ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

คำถามโง่ๆ ทำให้เราฉลาดได้


การที่เราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ หรืออาจจะบอกว่าเราโง่ในเรื่องนั้นๆ ก็ต้องยอมรับ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าอายสำหรับการถามเพื่อให้เกิดความรู้

 นับเป็นโอกาสที่ดีอีกวันหนึ่งของผมที่ได้เข้าร่วมประชุมกับ ศ.ดร.อภิชัย   พันธเสน คณบดี คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  อาจารย์ ดร.สุธิดา   แจ่มใส ประธานหลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์  และคณะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ พร้อมทั้งนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก หลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์ กว่า 20 คน ที่ได้ร่วมประชุมกันตั้งแต่เวลา 09.30 – 16.00 น. ของวันนี้   

 ในโอกาสนี้ท่านคณบดี ได้กล่าวถึงแนวนโยบาย พร้อมทั้งการทบทวนแนวทางการศึกษาของนักศึกษาแต่ละคน  เพื่อให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ของหลักสูตร และสิ่งที่ทุกคนประทับใจมากคือ ท่านได้กล่าวเน้นย้ำว่า หลักสูตรนี้ ต้องการคนที่สนใจในการที่จะมาหาความรู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่คนที่หวังเพียงแค่ปริญญาเท่านั้น  เมื่อคนได้พัฒนาการเรียนรู้ จนกระทั่งมีความรู้อย่างแท้จริง ประเมินผ่านตามเกณฑ์ของหลักสูตร คณะจะแถมปริญญาให้ ถ้าหากใครต้องการเพียงแค่ใบปริญญาอย่างเดียวหลักสูตรนี้ไม่ต้องการ และไม่ต้อนรับให้ลาออกได้เลย นอกจากนั้นได้เปิดโอกาสให้นักศึกษา คณะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ได้สอบถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกันเองในห้องประชุม ซึ่งเป็นบรรยากาศที่มีความอบอุ่น และผูกพัน 

 คำถามที่โง่ ไม่ใช่คำถามที่เลว แต่ทำให้เราฉลาดขึ้น เป็นคำกล่าวของท่าน ศ.ดร.อภิชัย  พันธเสน ที่ท่านต้องการให้นักศึกษาได้ตระหนักคิด ให้นักศึกษากล้าที่จะถาม กล้าที่จะแสดงออก  ถึงแม้เราอาจจะมองว่าคำถามนั้น เป็นคำถามพื้นๆ แต่ในสิ่งนั้นเราไม่รู้ ดังนั้นเราก็ต้องกล้าที่จะถาม เพื่อจะได้เกิดความรู้ และปัญญากับตัวเรา สุดท้ายคำถามต่างๆ เหล่านั้น จะทำให้เรากล้าที่จะคิด กล้าที่จะแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง ในที่สุดก็จะทำให้เราฉลาดขึ้น  จึงเป็นคำกล่าวที่กินใจผมเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่ท่านสอนและให้แนวคิดในวันนี้นั้นช่างมีความสอดคล้องกันมากทีเดียวกับท่าน ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ท่านพยายามกระตุ้นให้เกิดขึ้น (สร้างแรงบันดาลใจ) ในการที่จะตั้งคำถามให้มากสำหรับคนที่เรียนในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงตัวผมด้วยเช่นกันครับเมื่อคราวไปเป็น KM Intern ที่ สคส. 

แล้วจะทำอย่างไรดีละครับจึงจะสามารถกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะถาม และกล้าที่จะแสดงออกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรทั่วๆ ไป มักไม่กล้าที่จะถาม และแสดงออกมากนัก ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่เคยไปเป็นวิทยากรบรรยายในเรื่องของอาชีพด้านการเกษตร หลังจากบรรยายจบ ทุกครั้งผมจะเปิดโอกาสให้พี่น้องที่เข้าร่วมอบรมสอบถามข้อสงสัย หรือเสนอแนะ ผลที่เกิดขึ้นพบว่ามีน้อยครั้งมากที่จะมีคำถาม  และเสนอแนะ  ผมจึงไม่แน่ใจเช่นกันครับว่าพี่น้องเขาเข้าใจดีหมดแล้ว หรืออายที่จะถาม เกรงว่าจะเป็นคำถามที่บอกว่าโง่ กลัวเพื่อนๆ ที่ร่วมอบรมจะหัวเราะเยาะเอาว่าคำถามง่ายๆ แค่นี้ก็นำมาถาม  และเมื่อหากเป็นเช่นนี้เราจะทำอย่างไรดี  โดยเฉพาะตัวผมเอง ต่อจากนี้ไปต้องลงพื้นที่ทำงานกับพี่น้องเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแบบประณีต จะทำอย่างไรดีที่จะให้พี่น้องเกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันให้มาก ซึ่งจะได้ความรู้ที่เป็น Tacit Knowledge ออกมาให้มากที่สุด ในการที่จะนำไปขยายผลต่อ 

ในเบื้องต้นผมคิดว่าในการที่จะทำให้คนกล้าที่จะถาม กล้าที่จะแสดงออก และกล้าที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นน่าจะประกอบด้วย

1.    ประเด็นในการนำเสนอ  ควรเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้อง มีความสนใจ หรือมีประสบการณ์

2.    คนนำเสนอ หรือทีมงาน (Stake-holder) มีความเป็นกันเอง และมีภูมิรู้ในเรื่องนั้นๆ ดี อีกทั้งกระตุ้นเพื่อให้เกิดความอยากในการที่จะรู้ในเรื่องนั้นๆ

3.    สถานที่ ควรเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมกับกลุ่มคนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่นถ้าหากเอาพี่น้องเกษตรกรไปร่วมเวทีในโรงแรมที่หรูๆ ในระดับห้าดาว อาจจะมีความเกร็งต่อสถานที่จึงไม่กล้าที่จะแสดงออก

4.    บรรยากาศ นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน นอกจากสถานที่ไม่เหมาะสมแล้ว การดำเนินการไม่สร้างบรรยากาศที่ดีก็ไม่เกิดข้อคำถาม ข้อคิดเห็น ตลอดทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

5.    ช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่นการบรรยาย หรือการนำเสนอที่ล่วงเลยเวลามาพอสมควรจึงไม่กล้าที่จะถาม และแสดงออก เช่น ช่วงเวลาก่อนเที่ยงเล็กน้อยหรือช่วงเที่ยง  เพราะเป็นเวลาอาหารทุกคนเริ่มหิว หากมีใครถามหรือแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ก็จะถูกมองหน้า และอีกช่วงเวลาหนึ่งคือช่วงเวลาจะเลิกการประชุม หากใครมีคำถามมักจะถูกเพื่อนๆ เพ่งเล็งเสมอ  

ขอบคุณมากครับ หากมีข้อเสนอแนะต่อเป็นข้อที่ 6,7,9…..จักเป็นพระคุณยิ่งครับ

อุทัย   อันพิมพ์

24 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 74283เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2007 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

คำถามโง่ๆ  ไม่มีในโลก มีแต่คำถาม รู้มาก หรือรู้น้อย

คนที่ไม่กล้าถาม..ผ่านการแต่งงานมาได้อย่างไร?

เพราะตรงจุดนั้น ต้องเรียนวิชา ถาม ตอบ แหย่ ยั้ง ย้อน ยั่ว เย้า เอาไงดีวะ..

การลงรูป ช่วยให้หน้าบล็อกมีความหมายมาก

แต่รูปคนเขียนบล็อกยังไม่โดนใจ หล่อน้อยกว่ามาตรฐาน ภาพเล็ก ไม่ชัด ไม่จ๊าบ!

 โรคไม่กล้าถาม  เป็นโรคของเด็กขี้อาย

เรียนไม่ค่อยทันเพื่อน เพราะรีรอให้คนอื่นมาถามใครจะไปบ้ารู้ว่า ควรจะถามเด็กคนนี้อย่างไรตลอดเวลา..

รึ! จะให้จัดรายการถามแหลก วิทยากรมีแล้วนะ เรียน ป.เอก ครุศาสตร์จุฬา ถามท่านเล่าฮูได้

ถ้าครูไม่อายขี้ ครูต้องถาม และกล้าชี้ว่านี่คือขี้อะไร

ขี้คุย ขี้แหย ขี้คร้าน ขี้หงอย ขี้

 

สวัสดีครับคุณ นายอุทัย อันพิมพ์  

       ต้องขออนุญาตนำเอาประโยค "ถ้าหากใครต้องการเพียงแค่ใบปริญญาอย่างเดียวหลักสูตรนี้ไม่ต้องการ และไม่ต้อนรับให้ลาออกได้เลย” มาเป็นประเด็นครับ

       เป็นประโยคที่อยากเห็นไปสู่การปฏิบัติให้มากครับ คงไม่เป็นเพียงวาทกรรม เพราะเห็นมามากในเรื่องการให้ความสำคัญกับใบปริญญา เช่น มีหลายแห่งเน้นที่ปริญญาที่จบออกมา เพราะยังต้องมีวงเล็บของสถาบันอยู่ แสดงว่าคนผลิตปริญญาเห็นความสำคัญของใบปริญญามาก

      หรือเขียนสถาบันที่จบออกมาไว้ท้ายรถเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าจบมาจากที่ใด (อย่างนี้รักสถาบัน หรือบ้าสถาบัน)

และอีกหลายกรณีครับ เช่น สนับสนุนให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น แต่มีนักศึกษาเห็นแย้งก็บอกว่าดี แต่จริง ๆ แล้วอาจจะเก็บความไม่พอใจไว้ภายในก็ได้

ขอบคุณครับ

  ผมมีความเห็นสอดคล้องกับคุณ ศักราช ครับ วาทกรรมเป็นเพียง ลมที่พัดโชยออกมา แต่ถ้าสถาบันการศึกษาทุกระดับ  ทำอย่างจริงจังเข้มงวด ไม่ต้องห่วงหน้าตามากนัก ขอให้ห่วงความจริงที่จะเกิดกับผู้เรียน จะดีกว่า หรือไม่..อย่างไรครับ

ถึงคูณอุทัย และนักศึกษาหลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์

คงต้องชี้แจงว่า ท่านอาจารย์อภิชัย ยังคงเป็นประธานหลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์อยู่ แต่อ.สุธิดา ทำหน้าที่เป็นเลขาหลักสูตรที่ตอนนี้ ขอทิ้งภาระหน้าที่งานอื่นๆทั้งหมด  เพื่อมาทำหน้าที่เลขาหลักสูตรนี้อย่างแท้จริง และเต็มตัว หน้าที่หลักตอนนี้คือ ติดตามความก้าวหน้า ในการทำวิจัยของนักศึกษาในหลักสูตร ใครที่Proposal ยังไม่เข้าที่เข้าทาง  อาจารย์มหน้าที่ติดตามและ อำนวยความสะดวก (แต่ไม่ใช่จับมือนักศึกษาเขียน) และคอยดูว่าแผนการศึกษาของนักศึกษาแต่ละคนที่ส่งไว้แล้วกับอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นไปตาม timeline ที่กำหนดไว้ หรือไม่  ถ้าใครไม่ทัน และช้ากว่ากำหนด คงต้องหนาวๆ ร้อนๆบ้างนะคะ

สิ่งสำคัญหลักสำหรับการศึกษา ระดับปริญญาเอก คือกระบวนการของการเรียนรู้  สิ่งที่ค้นพบจากผลงานของการวิจัยเป็นเรื่องรอง  แต่สิ่งสำคัญกระบวนการของการค้นพบ และเคื่องมือ วิธีการเพื่อนำไปสู่ การค้นพบสุดท้ายเกิดได้อย่างไร 

ฉะนั้น  การถาม ไม่ว่าจะถามออกมาดังๆ หรือถามตัวเราเอง คือกระบวนการหนึ่งของการที่จะเรียนรู้  ดังนั้น หากอยากรู้ อะไร  แต่บรรยากาศไม่เอื้อ และไม่ถาม จะเป็นข้อขัดขวางต่อการที่จะรู้ จะทำอย่างไร ?  เมื่อเราต้องการที่จะรู้ ต้องอย่างให้บรรยากาศร้อน หนาวเย็น เป็นปัจจัยกำหนดการถาม  แต่จะต้องเอาชนะข้อขัดขวางเหล่านั้น แต่เรียนรู้ ที่จะถามอย่างไรภายใต้อุปสรรค

 วันที่1 -2  กพ ที่จะพบกันที่บ้านครูบาสุทธฺนันท์  คุณอุทัยต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า ในงานวิจัยที่ทำ  ได้เรียนรู้อะไรไปแล้วบ้าง  แต่สิ่งสำคัญ คือมีกระบวนการของการรู้สิ่งนั้นได้อย่างไร  นั่นคือ การ KM  -ของการทำวิจัยของเราด้วยนะคะ  ใช่หรือ ไม่?

 สุธิดา 

ขอบคุณมากครับทุกๆ ท่านที่เข้ามาทักทาย พร้อมให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ดีๆ ซึ่งผมจะได้นำไปสู่การปรับกระบวนการเรียนรู้ต่อไป

อุทัย

เรียน อาจารย์ดร.สุธิดา

  • ตอนนี้ผมกำลังเตรียมเนื้อหาที่จะนำเสนอในวันที่ 1 - 2 กุมภาพันธ์ 2550 ครับ
  • สำหรับประเด็นที่จะนำเสนอคงเป็นในเรื่องของการจัดการความรู้ (KM) และหัวข้อวิทยานิพนธ์ครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย

ขอเพิ่มข้อที่  6   คือความอ่อนน้อมถ่อมตนค่ะ    เพราะขณะที่เรากำลังถ่ายทอดความรู้   เราก็กำลังเรียนรู้ปัญหา  ความเป็นไปของชุมชน  จึงถือเป็นนักเรียนคนหนึ่ง  ส่วนพี่น้องเกษตรกรก็เป็นครูของเรา แม้ว่าเราจะมีภูมิความรู้มาก  แต่อาจจะไม่เพียงพอ และบ่อยครั้งที่พบว่าภูมิรู้ของเรานั้นเป็นแต่เพียงเปลือกนอกผิวเผินเท่านั้น  การถามคำถามโง่ๆ จึงสามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่กับผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Specialist)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท