กิจกรรมภาพไขบนกระดาษขาว


เราไม่จำเป็นจะต้องให้ทุกอย่างเป็นเหมือนอย่างที่เราคิด

กิจกรรมภาพไข (ปริศนา) บนกระดาษขาวนี้ ผมได้แนวคิดและเป็นผู้ทำกิจกรรมในฐานะนักเรียนเมื่อตอนทำงานวิจัยเรื่องการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน โดยอาจารตุ้ม (ดร.ทิพวัลย์ ศรีจันทร์) ส่วนชื่อกิจกรรมนั้นผมตั้งเอง เพราะอาจารย์ไม่ได้บอกชื่อกิจกรรมไว้ หรืออาจบอกแต่ผมจำไม่ได้ก็ไม่รู้

สิ่งที่ผมประทับใจคือ ความสงบเงียบของกิจกรรม และการเรียนรู้เรื่องราวที่ดีกับบรรยากาศในวันนั้น ผมจำรายละเอียดได้ไม่มาก แต่ผมก็นำมาใช้เท่าที่ผมจะทำและประยุกต์ได้ในปริบทที่เหมาะสม

- แจกกระดาษขาวให้กับผู้เรียนคนละ ๑ แผ่น

- ให้ผู้เรียนมองกระดาษขาวนั้น พร้อมกับลืมทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่ดีและไม่ดีออกไปให้หมด (ตอนนี้ผมคิดว่า น่าจะตัดกระดาษขาวนั้นให้เป็นวงกลม โดยควรให้ผู้เรียนตัดกระดาษขาวนั้นด้วยอุปกรณ์ที่เตรียมมาด้วยตนเองน่าจะดีกว่า) ให้คิดในใจเพียงว่า กระดาษสีขาว กระดาษสีขาว...........ไปเรื่อยๆ และให้เหลือเพียง "ขาว" "ขาว" หรือ "สีขาว" "สีขาว" ทำอยู่อย่างนี้สักระยะหนึ่ง (ประโยชน์คือการปรับความคิดทั้งหมดของแต่ละคนให้รวมกันเป็น ๑ ที่เรียกว่า "เอกจิตฺตํ"

- ให้ผู้เรียนหลับตาและมองให้เห็นสีขาวที่เป็นวงกลม (ลงกลมในขณะหลับตาไม่ใช่สีขาว) ขณะเดียวกันก็พยายามตามเห็นมัน ส่วนผู้ทำอวยการกิจกรรมก็พูดเบาๆ คลอไปด้วยเกี่ยวกับ ความสำคัญของชีวิตที่ได้เกิดมา เหตุผลในการเกิดมาเป็นคน ความยากลำบากกับการเกิดมา ความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ ฯลฯ จากนี้ไปสักระยะหนึ่ง (เมื่อทุกคนเห็นชีวิตของตนเองที่ผ่านมาและกำลังจะดำเนินไป...ไปไหน..ไปทำไม)

- ให้ผู้เรียนวาดสัญลักษณ์อะไรก็ได้ ที่สามารถจะทดแทนชีวิตของตนได้ สัญลักษณ์นี้ต้องสามารถอธิบายความเป็นตัวของตัวเองให้ได้ด้วย (เรื่องนี้ต้องกำชับว่า ภาพที่ออกมาสวยหรือไม่สวยไม่ใช่สิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญคือ เราต้องการสื่ออะไร เพราะบางคนกลัวว่าจะวาดไม่สวย)

- เมื่อแต่ละคนวาดเสร็จแล้วให้นำกระดาษที่วาดนั้นไปแปะไว้ที่กระดานหน้าห้อง (หากรอบห้องเป็นต้นไม้ ก็ให้ไปแปะไว้ตามที่เหมาะสม)

- เมื่อทุกคนแปะเสร็จแล้ว ให้แต่ละคนเดินไปดูภาพแต่ละภาพ จากนั้นให้หยิบภาพที่เราชอบที่สุดมา ภาพนั้นจะต้องไม่ใช่ภาพของตัวเอง และจะต้องลืมคนที่วาดเสีย (หากเห็นคนอื่นวาด) ให้เห็นแต่เพียงภาพเท่านั้น

- เมื่อทุกคนได้ภาพที่ต้องการแล้ว (แน่นอนคนสุดท้ายไม่ได้เลือก หากแต่เหลือใบเดียว) จึงมานั่งดูภาพที่เลือกนั้น จากนั้นให้แต่ละคนแสดงความเห็นดังนี้

๑) ทำไมเราจึงเลือกภาพนี้

๒) คนที่วาดภาพนี้ต้องการสื่อถึงอะไร

- แต่ละคนเริ่มแสดงความเห็นทั้ง ๒ ข้อนั้น (เมื่อสรุปแล้วสิ่งที่เขามองเห็นคือเรื่องดีทั้งสิ้น มันไม่ดีหรือหากเราจะคิดถึงเรื่องดีๆ และเป็นข้อสรุปให้คนมั่นใจว่า จริงๆแล้วใจของเราดี"

- เมื่อทุกคนแสดงความเห็นเสร็จ ให้เจ้าของภาพมาขอภาพคืน เมื่อแต่ละคนได้ภาพของตนแล้ว แต่ละคนก็แสดงสิ่งที่ต้องการสื่อให้เห็นจากภาพ

- ประเด็นสุดท้ายคือคำถามว่า "กิจกรรมนี้ให้ความคิดอะไรบ้าง"

แน่นอนว่าประเด็นสุดท้าย ทุกคนมีความคิดทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน จากนั้นผู้อำนวยการกิจกรรมก็พึงสรุปแนวคิดจากกิจกรรมนั้น แต่ควรกำชับว่า นี้เป็นเพียงสิ่งที่ต้องการสื่อ ไม่ได้หมายความว่า การที่ทุกคนได้สาระจากกิจกรรมที่ไม่ตรงกับผมจะเป็นสิ่งที่ผิด ทุกคนมองสิ่งๆ หนึ่งแตกต่างกัน ทั้งนี้แล้วแต่ประสบการณ์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทุกอย่างบนโลกใบนี้จะมีความหลากหลาย เราไม่จำเป็นจะต้องให้ทุกอย่างเป็นเหมือนอย่างที่เราคิด.......

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกกิจกรรม
หมายเลขบันทึก: 73620เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2007 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบใจกิจกรรมนี้จังค่ะ  เพราะแนวคิดของกิจกรรมเป็นแนวคิดที่ดีนะค่ะ  แต่มาคิดต่อแล้วคงต้องมองว่าเราจะใช้ชีวิตยังไงให้สามารถอยู่กับความหลากหลายเหล่านี้ได้ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

เนอะผมก็ว่าอย่างนั้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท