ระบบแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง (1)


เครื่องมือ ในที่นี้คือ "ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน" ที่สมาชิกในชุมชนแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ตนผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในชุมชนก่อน โดยไม่จำเป็นที่ต้องใช้เงินบาทมากนัก จะทำเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงการผลิตหลายๆกิจกรรม เชื่อมการผลิตกับการบริโภค และมีฐานคิดของการให้และแบ่งปัน

วันที่ 25 มค. ทีมวิจัยโครงการระบบแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง  ได้ประชุมทีมนักวิจัย (ทีมย่อย) เพื่อช่วยกันสังเคราะห์งาน มีป้าหมู ศิริวรรณ ผอ.มูลนิธิบูรณะชนบทฯ (NGO ไทยแห่งแรกที่มี อ.ป๋วยเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มเมื่อ 2510 หรือ 40 ปีที่แล้ว)  มีอ.ชัยยนต์ จาก ม.บูรพา  อ.ภีม จาก ม.วลัยลักษณ์  นฤมนกับพัชรินทร์ สองผู้ช่วยวิจัยมือดี จาก ม.ธรรมศาสตร์ เข้าร่วมคิดในครั้งนี้  และช่วงเช้ายังมี คุณพิพัฒน์ ประธานสถาบันไทยพัฒน์  ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

ช่วงเช้าเราพยายามถอดบทเรียนจากพื้นที่ต่างๆ  เป็นการพูดคุยที่ได้สาระ ได้ขบคิด และสนุกมากกับการได้แลกเปลี่ยนความคิด

มีประเด็นน่าสนใจมากจากกลุ่มกรงนก อ.จะนะ จ.สงขลา และ กลุ่มชุมชนพวา อ.แก่งหางแมว จ. จันทบุรี    เราพบว่า "โจทย์"ของพื้นที่ทั้งสองต่างกัน  ความต้องการ "เครื่องมือ" ในการแก้ปัญหาจึงต่างกัน   เมื่อเรามีเครื่องมืออยู่ชุดหนึ่ง  เครื่องมือนี้จึงใช้ได้ผลต่างกันในสองพื้นที่

เครื่องมือ ในที่นี้คือ "ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน" ที่สมาชิกในชุมชนแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ตนผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในชุมชนก่อน โดยไม่จำเป็นที่ต้องใช้เงินบาทมากนัก     จะทำเช่นนี้ได้  จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงการผลิตหลายๆกิจกรรม  เชื่อมการผลิตกับการบริโภค และมีฐานคิดของการให้และแบ่งปัน

ด้วยพื้นที่กึ่งเมืองในเขตเทศบาลของกลุ่มกรงนก  เมื่อพื้นที่ประสบปัญหาหาวัตถุดิบ (ไผ่และหวาย) ได้ยาก ประกอบกับตลาดรับซื้อเล็กลง เพราะ ปัญหาไข้หวัดนกและอื่นๆ   ทางออกของชาวบ้านก็คือ  ออกไปเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงาน เช่น โรงไฟฟ้าและท่อแก๊สของ ปตท. 

นักวิจัยวางระบบแลกเปลี่ยนชุมชนไว้ที่การมุ่งลดรายจ่ายมากกว่าหารายได้เงินบาท จึงไม่ได้ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน  (ในบางพื้นที่ ใช้ระบบแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้การผลิตในพื้นที่ เกิดเป็นรายได้เสริม ก็ทำได้เหมือนกัน)

แม้ทีมวิจัยจะเห็นว่า การลดรายจ่าย ก็คือการเพิ่มรายได้สุทธิ   การมีฐานการผลิตที่อิงตลาดภายนอกเกือบ 100%   เป็นความเสี่ยงและสมาชิกกลุ่มกรงนกก็กำลังได้รับผลกระทบนั้น การปรับฐานการผลิตของชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ  แต่ก็เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและหาแนวทางให้เกิดผล

ในทางตรงข้าม  กลุ่มชุมชนพวา อยู่ร่วมกับป่า (ใกล้เขาชะเมา) ระบบแลกเปลี่ยนชุมชนที่สนับสนุนการพึ่งตนเองจึงสอดคล้องกับอุดมการณ์และความต้องการของกลุ่ม   ที่สำคัญคือ กลุ่มมีทีมงานชาวบ้านที่เข้มแข็งจากประสบการณ์การทำงานวนเกษตรร่วมกับเครือข่ายปราชญ์ตะวันออกของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม  กิจกรรมต่างๆจึงดำเนินไปด้วยดี

ชุมชนพวาสร้าง "นวัตกรรมทางสังคม" 2  อย่าง 

หนึ่งคือ สร้างประเพณี "ปรงคืนถิ่น" (ที่อื่นไม่มี)  ชาวบ้านนำต้นปรงซึ่งเป็นไม้ราคาแพงหายากกลับไปปลูกในป่า   ทราบว่า เร็วๆนี้ รมต.กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ร่วมงานด้วย

สอง คือ การสร้างคูปอง "รู้จักพอ" เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนไว้ใช้เองในชุมชน  คูปองนี้ซื้อของนอกชุมชนไม่ได้ แต่ซื้อของที่ผลิตในชุมชนหรือที่ร้านค้าชุมชนได้  การใช้คูปองจึงเป็นการควบคุมการไหลออกของเงินบาท

อันที่จริง  เครื่องมือระบบแลกเปลี่ยนชุมชนนี้   จุดสำคัญที่สุดของมัน คือ "แนวคิด ที่มุ่งให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการในชุมชนก่อน โดยการแลกเปลี่ยนไม่จำเป็นที่ต้องใช้เงินบาท"  นั่นคือ การแลกเปลี่ยนบนฐานการให้ แบ่งปัน ไปจนถึงการสร้างสื่อแลกเปลี่ยน     ที่เหลือคือรูปแบบซึ่งปรับเปลี่ยนไปได้ในแต่ละพื้นที่ 

ความยาก คือ การทำความเข้าใจแนวคิดกับคนในชุมชน  การสร้างทีมเพื่อช่วยกันคิดค้นรูปแบบให้เกิดผล

หมายเลขบันทึก: 74925เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2007 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เรียนถามอาจารย์ค่ะว่า อย่างนี้สามารถอธิบายได้ว่า "ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน"  ที่ชุมชนใช้นั้นเป็น "เครื่องมือ" ที่ชุมชนใช้ในการ "ร่วมกัน" นำพาชุมชนไปสู่การพึ่งตนเอง ได้หรือไม่คะ

ใช่เลยค่ะ  การพึ่งตนเองในระดับชุมชนเป็นเป้าหมายหนึ่งของการแลกเปลี่ยนชุมชนค่ะ  นอกจากผลทางเศรษฐกิจแล้ว  ผลทางสังคมมีผลสำคัญมากที่ทำให้คนมาทำอะไรร่วมกัน ช่วยเหลือกัน  เป็นที่มาของ "ภูมิคุ้มกัน"  ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท