รถสองบาท : รถเมล์เล็กแห่งความประทับใจในกีฬาปัญญาชน


ผมมีความสุขเสมอที่ได้พาตัวเองขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างรถเมล์คันเล็กกับสนามแข่งขันต่าง ๆ อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ไม่มีความเร็วจนน่าหวาดกลัว ไม่ต้องห้อยโหนเหมือนรถเมล์กระป๋องในกรุงเทพฯ

ครั้งที่แล้วผมนำเรื่องของนักมวยสากลสมัครเล่นของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศ ครั้งที่ 34  (ราชพฤกษ์เกมส์) มาเล่าสู่กันฟัง ... บอกเล่าถึงหัวจิตหัวใจอันทรหดอดทนของความเป็น ลูกผู้ชาย”  

นั่นคือ  อีกนิยามความหมายของลูกผู้ชายในเกมส์กีฬา..ลูกผู้ชายที่มีหัวใจทรนง พกพาหัวใจอันกล้าแกร่งสู่เวทีเพื่อเกียรติภูมิของสถาบัน 

ณ วันเวลาที่ผมกำลังเขียนบันทึกอยู่นี้เขาทั้งสองก็ได้รับชัยชนะบนเวทีสังเวียนผ้าใบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...พร้อมกับรอการก้าวขึ้นเวทีในไฟต์ถัดไป ... 

เรื่องของรถเมล์คันเล็ก ๆ ที่วิ่งวนรับส่งนักกีฬาทั่วทุกสถาบันจากที่พักไปยังสนามแข่งขันต่าง ๆ  เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากนำมาบอกเล่าไว้ในบันทึกนี้ 

ผมตั้งชื่อเรื่องว่า รถเมล์เล็กแห่งความประทับใจ   

เหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะ  รถเมล์ที่ผมกล่าวถึงเป็นรถเมล์ขนาดเล็ก กว้างประมาณ 1.80  เมตรและยาวประมาณ 5.45 เมตร  จุผู้โดยสารได้ราว ๆ  20 คนและขยันวิ่งให้บริการอย่างไม่หยุด ไม่หย่อน ! 

รถเมล์เล็ก ๆ เหล่านี้มีทั้งหมด 8 คัน  นิสิตมักเรียกติดปากว่า รถสองบาท เพราะเก็บคูปองจากนิสิตคนละ 2 บาท  โดยอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันก็คือ รถกระป๊อ 

เท่าที่พยายามสอบถามพนักงานขับรถก็ไม่รู้แน่ชัด กระป๊อ ที่ว่านี้มีความหมายเช่นไร ?  แต่บรรดาคนขับก็ยืนยันว่า "รถกระป๊อ"หมายถึง รถคันเล็ก          

 (ภาพถ่ายจากด้านหน้าของรถ) 

 

 

รถเมล์ 3 คันแรกที่ถูกนำมาใช้บริการเมื่อแรกเริ่มตั้ง มศว องครักษ์นั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ มศว เป็นผู้ทำการจัดทำขึ้น ส่วนที่เหลืออีก 5 คันเป็นการไปจ้างให้ผู้ประกอบการจัดทำขึ้นให้ 

ในเวลาปกติจะให้บริการแก่นิสิตชาว มศว (องครักษ์) ช่วงเวลา 07.00 – 17.30  น.  วิ่งวนไปตามตึกเรียนคณะต่าง ๆ  เรียกเก็บค่าโดยสารเป็นคูปองคนละ 2 บาท  

 

 

ทันทีที่มีผู้โดยสารเต็มที่นั่ง หรือประมาณ 10 คน  รถเมล์เหล่านี้ก็จะเคลื่อนตัวไปยังชานชลาต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัย 

ด้านข้างของรถเปิดโล่งทั้งสองด้าน ทำให้สามารถชมทิวทิศน์ตามเส้นทางได้เพลินตา อากาศถ่ายเท ไม่ร้อนอบอ้าว ขึ้นลงสะดวกเพราะตัวรถไม่สูงจนเกินไป 

  

(ตราสัญลักษณ์ มศว ที่ติดแน่นอยู่ประตูรถ)  

 

ผมประทับใจรถเมล์คันเล็กเหล่านี้  เพราะสามารถให้บริการต่อนักกีฬาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว (แต่ปลอดภัย) และเป็นกันเอง  รวมถึงการช่วยลดจำนวนรถจักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัยลงได้อย่างน่าพอใจ   

การเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์มากนัก  เพราะมีรถเมล์เล็กคอยให้บริการเป็นอย่างดี  รวมถึงค่านิยมในการใช้จักรยานก็เป็นอีกภาพแห่งความประทับใจที่พานพบในเทศกาลแห่งการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยฯ ครั้งนี้... 

ผมเชื่อว่ารถเมล์คันเล็ก ๆ เหล่านี้ ไม่เพียงทำหน้าที่การให้บริการต่อนิสิต หรือแม้แต่นักกีฬาแต่ละสถาบันจากต้นทางไปสู่ปลายทางเท่านั้น  ยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุอันเกิดจากรถจักรยานยนต์ได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

  

(สถานที่จอดรถจักรยานบริเวณหอพัก)  

 

การเรียกเก็บค่าโดยสารต่อนิสิตราคาเพียง 2 บาทก็ไม่แพงจนเกินไปนัก และเชื่อว่าก็คงไม่คุ้มทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละเดือนที่มหาวิทยาลัยต้องควักกระเป๋าจ่ายสมทบอีกไม่น้อย 

แต่สำหรับนักกีฬาที่มาแข่งขันครั้งนี้..เจ้าภาพให้บริการฟรี.... 

ใครที่มาหกรรมกีฬาปัญญาชนครั้งนี้  หากไม่ลองขึ้น ๆ ลง ๆ ใช้บริการรถเมล์เล็กดูบ้าง...ผมว่า  มาไม่ถึง มศว องครักษ์ เป็นแน่ !”  

แต่สำหรับผม...ผมมีความสุขเสมอที่ได้พาตัวเองขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างรถเมล์คันเล็กกับสนามแข่งขันต่าง ๆ อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ไม่มีความเร็วจนน่าหวาดกลัว  ไม่ต้องห้อยโหนเหมือนรถเมล์กระป๋องในกรุงเทพฯ 

มันคือความไม่คุ้นเคยที่แสนมีเสน่ห์  และน่าประทับใจเป็นที่สุด !

..ขอบคุณคร๊าบ...ขอบคุณค่ะ..คือเสียงจากนักกีฬาที่พร้อมใจขานบอกน้าคนขับทุกครั้งที่ลงจากรถเมล์คันเล็ก... 

ทุกครั้งที่มีคนลงจากรถ,  ผมได้ยินเช่นนั้นทุกครั้งจริง ๆ    

หมายเลขบันทึก: 73646เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2007 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

".ขอบคุณคร๊าบ...ขอบคุณคะ..คือ

เสียงจากนักกีฬาที่พร้อมใจขาน

บอกน้าคนขับทุกครั้งที่ลงจาก

รถเมล์คันเล็ก... 

 

ทุกครั้งที่มีคนลงจากรถ, ผมได้ยินเช่นนั้นทุกครั้งจริง ๆ

 

.....ดีจังคะ แบบเป็นเหมือนญาติๆกันเลยนะคะ

  • ขอบคุณครับคุณ ดอกแก้ว
  • ผมได้ยินเช่นนั้นจริง ๆ ....
  • "บริการดุจญาติมิตร" ประมาณนี้
  • รถกะป้อ  เปิดด้านข้างโล่งรับลม
  • เป็นแนวคิดที่ดีจังเลย ประหยัดพลังงานค่าแอร์ แถมได้ชมวิวทิวทัศน์
  • ประหยัดให้นักศึกษาด้วย ขอชื่นชมมหาวิทยาลัยค่ะ
  • เอ...มหาวิทยาลัยอื่นๆ มีบริการอย่างนี้ไหมนะ
อ่านแล้วรู้สึกประทับใจจังค่ะ ยิ่งเห็นจักรยานเรียงรายแบบนี้ นับวันจะยิ่งหาได้ยากขึ้นทุกที ที่มหาวิทยาลัยตามหอพักมีจักรยานไว้บริการให้กับเด็กๆค่ะ ส่วนรถเมล์ก็มีวิ่งเป็นเวลา แต่ไม่มีรถกะป้อแบบนี้ค่ะ อยากไปเที่ยวบ้างจัง ยินดีนะคะที่นักมวย 2 คนนั้นผ่านเข้ารอบ

สวัสดีครับ..อาจารย์  ลำดวน

  • รถเมล์เหล่านี้นั่งสบายจริง ๆ ครับ...โล่งรับลม เย็นสบาย  และที่แน่ ๆ ประหยัดค่าแอร์ได้ดีทีเดียว
  • ผมไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ มีการบริการเช่นใดบ้าง  เท่าที่เคยเห็นที่ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน  ช่วงกีฬาฯ ก็เอารถไถขนาดใหญ่มาทำเป็นรถพ่วงขนส่งนักกีฬาก็ได้บรรยากาศในแบบลูกทุ่ง ๆ  ....เป็นสีสันมากเช่นกัน
  • ขอบคุณอาจารย์นะครับที่กรุณาแวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้....ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับอ.ลูกหว้า
  • ขอบคุณนะครับที่มาทักทายและ ลปรร.
  • ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าสะกด "กะป้อ" ถูกหรือเปล่า พยายามสอบถามคนที่เกี่ยวข้องเขาก็บอกมาประมาณนี้....
  • ที่นี่มีจักรยานมากเหมือนกัน...สนามกีฬาก็เยอะ..ยุงก็เยอะ..(แต่จัดการได้) 
  • ช่วงมา มมส  เป็นยังไงบ้างครับ...
  • กีฬาเป็นพลังสร้างคนให้สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
  • กีฬาสามารถทดแทนบางอย่างที่ขาดหายในตัวคนบางคนได้เป็นอย่างดี
  • ขอบคุณอาจาย์เม็กดำ 1 มากครับ
  • กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ
  • กีฬาสามารถทดแทนบางอย่างที่ขาดหายในตัวคนบางคนได้เป็นอย่างดี..ขอบคุณมากครับ

ที่ธรรมศาสตร์  ศูนย์รังสิต ก็มีค่ะ  และเรียกกันเล่นๆว่า " รถตู้ "  มาจากอักษร TU ซึ่งเป็นตัวย่อของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไงคะ

ได้ไปใช้บริการมา เมื่อ สิงหาคม 49 ค่ะ  เพราะนำนิสิตพิการและอาสาสมัครเพื่อนช่วยเรียนไปสัมมนาเชิงปฏิบัติการ : การจัดบริการสำหรับนักศึกษาพิการ ระดับอุดมศึกษา  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยศูนย์บริการนักศึกษาพิการมธ. ร่วมกับ สกอ.เป็นเจ้าภาพ ค่ะ  

ส่วนค่าบริการนั้นไม่คิดค่ะ  เห็นบอกว่าเป็นสวัสดิการนะคะ

  • เข้ามาปรับแก้ข้อมูลนะครับ หลังจากไปสืบเสาะ
  • กะป้อ  จริง ๆ เขียนเป็น "กระป๊อ"
  • ขอบคุณครับ
  • เยี่ยมมากครับเจ้หนิง...
  • ขอบคุณครับ...ที่แวะมาทักทายและแบ่งปัน
  • พรุ่งนี้สู้ ๆ นะครับ...
  • และข่าวดีอย่างน้อยนักมวยได้มาอีก 1 ทองแดง (อย่างน้อยนะครับ)...
  • ส่วนเจ้าแพ็ตคว้ามา 3 ทองจากลีลาศ
ใช่เลยค่ะ ชอบมากรถที่องครักษ์ เคยไปศึกษาดูงานที่องครักษ์เมื่อปี 47 ถ่ายภาพเก็บเสนอผู้บริหารให้ม.อ.ทำรถแบบนี้ ราคาถูกประยัด สามารถทำเองได้ มีคณะวิศวะ และเหมาะกับสภาพทางภูมิศาสตร์ม.อ.หาดใหญ่ (แต่ไม่ได้รับตอบสนอง) เห็นภาพแล้วชอบจริง ๆ (หรือต้องทำใช้เองที่บ้าน)
  • ท่านอาจารย์อัมพร ครับ
  • ผมถามดูต้นทุนการต่อรถก้ไม่ใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงนัก  โดยเฉพาะส่วนหนึ่งใช้ทรัพยากรในมหาวิทยาลัยทำเอง...ฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้นิสิตได้ด้วย
  • สำคัญคือ  ช่วยลดจำนวนการใช้รถจักรยานยนต์ได้มากทีเดียว
  • นิสิตที่นี่ใช้คูปองเที่ยวละ 2 บาท...
  • ผมก็เห็นด้วยกับอาจารย์ เพราะมันน่าสนใจจริง ๆ  ....  ขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท