ความขัดแย้งในองค์การ


มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา หากว่ากระบวนการแก้ไขความขัดแย้งเหล่านั้นมากกว่า ที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้

     14 ปีที่เริ่มรับราชการมา ผมมักจะพบเห็นความขัดแย้งขององค์การต่าง ๆ หรือแม้แต่ภายในองค์การที่ได้ทำงานอยู่เสมอ ๆ แต่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา หากว่ากระบวนการแก้ไขความขัดแย้งเหล่านั้นมากกว่า ที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้สำหรับผม มาดูความหมายของความขัดแย้งกันก่อน

     ความขัดแย้ง (Conflict) ตามความหมายที่ทัศนา แขมมณี (2522) จะหมายถึง สภาพการณ์ที่ทำให้คนตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถตัดสินใจหรือหาข้อยุติอันเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้ จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีคนตั้งแต่สองคน หรือสองกลุ่มขึ้นไป มาร่วมพิจารณาหรือตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มีพื้นฐานการรับรู้ ค่านิยม ประสบการณ์ ตลอดจนเป้าหมายที่ต่างกันโดยแต่ละฝ่ายพยายามมุ่งจะเอาชนะหรือมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง จึงเกิดเป็นความขัดแย้ง (Conflict) ขึ้น แต่บางครั้งบางเรื่อง ความขัดแย้งขององค์การก็เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรกเลยที่เดียวซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างที่วางไว้โดยสังคมเอง เช่น ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น

     ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดได้เสมอไม่ว่าในหรือนอกองค์การ โดยเฉพาะองค์การที่ใหญ่ และมีความซับซ้อนมาก ๆ  สำหรับแนวความคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งในองค์การมีความแตกต่างกันในแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่น แนวความคิดเดิมถือว่าความขัดแย้งในองค์การเป็นสิ่งที่ทำลายองค์การต้องขจัดให้หมดไป แต่แนวคิดด้านพฤติกรรมศาสตร์ยุคใหม่  ถือว่า  ความขัดแย้งในองค์การเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ส่วนแนวความคิดด้านปฏิกิริยาสัมพันธ์ถือว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นและควรกระตุ้นให้เกิดขึ้นในองค์การ  เพราะอาจก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่องค์การ  อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าขององค์การนั้น ๆ

     ดังนั้น พอจะสรุปได้ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจให้ประโยชน์หรือโทษต่อองค์การก็ได้  การจัดการกับความขัดแย้งนั้น ก็สามารถกระทำได้โดยการพิจารณาที่สาเหตุ วิธีการที่เหมาะสม เพื่อควบคุมให้อยู่ในระดับที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การให้มากที่สุด

     มีเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ที่ทีมงานสามารถนำผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าขัดแย้งกันทางความคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างแรง แต่ในการนั่งประชุมร่วมกันนั้น ก็มีกลุ่มเยาวชนอยู่ด้วย ก็เกิดความอายต่อเด็ก ๆ ทำให้ผู้ใหญ่สองท่านพรั่งพรูประสบการณ์ที่เป็นความรู้ส่วนลึกออกมาเป็นสิ่งดี ๆ ที่ก่อร่างสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาพื้นที่ออกมา แบบแข่งกันรู้ แข่งกันแนะนำเยาวชน ผลได้ก็เกิดกับการพัฒนาชุมชนอย่างเต็มที่ งานนั้นความยากอยู่ที่การทำให้สองคนนั่นมานั่งประชุมพร้อมกันได้ ซึ่งเทคนิคก็เป็นของกลุ่มเยาวชนที่ใช้วิธีญาติใคร ใครลากมา แบ่งกันครับ และกลุ่มเยาวชนก็เป็นตัวกันชน (Buffer) ที่ดี

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7526เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2005 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท