สะท้อนละคร "บัวปริ่มน้ำ" กับความรับผิดชอบต่อสังคม


อยากเห็นสื่อทีวีเป็นแม่แบบกล่อมเกลาเยาวชนในทางดีมากกว่านี้
     ดูทีวีช่อง 3 เรื่อง "บัวปริ่มน้ำ"อย่างไม่ตั้งใจ แล้วอดไม่ได้ที่จะเขียนวิพากษ์ 
     ต้องขออภัยผู้สร้างหากการสะท้อนของผมจะรุนแรงไปนิด
      เพราะรับไม่ได้จริงๆกับละครเรื่องนี้ ที่ฉายช่วงเวลา 3ทุ่ม-4ทุ่ม เป็นเวลาที่เยาวชนและคนส่วนใหญ่ของประเทศจะนั่งอยู่หน้าจอทีวี
      ภาพและบทของนางเอก อะไรจะปานนั้น  ทั้งโป๊ ทั้งยั่วยวน  ผ่านผู้ชายมาก็หลายคน ทำอะไรโดยไม่แคร์ใคร  ทำอะไรด้วยความสะใจ ตีได้หลายบท ฯลฯ
       ตัวคู่กัดของนางเอก ก็มีอารมณ์เคียดแค้น สุดๆ ทำเพื่อความแก้แค้นโดยไม่คำนึงถึงสิ่งใด 
       เสียงกรีดร้อง ตบตีมีตลอดเกือบทุกฉาก
       ผู้ชายที่ติดพันนางเอกก็เหลือร้าย บางคนมีเมียเป็นตัวตนแต่ไม่ดูแลลูกเมีย  ตามตื๊อนางเอก(เมียเก่า)ด้วยอารมณ์เซ็กส์เป็นฐาน 
     ที่รับไม่ได้จริงๆก็คือการสร้างให้เด็กชายเพิ่งเรียนมัธยมหลงไหลนางเอกในเชิงชู้สาวทั้งที่อายุคราวแม่ ทั้งพ่อและลูกที่ยังเป็นเด็กชายต่างตามตื๊อผู้หญิงคนเดียวกันฯลฯ
       นี่มันอะไรกัน...สังคมวิปริตถึงขนาดนี้เชียวหรือ?
     ขณะที่เรากำลังรณรงค์ให้สื่อเสนอแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน แต่นี่ทีวีกลับรับผิดชอบเพียงการเตือนด้วยตัว "น" (อยู่ในคำแนะนำ) เหมือนคำเตือนในซองบุหรี่ จะได้ผลอะไร 
      เดี๋ยวนี้ละครทีวีเกือบทุกช่อง จะต้องให้นางเอกโป๊ (ใส่สายเดี่ยว) กันแทบทั้งนั้น ทั้งที่ดาราบางคนยังเป็นเด็กหญิงด้วยซ้ำ 
       ตามทฤษฎี Social Learning  เขาถือว่า "ตัวแบบ" (model) เป็นเครื่องมือที่มีพลังมากที่สุดในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และเราก็ยอมรับว่าสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะทีวี จะมีอิทธิพล(แบบอย่าง)ที่ทำให้เยาวชนซึมซับอย่างมาก
        เป็นเพราะเราคิดแต่เร็ตติ้ง คิดแต่ผลประโยชน์ อาศัยการยั่วยุทางอารมณ์ที่ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ต่างคล้อยตามเร็วอยู่แล้ว (ยิ่งวัยรุ่นยิ่งเร็วกว่าวัยใดใด)มาเป็นเครื่องมือทำธุรกิจ  อย่างนี้เรียกว่ารับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่
        คนที่สร้างอาจหาเหตุผลอธิบายในเชิงศิลปะ/ศิลปิน  หรือเพื่อตีแผ่ความเป็นจริงของสังคม แต่ก็คงฟังไม่ขึ้น ถ้าเทียบกับผลกระทบที่ต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง
        นโยบายรัฐบาลเรื่อง "คุณธรรมนำความรู้" จะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างไร ถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้
        ลองทำละครย้อนยุค ที่เอาแบบอย่างกุลสตรีไทย วัฒนธรรมไทย มาให้วัยรุ่นซึมซับเอาอย่างบ้างดีไหม หรืออาจเป็นเรื่องที่แสดงถึงความรักความผูกพันของคนในครอบครัว เป็นแบบอย่างของครอบครัวที่อบอุ่นมากๆได้ไหม และพิถีพิถันในการสร้างหน่อย อย่าสุกเอาเผากินเพราะถ้าครอบครัวดี สังคมก็ดี ประเทศชาติก็ดี โรงเรียน(ครู)จะได้ไม่ต้องเหนื่อยตามดูแลช่วยเหลือแทนพ่อแม่มากนัก
      เลิกละครที่กรี๊ดกันทั้งเรื่อง โป๊ พูดจาหยาบคาย ได้ไหม
      หน่วยงานไหนมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ  น่าจะดูแลให้จริงจังมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ใส่ตัว "น" เท่านั้น 

    
หมายเลขบันทึก: 74145เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เห็นด้วยค่ะ  เพราะเท่าที่ฟังจากเพื่อน ๆ ที่ทำงานพูดถึงเวลาที่นำเสนอบทละครนั้น ควรที่จะเป็นเวลาเหมาะสมมากกว่า  เพราะเยาวชนนั้นรับรู้ได้เร็ว และประสบการณ์ในการคิดถึงเหตุผลมีน้อย รวมถึงอยู่ในวัยที่อยากรู้  อยากเห็น อยากลอง

สังคมเยาวชนจึงเป็นสังคมที่เปราะบาง  หลากสิ่งหลายอย่างเข้ามาแซกแซงความคิดเห็น  ความรุ้สึกนึกคิด ได้ง่าย 

จึงอยากให้ผู้แต่งบทละคร  ผู้เล่นบทละครคิดคำนึงให้มาก ๆ ทั้งเนื้อหา  การแต่งตัว  เพราะเยาวชนคือผู้ใหญ่ในวันหน้า  คือกล้าเล็กๆที่จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในวันหน้าด้วย

กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

สวัสดีครับ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ ในหลายๆประเด็น ทั้งในเรื่องของ บุคลิกลักษณะของตัวละคร (Characterization) ที่ผู้เขียนบท และผู้สร้างละคร ได้รังสรรค์ออกมา

กล่าวเฉพาะในบทบาทของนางเอก นางร้าย และบทของเด็กชายก็ดี จริงอยู่ที่เช็คเสปียร์ กล่าวว่า ละคร คือ ภาพสะท้อนความจริงของชีวิต ทว่าการสะท้อนภาพของตัวละครนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสะท้อน ความสำนึกใฝ่ดีของตัวละคร

ผมเองมีความสนใจใน ละคร ในฐานะ ที่เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุทางปัญญา และสะท้อนสัจธรรมความจริงของชีวิต ผมมีความเห็นว่า นักละคร ต้องสร้างตัวละครให้สามารถไปสู่คุณูปการดังกล่าว

 ดังนั้น หากวิเคราะห์บทละครที่ดีๆ (Masterpiece)หลายๆเรื่อง จะเห็นได้ว่าการจะสร้างบุคคลิกลักษณะของตัวละครให้สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวมาได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องรังสรรค์ให้ตัวละครนั้นๆ สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างรอบด้าน ทั้งความชั่ว ที่แฝงเร้นอยู่ในส่วนที่มืดดำของจิตใจ และความดี ความใฝ่ดีในจิตใจ (ซึ่งสุดท้ายเมื่อเจออุปสรรคใดๆก็ตามตัวละครจะใช้ความสำนึกดีในการเอาชนะอุปสรรค) เช่น อิดิปุส แฮมเล็ต หรือแม้กระทั่ง แดจังกึมที่คนไทยรู้จักดี

ผมมีความคิดเห็นว่า หากจะสร้างตัวแบบ (Model) ที่ดีสำหรับเยาวชน หรือประชากรในสังคม นักละครต้องใช้วิธีคิดใหม่... สร้างสรรค์ตัวละครใหม่ๆ ที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างรอบด้าน และกระตุ้นสำนึกใฝ่ดี

ผมบอกได้อย่างเดียวว่าหาก นักละคร ผู้จัด...ยังนำเสนอตัวละครที่สะท้อนความเป็นมนุษย์เพียงด้านเดียว (โดยเฉพาะด้านดำมืด) คนในสังคมยิ่งจะรับแบบแผนมาโดยไม่รู้เนื่อรู้ตัว ทำไมหนอ....บทละครที่ไม่ดียังคงสร้างกระแสได้ ท่ามกลางการตื่นตัวในเรื่องคุณธรรม และจริยธรรม

อาจกล่าวได้ว่า คนในวงการ หากไม่มี การคิดใหม่ สำนึกใหม่แล้วก็ยากที่จะทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งความสุข

อย่างไรก็ดี ผมก็ดีใจ ที่คนตัวเล็กๆคนหนึ่ง พยามก่อร่างสร้างสิ่งดีๆแก่วงการบันเทิง อย่างน้อยเสีย ผมเชื่อมั่นว่า "ตำนานสมเด็จพระเนรศวร" จะสามารถทำหน้าที่ของละคร และการสร้างสรรค์ตัวละครที่ดี และกู้คืนศักดิ์ศรีวงการละครไทยได้ บ้าง ไม่มากก็น้อย หากคนในวงการลองลืมหูลืมตาพัฒนาผลงานของตัวเอง ด้วยวิธีคิด และสำนึกใหม่

   

        เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ   ดิฉันเองไม่ตั้งใจดู แต่เห็นหลานอายุ12 ขวบดูจึงดูโดยไม่ตั้งใจ   ละครเรื่องนี้ควรออกอากาศหลัง 4 ทุ่ม(ถ้าอยากจะออก)   เพราะมีเนื้อหาและการแสดงที่ล่อแหลมและไม่รับผิดชอบต่อเด็กและเยาวชนมากในการเป็นตัวอย่างที่เลว(ไม่ใช่แค่ไม่ดี)   การที่เขียนบทให้เด็กชายแค่มัธยมมาฝักใฝ่ตามตื๊อผู้หญิงคราวแม่ซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวกับพ่อนั้น   รับไม่ได้จริงๆ  แม้จะปูพื้นว่าเด็กไม่รู้เรื่องระหว่างพ่อกับนางเอกมาก่อนก็ตาม   การที่ให้ตัวนางเอกมีพฤติกรรมมีผู้ชายไว้หลายๆคน  กลายเป็นแบบอย่างที่จะทำให้สังคมยอมรับว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดายอมรับได้  และสามารถนำไปเป็นเยี่ยงอย่างได้เพราะไม่เห็นนางเอกในเรื่องได้รับการลงโทษ  มีแต่ผู้ชายรอบข้างและเด็กชื่นชมยินดี   ดิฉันคิดว่าช่อง 3 ชอบมีละครแบบนี้มาออกอากาศบ่อยๆโดยไม่คิดจะรับผิดชอบต่อสังคม   คนที่พยายามทำงานเพื่อรณรงค์เรื่องวัฒนธรรม  ค่านิยมที่ดีและถูกต้องในสังคมโดยเฉพาะเรื่องเด็กและเยาวชน ต้องเหนื่อยเปล่า เพราะเจอสื่อแบบนี้โหมกระหน่ำใส่จอทุกๆวัน

   คนทำงานกับเด็กและเยาวชน

เห็นด้วยคะเพราะส่วนมากเด็ก ๆจะชอบเลียนแบบดารา  ทำให้วัฒธรรมการแต่งตัวของวัยรุ่นไทยเปลี่ยนไป  ทั้งโป๊ สายเดี่ยว  สั้นจู๋  นั่งทีต้องเกระเป๋าปิด เพื่อไม่ให้ดูว่าน่าเกลียด  การวางตัวการที่จะคบกับผู้ชายโดยไม่เลือกหน้า การคบผู้ชายหลายคน การที่ไม่รักนวลสงวนตัว จากการเห็นภาพจากละครทีวีทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปขนาดมีลูกโตแล้วไม่สามารถให้ลูกเรียกตัวเองว่าแม่แต่เรียกเป็นพี่หรือน้าแทน 
อนาคตเด็กไทยจะเป็นอย่างไรถ้าแม่แบบเป็นอย่างนี้
ถึงจะเตือนตัว "น"
(อยู่ในคำแนะนำ) แต่ก็เป็นเพียงแค่ปลายเหตุ เพราะว่าผู้ปกครองไม่ได้มานั่งดูด้วยตลอดเวลา  สื่อทีวีควรจะคัดกรองละครสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ มาให้เยาวชนไทยทำได้ไหมแค่ครึ่งปีทุกสื่อสร้างสิ่งดี ๆ มาวิจัยเรื่องนี้คงไม่เสียหาย

อยากให้เด็กไทยรักการเรียนรู้สิ่งดี ๆ

 

อาจารย์คะ ดิฉันไม่ได้ดูละครทุกเรื่อง ทุกช่อง  แต่เรื่องที่ท่านกล่าวถึง ดิฉันเห็นเฉพาะตอนเขาโฆษณาค่ะ  น้ำเสียง ภาษา อารมณ์ รับไม่ได้  ต้องกดรีโหมด เปลี่ยนช่อง  ห่วงแต่เยาวชนเขาแยกแยะไม่เป็น  ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว  ช่อง ๓  โฆษณาละคร แย่มากทุกเรื่อง  ...

       พระท่านแนะนำดิฉันว่า...

ได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน
มองเห็นสักแต่ว่ามองเห็น
อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์........
ทำตัวเป็น "ลิ้นงู" ที่อยู่ในปากงู แต่ไม่เคยได้รับอันตรายจากเขี้ยวงู และพิษงูเลย.......เหมือนดั่งเรา อยู่ในสังคมที่มีความรุนแรงทั้งทางกาย และจิตใจ สื่อในเง่ลบต่าง ๆ มากมาย การต่อว่า อิจฉาริษยา แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีผลต่อเรา...
.......ที่สำคัญ......เราต้องไม่ทำเสียเอง.........
.....มองดู.........เรียนรู้.........เช้าใจ..........ปล่อยวาง............เป็นสุข.........

        ติดตามงานของอาจารย์ด้วยความเคารพอยู่เสมอ

   ดีใจและขอบคุณที่ช่วยกันวิเคราะห์สะท้อนคนละแง่ละมุม แต่มีจุดร่วมตรงกันคือการเป็นแม่แบบให้เยาวชน  ที่ยังอ่อนต่อโลก  ไม่ให้ซึมซับสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม  ช่วยกันคนละเล็กละน้อย  สังคมก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ  ทราบว่าตอนนี้ ช่อง 3 ก็น่าจะได้ข้อมูลการสะท้อนกลับแล้ว  และคงปรับปรุงคัดสรรละครเข้าฉายต่อไป  เพราะเขาก็ต้องการสร้างเสริมสังคมให้ดีงามเหมือนกันครับ

ม่ายเหนด้วยอย่างแรง 

ชีวิตจิงยิ่งกว่าละคร

 พวกคุณคิดว่าเด็กไม่มีสมองรึไง

เห็นด้วยกับคุณมุ่ง นะค่ะ

    ชีวิตจริงยิ่งกว่าละครก็มีให้เห็นถมเถไป เด็กก็สามารถคิดอะไรได้เองหลายอย่าง

     ส่วนคุณสมหญิง ที่ว่า"เห็นเฉพาะตอนเขาโฆษณาค่ะ  น้ำเสียง ภาษา อารมณ์ รับไม่ได้  ต้องกดรีโหมด เปลี่ยนช่อง" เป็นเพราะคุณเห็นแต่ ตอนโฆษณา รึเปล่าค่ะ ความคิดในแง่ลบของคุณเลยผลักดันให้คิดว่า ละครเรื่องนี้เป็นละครที่เลวร้ายขนาดนั้น ทั้งที่จริงแล้วละครเรื่องนี้แฝงข้อคิดไว้หลายเรื่อง

จริงอยู่ ตัวละครแต่ละตัวนั้นล้วนแต่มีคาแร็กเตอร์ที่ไม่ดีทั้งนั้นแต่นั่นก็เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลที่ตามมาของความไม่ดี เช่นในเช่นนี้คือทุกๆคนไม่มีความสุขเลย แต่เมื่อหลุดออกมาจากความแค้นได้แล้วก็จบเรื่องอย่างมีความสุขได้ ถ้าหากละครที่มีแต่ตัวละครที่ดีตั้งแต่ต้นเรื่องยันจบจะเกิดข้อเปรียบเทียบหรอคะ

นางเอกในความคิดของหลายๆคนจะต้องเป็นคนอย่างไรคะ เป็นคนดี ไม่พูดหยาบคาย ยุติปัญหาด้วยการยอมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เป็นคนอยู่ติดบ้าน ไม่เที่ยว ไม่แต่งตัวเปรี้ยว ไม่มีความคิดและเจ้าน้ำตา ถ้าพูดถึงคนในลักษณะแบบนี้แล้วจะเป็นนางเอกละครน้ำดีได้หรอค่ะ

ตัวเอกของเรื่อง(นางเอก)ที่ว่าโป๊ ยั่วยวน ผ่านผู้ชายมาก็หลายคน(ข้อนี้ไม่จริง) ทำอะไรโดยไม่แคร์ใคร  ทำอะไรด้วยความสะใจ(ข้อนี้พราะความแค้น) แต่ในส่วนลึกๆแล้วนางเอกก็เป็นคนดี แค่โดนความแค้นครอบงำเท่านั้นเอง

พระเอกที่หลายคนว่าโง่ หลงผู้หญิง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักแม่นะแต่เขารักทั้ง2คน แต่เมื่อแม่หลงกลนางเอกแสดงการกระทำที่ให้ลูกเห็นว่าไม่ดีออกมาพระเอกก็ต้องเกิดความรู้สึกไม่ดีอยู่แล้ว และไม่ใช่เพราะความโง่ ความซื่อนั้นหรือที่เป็นเหมือนความดีและความรักของพระเอก ที่ฉุดนางเอกให้ขึ้นมาได้

ละคร ก็ต้องมี คนดี คนชั่ว คนดีแต่หลงผิด ตัวอิจฉา คนโง่ และมีเนื้อเรื่องการกระทำของตัวละครที่ดีและไม่ดี สุดท้ายก็จะจบโดยการให้เห็นผลของความชั่วและความดี ฉันไม่เห็นว่า ละครบัวปริ่มน้ำจะแตกต่างจากโครงสร้างของละครทั่วๆไปตรงไหน

ที่กำลังจะบอกไม่ได้หมายความว่าละครเรื่องนี้ไม่มีข้อเสียเลย แต่จะบอกว่ามันมีข้อดีมากกว่าข้อเสียเยอะมากๆ ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายและผิดจริยธรรมอย่างที่ให้ความเห็นกันมาเลย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท