วย เป็นการ Share ประสบการณ์ หรือเล่าเรื่องประสบการณ์การทำงานของตนเองให้คนอื่นได้รับรู้ (แค่คิดให้ความรู้ก็เกิดความสุขแล้ว) เผื่อว่าจะมีประโยชน์หรือมีประสบการณ์ที่ตรงกันบ้าง แล้วเราก็อาจได้เพื่อนใหม่ที่รู้จักกันทางบล็อก หรือเราอาจรู้จักหรือถูกรู้จักจากท่านอื่นๆ ทางบล็อกของเรา รู้จักบล็อกก่อนรู้จักตัวนี่ดีนะครับ พอพบกันจะนึกชอบกันทันที เพราะถือว่าเป็นคนคอเดียวกัน (คอเดียวกันนี่น่าจะมีที่มาจากวงเหล้าหรือวงสุรานะครับ คอเดียวกันก็คือคอเหล้าหรือคอทองแดง แต่ในที่นี้ยืมคำมาใช้ ว่าคอเดียวกัน หมายถึง คนที่ชอบเรื่องเดียวกันคือ "เรื่องการเขียนบันทึกลงบล็อก" ครับ)
|
อย่างผมไปร่วมงานมหกรรมการจัดการความรู้ ดังภาพ ได้พบกับท่านอาจารย์หมอวิจารณ์, ท่านอาจารย์ประพนธ์ ท่านก็รู้จักผมทางบล็อกมาก่อน ก็เหมือนจะรู้จักกันมานาน และก็เกิดความเมตตา เข้ามาสนทนา วิสาสะ |
|
เดี๋ยวนี้การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือในการเขียนบล็อก คือ Gotoknow สำหรับคนบางพวก ก็ไม่ใช่เรื่องยาก คือ พวกนิสิต นักศึกษา ที่ได้มีพื้นฐานคอมพิวเตอร์มาพอสมควร ขอให้มีคนสอนสักครึ่งชั่วโมงหรือ 30 นาที ก็พอใช้งานได้ (แม้แต่เด็กประถมก็ยังใช้งานได้)
อุปสรรคคงไม่ใช่เครื่องมือหรือ Gotoknow แต่อยู่ที่ว่าไม่มีอะไรจะเขียน เพราะเขียนไม่เป็น และในชีวิตก็ไม่เคยได้เขียน
ผมอยากจะบอกว่า ถ้าไม่เริ่มต้นมันก็ไม่มีวันจะเขียนได้ ดังนั้นขอให้เริ่มต้น แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรดี ผมเห็นด้วยกับอ.จันทวรรณ อย่างยิ่ง ที่อยากให้บล็อกมีการแยกประเภทเพื่อง่ายต่อการสืบค้นในอนาคต แต่ผมคิดว่าส่วนนี้มันเป็นอุปสรรคต่อการเขียนบันทึก เพราะว่าใครจะมีเรื่องจาก Tacit Knowledge มาเขียนได้ทุกวัน เมื่อเขียนบ้างไม่เขียนบ้าง ไม่มีเวลาว่างบ้าง มันก็จะขาด ๆ หาย ๆ นาน ๆ เข้า ก็เลิกเขียนไปเลย
แต่ถ้าบางคนเป็นโรคติดบล็อกขึ้นมา (อันดับ 1-10 ของบล็อกที่มีบันทึกมากที่สุดนี่ เป็นกันทุกคน โดยเฉพาะ อันดับ 1-5 นี่เป็นกันใหญ่เลยครับ) แล้ว หยุดเขาไม่อยู่จริง ๆ
แต่ถ้าสังเกตดูให้ดีจริง ๆ แล้ว ใน คนที่เขียนบันทึกได้มากนี่ จะมีอยู่บล็อกเดียวที่เขียนบันทึกแทบจะทุกวัน ดังนันผมจึงมีความเห็นอย่างนี้ครับ
-
เริ่มแรกเมื่อสร้างบล็อก ให้สร้างบล็อกในตัวตนของตัวเองอย่างที่เราเป็น (General) ก่อน เล่าประสบการณ์จากการทำงาน ทำนองเป็น Diary จดบันทึกการทำงานประจำวัน เมื่อเป็นโรคติดบล็อกแล้วเมื่อไหร่ สักวันหนึ่งเราค่อยมาเขียน "บล็อกเฉพาะทาง" (ยืมศัพท์แพทย์มาใช้) กันครับ จะมีกี่บล็อกก็ได้ ตอนนั้นค่อยว่ากัน
-
ผมเห็นบล็อกเฉพาะทางหลายบล็อก ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป (ไม่กลับเข้ามาเขียนอีก) นึกเสียดายครับ ดาวร่วงไปหลายดวง
-
มีแนวทางที่ทางสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน เริ่มสร้าง "บล็อกทั่วไป" คือเมื่อสร้างบล็อกแล้วมีอะไรก็เขียนไปก่อน ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในส่วนของอาจารย์ที่ต้องส่งนักศึกษาไปฝึกสอนที่โรงเรียน เพื่อให้ติดตามการนิเทศก์ได้ง่ายขึ้น ก็ใช้ gotoknow เป็นเครื่องมือ ให้นักศึกษาได้เขียนบล็อกบันทึกการทำงานฝึกสอน ประจำวันไปทำนองเป็น Diary ส่วนตัว อาจารย์ก็ติดตามอ่านที่ห้องทำงานได้เลย และก็สามารถใช้ส่วนนี้เป็นส่วนในการให้คะแนนได้เลยครับ (ผมคงจะคิดไม่ผิดนะครับ แต่ผมยังไม่ทราบว่าเป็นอาจารย์ท่านใด ช่วยเข้ามาลปรร.กันนะครับ เผื่อผมจะได้เอาวิธีการของอาจารย์ไปใช้บ้างครับ คือ ถึงแม้ผมไม่มีนักศักษาฝึกสอน แต่ผมมีนิสิตฝึกงานครับ)
-
ถ้านักศึกษาไปฝึกสอน แล้วไปอยู่ห้องคอมพิวเตอร์ แล้วไปสอนนักเรียนให้เขียนบล็อกกันอีก คราวนี้จะมีบันทึกของนักเรียนขึ้นมาอีก อาจารย์จันทวรรณ (คุณธวัชชัยด้วยเดี๋ยวน้อยใจที่ไม่เอ่ยถึง) คงต้องขยายอายุ (ให้ลดอายุผู้ใช้งานลง) ของผู้เข้ามาใช้บริการ gotoknow ลงมาบ้างแล้วครับ (ไม่ทราบว่าเป็นไปได้หรือเปล่า)
-
ผมสงสัยมานานแล้ว อยากถามผู้ควบคุมระบบว่า เนื้อที่ในการจัดเก็บบันทึกในบล็อก ถ้าให้บล็อกละ 30 ล้าน.....(จำหน่วยไม่ได้) แล้วทุกบล็อกใช้เนื้อที่เต็ม จะมีบันทึกได้ Maximum เท่าไหร่ หรือไม่มีข้อจำกัด (อาจขยายได้ในอนาคต) แล้วต่อไปจะมีนโยบายล้าง"บล็อกขยะ" หรือไม่ (ประเภทมาทดลองระบบ 1-2 บันทึก แล้วก็จากไป) (ข้อนี้เดาว่าคงยังไม่ตอบเพราะเป็นเรื่องอนาคตเอามากๆ เนื่องจากตอนนี้ประกาศนโยบายเก็บรักษาบล็อกเอาไว้ก่อน )
-
ลืมไปสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ (ส่วนใหญ่เท่าที่สังเกต มี 2 วงใหญ่ๆ คือวงการสาธารณสุข และวงการการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน ต่อไปก็อาจเป็นวงการปกครองท้องถิ่น) อยากจะมีบล็อกของตัวเองแต่ยังไม่มีใครสอน ก็ขอให้ไปหาหน่วยประกันคุณภาพฯ ของท่านเป็นอันดับแรกครับ เพื่อช่วยกันต่อไป
-
ช่วยกันให้ความเห็นต่อไปครับ................
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย beeman 吴联乐 ใน 25th Anniversary Beeman
ที่อาจารย์กล่าวมาทั้งหมดสามารถทำได้ทั้งสิ้นคะ แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของทาง สคส. คะ
1) เรื่องเนื้อที่ของ Server และเนื้อที่ที่ให้บริการ Blogger แต่ละคนนั้นเพิ่มได้คะ เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ในปัจจุบันนี้ ถูกลงอย่างมากและลดลงอย่างรวดเร็วคะ ดังนั้นเราไม่ต้องกังงลเรื่องเนื้อที่ทีจะไม่เพียงพอคะ เพียงแต่ทุกอย่างเป็นเรื่องของต้นทุนในการบริหารจัดการคะ ซึ่งก็แล้วแต่ทาง สคส. คะ แต่ในฐานะผู้ดูแลระบบ เราสามารถนำเสนอให้ทาง สคส. ทราบได้คะ เมื่อความจำเป็นมาถึงคะ
2) นโยบายล้างบล็อกไม่มีคะ ถ้าเจ้าของบล็อกไม่เขียน ก็ไม่เป็นไรคะ ก็ปล่อยไว้อย่างนั้นคะ บล็อกมากมายนะคะ ที่ไม่ได้ปรากฏในหน้าหลักของ GotoKnow.org เพราะเจ้าของบล็อกเขาต้องการให้เป็นบล็อกส่วนตัว คือ ไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของ GotoKnow.org แต่อย่างไรก็ยังก็ปรากฏบนอินเตอร์เน็ต เพียงแต่เจ้าของบล็อกต้องการจัดการเรื่องการเผยแพร่เองคะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากสำหรับ Blog hosting service ทุกระบบคะ ไม่ว่าจะเป็น Blogger, MySpace หรือที่ใดๆ ก็ตามคะ
3) เรื่องการขยายฐานอายุของเจ้าของบล็อกใน GotoKnow.org เป็นเรื่องระดับนโยบายคะ คือ GotoKnow.org มีเป้าหมายคือ เน้นการบันทึกความรู้เชิงปฏิบัติเพื่อการจัดการความรู้เชิงฝังลึกเพื่อสร้างคลังความรู้ของประเทศ การ Promote ของสคส. ในแต่ละที่ จึงเน้นไปที่กลุ่มคนที่มี Expertise คะ ดังนั้น ผู้ที่มาเขียนก็จะเป็นคนลักษณะนี้คะ ซึ่งย่อมมีอายุพอสมควรตามประสบการณ์คะ แต่หากอยากได้บล็อกทั่วๆ ไป สคส. หรือองค์กรใดก็สามารถทำได้คะ เพียงแค่เอาระบบ MemeExpress ซึ่งเป็น Open-source ซึ่งเราใช้ run GotoKnow.org ไปลง ก็เท่านั้นคะ