กศน. จะจัดกิจกรรมโดยให้กลุ่มเป้าหมาย "ตั้งลูกขี้" หรือเป็น "ลูกขี้ตั้ง"


จะให้ชาวบ้านยืนอยู่ได้โดยการ “ตั้งลูกขี้” หรือโดยการที่เราจะนำเขามาเป็น “ลูกขี้ตั้ง”

        ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง  จะทำอะไรต่อได้ เมื่อไม่ได้ “ตั้งลูกขี้” “ตั้งลูกขี้”  ซึ่งจุดประสงค์ก็คือการเริ่มต้นของการ จัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการ เตรียมความพร้อมของวงเรียนรู้ต่าง ๆ  อย่างสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็น วงคุณเอื้อ  วงคุณอำนวย  วงคุณกิจ   ต้องเริ่มต้นอย่างมีความพร้อม  โดยเฉพาะ  วงเรียนรู้ ของชาวบ้าน หรือคุณกิจนั้นการ “ตั้งลูกขี้” ต้องชัดเจนโดยคุณกิจเอง  ถ้าเป็นภาษา ข้าหลวงตอนนี้เขาใช้คำว่า  “ผู้เรียนเป็นสำคัญ”
        เพราะฉะนั้น  เราในฐานะคนทำงานในพื้นที่ตัวเล็กๆ  ต้องลงไป ทำกระบวนการให้ชาวบ้าน ”ตั้งลูกขี้” ให้สมบูรณ์  หากเราจะเดิน กิจกรรม ต่าง ๆ โดยการใช้การจัดการความรู้เป็น เครื่องมือผมคิดว่าเรา ต้องทำแบบนี้  ในส่วนของ  กศน. หากเรา ทำกิจกรรมโดยใช้  “โครงงาน”  เป็นนวัตกรรม   โดยลงไปหาหลักสูตรการเรียนการสอน จากชาวบ้าน  โดยการทำเวที  กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน คิดว่าคงไปได้ดีและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปว่า  กศน. ได้จัดการ ศึกษาตลอดชีวิตให้กับประชาชน
        แต่ผมยังกลัวว่าหากเราไม่ใช้วิธีการให้ “ผู้เรียนเป็นสำคัญ” คือไม่ให้เขา “ตั้งลูกขี้” ของเขาเอง และเราใช้เขาเป็น “ลูกขี้ตั้ง”         เหมือนระบบเดิม  คือ หอบหลักสูตรจากสำนักงานพร้อม เครื่องมือ และอุปกรณ์ลงไปจัดการเรียน การสอน ให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยเขา ไม่สามารถที่จะโต้แย้งหรือปฏิเสธได้ว่าเขาต้องการหรือไม่ต้องการ  
        คำว่า  “ตั้งลูกขี้”  กับ  “ลูกขี้ตั้ง”  ความหมายแตกต่างกันมาก เพียงแค่เราย้ายคำว่า  “ตั้ง”  ไปอยู่ ข้างหน้าหรือ ข้างหลัง  ของคำว่า  “ลูกขี้ “  คำว่า “ตั้งลูกขี้” ความหมาย (ลิ้งค์อ่านจากบันทึก)   แต่คำว่า  “ลูกขี้ตั้ง”  นั้นใช้สำหรับพูดถึงอุปกรณ์ใน เกม การเล่นของคนใต้  เช่นการเล่น  สะบ้า  โดยจะมี  ลูกสะบ้า  ที่เป็น “ลูกขี้ตั้ง”  ตามแต่ผู้เล่น กำหนด  มาปักเป็นแถวเรียงกันเป็นหน้ากระดาน  เพื่อให้ผู้เล่น  ใช้  ลูกเกย  ยิง  เพื่อให้ล้ม  และจะดูว่าใครยิงล้มได้มากกว่าเป็นผู้ชนะ ในแต่ละเกม  คือ  หมด “ลูกขี้ตั้ง”  ที่ปักไว้  เมื่อเริ่มเกมใหม่ก็นำ “ลูกขี้ตั้ง” มาปักเรียงใหม่  
        คิดว่า  ต่อไปนี้หาก  กศน.  ทำงาน  โดยเห็นชาวบ้านเป็น  “ลูกขี้ตั้ง”  ไปจัดระเบียบแถวให้เขาทำอะไรต่อมิอะไร ก็น่าที่จะเป็น เรื่องเศร้าใจ  ตรงกันข้าม  หากเราทำงาน โดยการร่วมกัน“ตั้งลูกขี้”  กับชาวบ้าน ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านสามารถที่จะใช้    ความรู้ความสามารถในการที่จะพัฒนาตนเอง  สังคม และชุมชน  ให้เข้มแข็งโดยการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน
        ยังมีการอุปมา คำว่า  “ลูกขี้ตั้ง”  หมายถึง  ผู้น้อย  หรือผู้ติดตาม  ที่นายจะเรียกใช้ให้ทำสิ่งใดก็ได้พวกนี้ไม่ว่าถูกหรือผิดก็ทำได้ทั้งนั้น  บางครั้งไม่ได้ทำอะไรก็ยังมาถึงตัว  ยกตัวอย่างเช่น  อย่าไปว่าเขาเลย  มันก็แค่ “ลูกขี้ตั้ง”  ของเจ้านาย    หรือ   สมน้ำหน้าอยากทำตัวเป็น “ลูกขี้ตั้ง”  ของนายหัวทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง
        รู้อย่างนี้แล้วเราจะให้กลุ่มเป้าหมายของ กศน. ไม่ว่าจะเป็นกลีบใด  ของดอกบัว  ในทุกกิจกรรม จะเดิน  กิจกรรมในลักษณะอย่างไร  

        จะให้ชาวบ้านยืนอยู่ได้โดยการ  “ตั้งลูกขี้”                                                     หรือโดยการที่เรา จะนำเขามาเป็น  “ลูกขี้ตั้ง”

หมายเลขบันทึก: 73911เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2007 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับครูราญเมืองคอน

    ตั้งลูกขี้นี้มีความหมายจริง ๆ ต่อ แบบแผนการทำงานกับชาวบ้าน ครับ ผมได้ศัพท์นี้เพิ่มในระบบความคิดไปอีก ขอบคุณครับ

ครูราญน่าจะเขียนภาษาใต้วันละคำยกมาเปรียบเทียบเป็นเรื่องเล่าการทำKMเมืองคอน รวมได้สัก10-20บท น่าจะพิมพ์เล่มได้ หาคนวาดรูปประกอบเก่งๆ เข้าท่านะ ถ้าพิมพ์ผมขอสักเล่มแล้วกัน

เรียน...ท่านอาจารย์ดิศกุล

           ดีใจมากครับที่อาจารย์เข้ามา  ลปรร. อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งกำลังใจครับ

เรียน...คุณพี่ภีมที่เคารพ

           ผมคิดว่าน่าจะลองทำดูเหมือนที่พี่ภีมบอกคงจะดี ... ถ้าทำได้ไม่คิดที่จะขายดอกครับ...แต่จะแจกให้กับทุกคนที่มีใจใช้  km  เป็นเครื่องมือของการทำงานและการดำเนินชีวิตครับ....

                         ด้วยความเคารพ ทั้งสองท่านเลยครับ...

                                 ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ 

 

  • ครูราญ ใช้คำพื้นเมืองมาอธิบายกระบวนการทำงานได้ดีมาก
  • ธรรมชาติของคนชนบทจะเคารพและให้เกียรติคนทุกคนที่เข้าไปในชุมชน 
  • คนหลายๆคนที่เข้าไปในชุมชนเลยได้ใจว่าจะทำอะไรก็ได้
  • ชุมชนเลยมีสภาพเหมือนครูราญว่าไว้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท