ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยกระบวนการ “ประชาเสวนา”


 

นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2549 จนถึงวันนี้ มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นมากในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ พ.ศ.2550 ผมพอจะลำดับเหตุการณ์ได้ ดังนี้

วันที่ 17 ธันวาคม 2549 มีพิธีเปิดการประชุมสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ที่หอประชุมกองทัพเรือ และมีการคัดเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน ในวันถัดมา คือวันที่ 18 ธันวาคม 2549

มาถึงตรงนี้บทบาทหน้าที่ของสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 1,982 คน ถ้าว่ากันตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ก็ถือได้ว่า ครบถ้วนโดยสมบูรณ์ เพราะเป็นแต่เพียงตัวแทนที่ได้เข้าไปใช้สิทธิ์เลือกกันเอง ด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม

ถึงแม้ว่า ภาพข่าวเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการลงคะแนนเสียงเลือกกันเอง จะบั่นทอนความรู้สึกเชื่อมั่นของสังคมไทยในการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่เมื่อถึงขั้นตอนของการคัดเลือกให้เหลือเพียง 100 คน โดย คมช. หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ รายชื่อที่ได้ประกาศออกมาในช่วงปลายปี 2549 ถือได้ว่า เป็นบุคคลที่มีคุณภาพสูง กระจายอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งที่มาจากภาครัฐ, วิชาการ, สังคม และเอกชน ลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบลงไปได้ระดับหนึ่ง

เมื่อมีการเปิดประชุม ส.ส.ร. เพื่อทำการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งสำคัญ คือ ประธานและรองประธาน เราก็ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2550 คือ นายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และนายเดโช สวนานนท์ เป็นรองประธานฯ คนที่ 2

ผมรู้จักท่านอาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ในช่วงที่ได้ไปเรียน ณ สถาบันพระปกเกล้า ปี 2547 2548 อาจารย์เป็นคนตัวเล็ก ๆ พูดคุยสนุกสนานเป็นกันเองกับนักศึกษา ผมยังจำคำพูดติดตลกที่ท่านอาจารย์นรนิติเล่าให้ฟังในโต๊ะทานกาแฟระหว่างพักเบรคว่า ความผิดพลาดของผมในเรื่องการเรียนมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ ผมชื่อ นรนิติ แต่ไม่ได้เรียนจบมาทางนิติศาสตร์

วันที่ 8 มกราคม 2550 ยังถือได้ว่า เป็นวันที่เริ่มต้นนับหนึ่งและต้องนับถอยหลังไปอีก 180 วัน การทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญก็จะต้องยุติลงพร้อมกับการที่สังคมไทยได้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ พ.ศ.2550 เงื่อนไขเวลา 180 วัน ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องปฏิบัติให้ลุล่วงสำเร็จ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ดังนั้น ขั้นตอนของการทำงานที่รวดเร็ว บนความรอบคอบและมีประสิทธิภาพจึงได้รับการหยิบยกขึ้นมาปรึกษาหารือผ่านวาระการประชุมที่ต้องมีทั้งในรูปแบบปกติและการประชุมนอกรอบ เพื่อนำผลที่ได้ไปสู่ปฏิบัติการต่าง ๆ เป็นการแข่งขันกับเวลาที่เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

ในขั้นตอนของการยกร่างฯ สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 35 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือมิได้เป็น สสร. โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญมีมติเลือก จำนวน 25 คน และตามคำแนะนำของประธาน คมช. อีก 10 คน

วันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ ตำแหน่ง ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่สื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจติดตามทำข่าวยังไม่มีผลออกมาชัดเจน แต่ดู ๆ ไปแล้วก็ไม่น่าจะต้องเป็นกังวลอะไรมากนัก เพราะ 2-3 ท่านที่มีชื่อว่าเป็น ตัวเก็ง ก็ดูดี มีคุณสมบัติที่เหมาะสมแตกต่างกันไป

ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เข้าไปนั่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้รับข้อมูลที่มาพร้อม ภารกิจ เกือบทุกวัน ทั้งนี้เพราะ ส.ส.ร. แต่ละท่านก็ต้องกลับมาทำการบ้านที่ได้รับมอบหมาย หรือที่ตั้งใจไว้ว่าจะนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ในที่ประชุม การทำงานแบบนี้ต้องการทีมงานสนับสนุน ช่วยคิด ช่วยออกแบบกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ  ตัวผมเองได้รับการติดต่อประสานงานให้ช่วยทำหน้าที่นี้ด้วยคนหนึ่ง

โดยเฉพาะในขั้นตอนของการเผยแพร่และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน มีความแปลกใหม่ประการหนึ่งซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ วิธีการที่เรียกว่า ประชาเสวนา หรือ Civic Dialogue

โจทย์ข้อนี้ผมได้รับมอบหมายให้ออกแบบโดยสร้างเป็นไฟล์ PowerPoint เพื่อนำเสนอในที่ประชุม ส.ส.ร. ทำให้ผมต้องเข้าไปสืบค้นในเอกสาร หนังสือ และระบบอินเตอร์เน็ท ยิ่งอ่าน ยิ่งค้นคว้า ก็ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการ ประชาเสวนา จึงขอนำความเข้าใจเบื้องต้นที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาสรุปไว้ ณ ที่นี้

 การประชุมแบบ ประชาเสวนา คือ กระบวนการ ฟัง-คิด-พูด โดยใคร่ครวญร่วมกัน ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายว่า จะทำอย่างไรให้คนได้คิดและไตร่ตรองหาทางออกของปัญหา เกิดความรู้สึกร่วม ตระหนักว่าเป็นเรื่องของตน และนำตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันแก้ไขปัญหานั้น

การใคร่ครวญ ใช้การพูดคุยกันอย่างเป็นระบบโดยการดึงปัญหาเข้ามานำเสนอ แยกแยะ เชื่อมโยง มองออกไปจากตัวเอง ให้เห็นทางออก เห็นทางเลือกของการแก้ปัญหา โดยพิจารณาผลกระทบของแต่ละทางเลือก

กระบวนการ ประชาเสวนา ยังเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาคนผ่าน กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้เวทีพูดคุยกันอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้เข้าประชุมรู้ซึ้งถึงความสลับซับซ้อนของปัญหา มองปัญหาต่างไปจากเดิม เห็นทางเลือกของการแก้ปัญหา เปิดโอกาสให้มองลึกลงไปในความคิด ความเชื่อของตัวเองและผู้อื่น เกิดความเข้าใจ การยอมรับ

เมื่อถึงขั้นตอนของการลงประชามติ บรรยากาศที่เกิดขึ้นก็จะไม่ใช่เรื่องของการแพ้-ชนะกันบนความแตกต่างทางความคิด แต่เป็นการนำเสนอข้อคิดเห็นและเหตุผลภายในที่ประชุม โดยมีจำนวนเสียงสนับสนุนเป็นเสมือนเครื่องวัดน้ำหนักความคิดเห็น ไม่ต้องมีการตัดสินเพื่อคัดออก เพราะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของผู้ที่เข้าประชุมแบบประชาเสวนา

ผลสรุปในประเด็นต่าง ๆ จะถูกนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่กระบวนการคัดสรรสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ของสังคมไทย ยกร่างบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ พ.ศ.2550 จนแล้วเสร็จจึงเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาและเสนอความคิดเห็นของ คณะบุคคลจาก 12 องค์กรหลัก การเผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติ จนกระทั่งถึงขั้นตอนสุดท้ายเป็นการส่งมอบให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินการต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 74288เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2007 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท