ชีวิตที่พอเพียง : 207. ท่องเน็ตกระตุ้นเอ็นดอร์ฟิน


        เช้าวันที่ ๖ มค. ๕๐ อากาศกำลังสบาย     มีเสียงนกร้องไพเราะ     เพลงคลาสสิคจาก iPOD ที่จุกรูหูผมอยู่ก็ไพเราะจับใจ    ผมออกท่องเน็ตหาความสำราญ     โดยเริ่มต้นที่ "สนามหลวง" ก่อน     คือที่ Gotoknow.org     ผมกำลังสนใจหาทางส่งเสริม KM เพื่อการพัฒนาเยาวชน     จึงค้นโดยระบุ http://gotoknow.org/blog/tag/youth    ไปพบ บล็อก http://gotoknow.org/mediaforyouth ของว่าที่ร้อยตรีจิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์ แห่งมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน   

         คุณจิรศักดิ์เขียน บล็อก ถึง ๓ บล็อก    อีก ๒ บล็อก คือ /naigod  และ /ngothai    ใน บล็อก ngothai ได้ลงบันทึกเล่าเรื่องคนดีไว้ ๒ คน ได้แก่ ครูซัน (สมพงศ์ หมื่นจิต) ครูนักดนตรีผู้ล่วงลับ อ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/ngothai/52942     และเรื่อง ผศ. สุจิตต์ ศรีชัย คุณครูสอนฟิสิกส์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ อ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/ngothai/33703    ได้เสพเอ็นดอร์ฟิน จากการชื่นชมคนดีเหล่านี้สมใจ    ผมจึงเข้าไปยุคุณจิรศักดิ์ ให้ช่วยกันเล่าเรื่องคนดีที่เป็นคนเล็กคนน้อยออกสู่สังคม     เพื่อช่วยกันจรรโลงสังคม

         จาก บล็อก ของคุณจิรศักดิ์ ผมเข้าไปในเว็บไซต์ของโครงการคนอาสา มูลนิธิกระจกเงา www.siamvolunteer.com โดยไม่รู้ตัว  ได้เห็นกิจกรรมของโครงการนี้ผมก็ได้เสพเอ็นดอร์ฟินอีก  

         ผมกลับมาคิดว่า  เรามีช่องทางรับรู้เรื่องราวของกิจกรรมที่เยาวชนทำดี  ทำเพื่อสังคมผ่านทางสื่อต่างๆ     ในลักษณะที่มีมูลนิธิหรือหน่วยงานจัดช่องทางชักชวนคนไปร่วมกิจกรรม     ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก     ได้รับรู้แล้วชื่นใจ    และคนที่ไปร่วมก็คงจะเกิดปิติสุข เกิดความรู้สึกเป็นกุศลที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น  

         แต่ผมอยากได้มากกว่านั้น    ผมอยากได้รับรู้เรื่องราวที่เยาวชนคิดทำกันเอง     ทำกิจกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง     ทำโดยไม่ต้องขอเงินช่วยเหลือจากใคร     ทำโดยไม่หวังเป็นข่าว     แต่ทำเพราะทำแล้วสุขใจ เกิดการขัดเกลาจิตใจไปโดยอัตโนมัติ    (ย้ำการทำอย่างต่อเนื่อง    ทำเองโดยไม่รอขอการสนับสนุนจากใครๆ   ทำโดยไม่หวังเป็นข่าว     ทำแล้วเกิดการเรียนรู้ด้านการขัดเกลาจิตใจ)     ตัวอย่าง   มีไหม ที่เยาวชนนักดนตรี รวมตัวกันไปเล่นดนตรีให้คนชราที่บ้านพักคนชราฟังอย่างต่อเนื่อง (เช่นทุกวันเสาร์  ๑๔ - ๑๕ น.) ทำมา ๒ ปี     มีไหมที่นักเรียนโรงเรียนหนึ่งจัดชมรมอาสาสมัคร ไปช่วยปัดกวาดทำความสะอาดวัด (หรือทำกิจกรรมสาธารณะแบบอื่น) ทุกสัปดาห์  หรือทุกเดือน    กิจกรรมนี้ทำมานานหลายปี และส่งต่อกันระหว่างนักเรียนรุ่นต่อรุ่น

         ผมอยากฟัง (ที่จริงอ่าน) เรื่องเล่าของเยาวชนอาสาสมัครเพื่อสังคมแบบนี้บ้าง     ท่านผู้ใดจะช่วยเล่า    หรือชักชวนเจ้าตัวเข้ามาเล่าเอง    เชิญเล่าใน gotoknow นะครับ    โดยติดป้ายว่า "ข่าวดี" และ ""GoodNews"     หรือถ้าไม่ถนัด เล่าเป็นจดหมายมาที่ผมหรือคุณจ๋า (ฉันทลักษณ์ อาจหาญ)     เราอาจคิดโครงการหรือกิจกรรมที่จะช่วยกันจรรโลงสังคมต่อเนื่อง     สร้างเครือข่ายเยาวชนเพื่อสังคมขยายตัวออกไป    และช่วยกันส่งเสริมให้เยาวชนเหล่านี้เผยแพร่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของตนผ่านการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหลากหลายรูปแบบ  ก็ได้นะครับ  

วิจารณ์ พานิช
๖ มค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 75209เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2007 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 00:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะเข้ามาเยี่ยมท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ครับ
  • มาเพิ่ม Page view ให้หนึ่ง และข้อคิดเห็นอีกหนึ่ง
  • เมื่อเช้าผมขับรถ..คิดหาเรื่องมาเขียนบันทึก..นึกถึงคำว่า "เสพ" ครับ
  • จะเขียนเรื่องความหมายของคำว่า "เสพ" พร้อมยกตัวอย่าง
  • แต่มาพบบันทึกนี้..คงไม่เขียนแล้ว
  • ท่านอาจารย์หมอ..ท่องเน็ต..เสพเอ็นดอร์ฟิน (ตั้งแต่วันที่ ๖) นี่เอง..วันนั้นเสพไปสองก๊งทีเดียว..เรียกว่ากำลังดี..โลหิตสูบฉีดแบบพอเพียง..ครับ

ได้รับการแนะนำชื่อคุณหมอจากพอ.สันดุษิต ดีบุกคำ วิทยากร PL โครงการครอบครัวเข้มแข็ง จ.ลำปาง ลองติดตามหาอ่าน KM ไม่ผิดหวังจริงๆ

ประเทศไทยยังมีความหวัง คนดียังมีอยู่เต็มแผ่นดิน ดิฉันอยู่เชียงใหม่ หน้าวัดนันทาราม เย็นๆวันหยุดจะเห็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง น่าจะเป็นนักศึกษาสักแห่ง ปั่นจักรยานมาปัดกวาดรอบๆเจดีย์ที่วัด ยังไม่เคยคุยกับเขา คิดว่าจะหาเวลาไปสัมภาษณ์ให้เอนดอร์ฟินหลั่งสักวัน...อีกเรื่องนะคะ ที่วัดอุโมงค์ ชม. ทุกวันพระและเช้าวันอาทิตย์จะมีชายหนุ่มสองคนมากวาดลานวัด กวาดๆแล้วก็กลับบ้าน ดิฉันและครอบครัวเคยซื้อซาละเปาไปฝากเขา ทราบว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง ซาบซึ้งใจจริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท