ระบบแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง (2)..ภูมิคุ้มกัน


" ....การมีภูมิคุ้มกันที่ดีจะช่วยทำให้กิจการสามารถดำรงอยู่ได้ในลักษณะไม่เสี่ยงมากจนเกินไปทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นที่ไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้ หรือถ้าหากได้รับผลกระทบก็จะสามารถฟื้นตัวได้ในเวลารวดเร็วพอสมควร โดยที่การจะมีภูมิคุ้มกันที่ได้นั้นจำเป็นจะต้องมาจากการพึ่งตัวเองให้ได้เป็นส่วนใหญ่"

บ่ายวันที่ 25 มค. ทีมสังเคราะห์โครงการระบบแลกเปลี่ยนชุมชน คุยกันต่อ  พวกเราคุยกันมาถึงเรื่อง  "การมีภูมิคุ้มกัน"  ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง

คำถามคือ ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชนได้อย่างไร

เรา (ผู้เขียนบันทึก) เสนอว่า  ระบบแลกเปลี่ยนสร้างภูมิคุ้มกัน 3 ทาง (1) ลดรายจ่าย (2) สร้างผลผลิตที่หลากหลายในพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยง (3) คือ การสร้างตลาดในท้องถิ่นที่ทำให้ใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพ (ไม่เหลือทิ้ง)และลดต้นทุนการตลาด (ค่าขนส่ง ดอกเบี้ย เป็นต้น) เป็นการสร้างตลาดทางเลือกให้ชุมชน จึงเกิดเป็นภูมิคุ้มกันได้

แต่น้องตุ๊ก พัชรินทร์ ไม่เห็นด้วยที่จะเรียกสิ่งเหล่านี้  ว่าเป็น "ภูมิคุ้มกัน" 

นฤมนเห็นว่า เป็นภูมิคุ้มกัน  แต่ไม่ใช่เป็นลักษณะเฉพาะของ ระบบแลกเปลี่ยน

อ.ภีมบอกว่า  ยังไม่เห็นการเชื่อมโยงของสิ่งที่นำเสนอว่าเป็น "ภูมิคุ้มกัน"  กับสิ่งที่เกิดขึ้นและที่สังเคราะห์กันเมื่อเช้า 

เวลาหมด พวกเราจึงต้องทิ้งโจทย์ใหญ่ไว้ให้หัวหน้าโครงการคิดต่อ

วันนี้  เราจึงต้องกลับมาตั้งต้นคิดกันใหม่อีกครั้งว่า "ภูมิคุ้มกัน" คืออะไรแน่

 ตอนนี้ได้คำนิยามหนึ่งจากงานเขียน ของ ศาสตราจารย์อภิชัย พันธเสน ว่า   " ....การมีภูมิคุ้มกันที่ดีจะช่วยทำให้กิจการสามารถดำรงอยู่ได้ในลักษณะไม่เสี่ยงมากจนเกินไปทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นที่ไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้ หรือถ้าหากได้รับผลกระทบก็จะสามารถฟื้นตัวได้ในเวลารวดเร็วพอสมควร  โดยที่การจะมีภูมิคุ้มกันที่ได้นั้นจำเป็นจะต้องมาจากการพึ่งตัวเองให้ได้เป็นส่วนใหญ่"

คงต้องคิดต่อว่าจะนำนิยามนี้ไปช่วยอธิบายสิ่งที่พบเห็นได้อย่างไร  และไม่ใช่เรื่องที่ "ลอยมา" จากจินตนาการของผู้สังเคราะห์

ที่ยากกว่า คือ จะสื่อสารกับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่จะจัดในวันที่ 15 มีนาคมอย่างไร ภายใต้เวลาไม่กี่นาที

หมายเลขบันทึก: 74929เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2007 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผมคิดว่าภูมิคุ้มกันนอกจากที่อ.อภิชัยให้ไว้แล้วน่าจะอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงที่สามารถกำหนดได้(บ้าง)ด้วย

กลุ่มกรงนกที่ศึกษาจำต้องปรับเปลี่ยนตามภาวะการณ์ที่ยากจะควบคุมได้ หากกลุ่มสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้บ้าง ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิคุ้มกัน แต่ความเป็นกลุ่มของกลุ่มกรงนกไม่ชัดเจนนักบทบาทกลุ่มอาจจะไม่ต่างจากพ่อค้าคนกลางเท่าใดนัก

หากมองในระดับชุมชน การทำกรงนกเป็นกิจกรรมเพื่อการค้าเชิงวัฒนธรรม จึงไม่น่าจะสูญสลายไปง่ายๆ     จะพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองอย่างไรสำหรับชุมชนแห่งนี้ยังตอบไม่ได้ แต่การดำเนินงานผ่านกลุ่มกรงนกน่าจะทำได้ยาก

กรณีกลุ่มกรงนก 

ชอบใจคำว่า "การค้าเชิงวัฒนธรรม" ของคุณภีม  เห็นด้วยค่ะว่าคงจะไม่สูญสลายไปง่ายๆ

กรณีกลุ่มกรงนก  เราวางเป้าหมายการทำงานอยู่ที่กลุ่ม (ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพียงคนกลางรวมซื้อรวมขายอย่างที่คุณภีมว่า)  การเคลื่อนงานผ่านกลุ่มโดยคาดหวังการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตในชุมชน จึงผิดจากข้อเท็จจริง  การวิเคราะห์ของคุณภีมถูกต้องอย่างยิ่งว่า "ทำได้ยาก"

ตอนเริ่มงานกับกลุ่ม เรายังไม่เห็นปัญหาของโครงสร้างการผลิต  เรามองกลุ่มในฐานะต้นแบบของระบบหักบัญชี   แต่เมื่อเกิดปัญหา น่าเสียดายที่ตัวเอง ปรับวิธีทำงานไม่ท้นเพราะตอนนั้นคิดไม่ออก  ทั้งๆที่จริงๆแล้วพอมีทาง เช่น ทำงานกับหน่วยอื่นๆในพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น พัฒนาชุมชน อบต.

 โจทย์ของกลุ่มกรงนกในฐานะคนกลางคือ การหาสินค้าอื่นๆมาค้าขายเพิ่มเติมจากกรงและวัตถุดิบ เพื่อกระจายความเสี่ยงให้กลุ่มอยู่ได้ (เป็นภูมิคุ้มกันให้กลุ่ม)  มองอย่างตรงไปตรงมา  กลุ่มกรงนกไม่มีบทบาทหน้าที่ต้องมาสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน    พี่มะ ในฐานะกรรมการกลุ่ม คิดถูกแล้ว (สอดคล้องกับบทบาทในกลุ่ม) ที่มองเป้าหมายการร่วมกิจกรรมอยู่ที่เครือข่ายเพื่อนเสี่ยวเกลอ  แต่การร่วมโครงการก็ทำให้พี่มะมองกว้างไกลไปกว่าบทบาทเดิมของตัวเองอยู่มาก

กำลังคิดทบทวนว่า  ในพื้นที่อื่นๆ เรามีความบกพร่องเรื่องการวางกลุ่มเป้าหมายหรือไม่

บทเรียนอีกข้อคือ  ทีมสังเคราะห์ตรงกลางที่ช่วยกันคิดจะสำคัญมาก  เรามีแนวคิดที่จะมี "ทีม"  ลงไปช่วยกันดูในพื้นที่  แต่ในทางปฏิบัติ เราเพิ่งได้"ทีม" (มากกว่า 1)จริงๆ  ก็ตอนเกือบจบโครงการ

กรณีภูมิคุ้มกัน (อ.อภิชัย+อ.ภีม)

1. ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง

2. หากได้รับผลกระทบ ก็ฟื้นตัวได้ (เร็ว)

3. กำหนดการเปลี่ยนแปลงของตนเองได้ (บ้าง)

เงื่อนไขจำเป็นของการมีภูมิคุ้มกัน  คือ  การพึ่งตนเอง

+++++++++++++

ถ้าพึ่งภายนอกเป็นหลัก  ความเสี่ยงสูง  ได้รับผลกระทบตรงๆจากการเปลี่ยนแปลงแน่  ฟื้นตัวยาก และกำหนดทิศทางของตัวเองไม่ค่อยได้ ... 

+++++++++++++

ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน

1. สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม  ผ่านการสร้างเพื่อนและเครือข่าย ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันได้ต่อเมื่อมีการร่วมคิด ร่วมทำเพื่อแก้ปัญหา หรือ ให้ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันเพื่อแก้ปัญหา  ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมคือ การเกิดกิจกรรมเพื่อสวัสดิการของสมาชิก  เช่น กลุ่มชัยภูมิแลกเปลี่ยนทักษะแรงงานจนได้บ้านดินมา 3 หลังสำหรับ 3 ครอบครัวใหญ่

2. สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ  ผ่านการมีตลาดทางเลือก ซึ่งในบริบทของระบบแลกเปลี่ยนชุมชนมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ  (1) เป็นตลาดที่แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ผลิตโดยชุมชนเพื่อชุมชนก่อน  (2) ไม่จำเป็นต้องใช้เงินบาท  เช่น ให้ แลก ใช้สื่อที่ชุมชนสร้างเอง

... จะเห็นว่า ระบบของกลุ่มกรงนกผ่านข้อ (2) แต่ไม่ผ่านข้อ (1)

ทั้งข้อ (1) และ (2)  เป็นการพึ่งตนเอง หากสร้างตลาดทางเลือกที่มีขนาดใหญ่พอ (เช่น กิจกรรมการแลกเปลี่ยนในชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 50  กระทำผ่านกลไกนี้) ก็น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจชุมชนได้ในระดับดี (หากต่ำกว่าร้อยละ 50 ก็คือ สร้างภูมิคุ้มกันได้ "บ้าง" ????)

คิดอย่างนี้ พอจะใช้ได้ไหม ??

คำถามในเชิงกลไกก็คือ  ตลาดทางเลือกในระบบแลกเปลี่ยนชุมชน (ไม่ใช่หมายถึงตลาดนัด  เพราะตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ เช่น แลกกันเองระหว่างบ้าน)  ถ้ามีขนาดใหญ่พอ จะสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจได้อย่างไร  เพราะถ้าอธิบายกลไกไม่ได้ ก็จะดูโมเม  

 1. ตลาดทางเลือกที่ว่า มุ่งตอบสนองความต้องการในชุมชน โดยใช้สิ่งที่ชุมชนมีหรือผลิต  เป็นการพึ่งตนเองในการผลิตและบริโภค  จึงมีภูมิคุ้มกัน

2.  ถ้าตลาดทางเลือกทำให้เกิดการผลิตที่หลากหลาย ก็จะเป็นการกระจายฐานการผลิตของชุมชน  เป็นการลดความเสี่ยงทางการผลิตและตลาด

3.  ตลาดทางเลือกที่ว่า ไม่ต้องพึ่งคนกลางจากภายนอก ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน

4.  ตลาดทางเลือกทำให้ได้ของใหม่ สด ปลอดภัย (เพราะคนทำก็กินเองด้วย)  ราคาถูกกว่า ไม่ต้องเสียค่าขนส่งเดินทาง  ลดรายจ่าย

ข้อ 1, 3, 4 เห็นผลเชิงประจักษ์ (แต่ขนาดยังเล็กเพราะตลาดเล็ก) แต่ข้อ 2 เกิดผลบ้างในบางกลุ่ม

 

 

 

การแลกเปลี่ยนชุมชนมีความสำคัญในอดีตเพราะความจำเป็นในการดำเนินชีวิตและภัยธรรมชาติ       ซึ่งเป็นที่มาของศาสนาด้วย

การพึ่งตนเอง พึ่งพระเจ้า และพึ่งพาช่วยเหลือกันเป็นความจำเป็นในการอยู่รอดของชีวิต

มีการคิดค้นเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินชีวิตและที่สำคัญคือ "การจัดการ"

เมื่อ"การจัดการ"เข้ามาแทน"วิถี"มากขึ้น หลายส่วน จำต้องเลือกดำเนินชีวิตตาม"การจัดการ"เพื่อให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาหรือถูกกำหนดจากภายนอกมากขึ้น

ภายนอกที่ว่าใช้การสะสมทุนทุกประเภทเป็นพลังในการสร้างโลกทุนนิยมที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น

แต่ความสะดวกสบายก็ต้องแลกมาด้วยเรื่องต่างๆที่มีค่ามากมายทั้งจากตัวทุนนิยมเองและการจัดสรรหรือกระจายรายได้ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งส่วนบุคคล ชุมชน สังคม และโลก

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอาจเป็นความพยายามที่จะดำรงอยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติเพื่อให้การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเกิดความสมดุล

รูปแบบและวิธีการในการหนุนเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงด้วยระบบแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองเป็นส่วนย่อยหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากมันไม่ใช่หน่วยจัดการแต่เป็นระบบหรือความสัมพันธ์ จึงมีความยากในการดำเนินงาน ผมเห็นว่า

จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการปกครองที่กำหนดกติกาในชุมชนคือรัฐ ทั้งส่วนกลางและอปท.

หากรัฐจะสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง ก็ควรพิจารณาเชิงระบบที่ผมก็ยังคิดไม่ออก ถ้าจะเปรียบคือ

ทุนนิยมสนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการกระจายรายได้ ด้วยเครื่องมือต่างๆเช่นภาษีทั้งภาษีบุคคล นิติบุคคล และมรดก เป็นต้น (เราก็ไม่ทำ)

วินัย ประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบ (เราก็ไม่ทำ)

เศรษฐกิจพอเพียงตามมาตรฐาน3ห่วง2เงื่อนมีมาตรการในรายละเอียดอย่างไร

ระบบแลกเปลี่ยนชุมชนโดยตัวมันเองจะดำรงอยู่ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่ไม่เป็นธรรมนี้อย่างไร?

ขอบคุณคุณภีม เป็นมุมมองที่น่าสนใจมากค่ะ

"การจัดการ" กับ "วิถี"....  (วิถีไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ?)... "การจัดการ" = วิธีการ ?

การสร้าง/พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนชุมชน เป็นการสร้างกติกา สร้างระบบความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ (ที่สวนกระแส)  จึงเป็นเรื่องยาก    (และทำให้ไม่แน่ใจว่า รัฐ /อปท.จะทำได้ดีกว่า... ดีกว่าใคร  ดีกว่าชาวบ้าน ดีกว่านักวิจัย??)

ในทำนองเดียวกัน เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นความพยายามสร้างกติกา สร้างมาตรฐานกันใหม่

สิ่งที่นักวิชาการกำลังพยายามทำ คือ เสาะหารูปแบบที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปใช้เป็นมาตรการ ตามมาตรฐาน 3 ห่วง 2 เงื่อน

สิ่งที่จะทำให้เรื่องยาก ดูเป็นเรื่องง่ายขึ้น คือ บอกว่า ทั้งเศรษฐกิจพอเพียงและระบบแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว  เพียงแต่ต้องการการฟื้นฟูและขยายผล ???

ยิ่งคิดยิ่งยากค่ะ !!! 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท