si
นางสาว ศิริรัตน์ ทองมีศรี

สุดยอดของการศึกษา


สุดยอดของการศึกษา
 

คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า -
สุดยอดของการศึกษา

วิณทร์ เลี้ยววาริณ


คงไม่มีนักการศึกษาใด ๆ ตั้งเป้าหมายการ ศึกษาเพื่อทำลายโลก ทำลายสังคม แต่ถ้ามองถึง อนาคตข้างหน้า ทรัพยากรทั้งหลายในโลก ก็มีแต่จะหมดไป ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ประชากรของโลกมีแต่จะทวีขึ้น อีกทั้งความโลภ ความต้องการก็มีแต่จะปลุกปั่นโฆษณา ให้อยากได้ อยากมี อยากเป็น อย่างบ้าคลั่ง กระแสแห่งความแย่งชิงนับวันก็ยิ่งจะทวีความรุนแรง โหดร้าย อำมหิต

ทิศทางของการศึกษาจึงน่าจะมีเป้าหมาย เพื่อ ให้คนไม่เป็นเพื่อการแย่งชิง มีความเป็นอยู่อย่าง พึ่งตนเองได้ ไม่กินมาก ไม่อยากใหญ่ ไม่กอบโกย มีแต่สร้างสรรเกื้อกูลให้คนอื่น เป็นการศึกษา เพื่อออกมาช่วยสังคม ไม่ใช่มา เอาเปรียบสังคม เป็นการศึกษาองค์รวม ไม่ใช่การศึกษา แบบแยกส่วน และเป็นการศึกษาที่สามารถพัฒนาคน เปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอคน ให้เป็นคนดีมีคุณธรรม และ สามารถ ปลูกฝัง จนสามารถมีการศึกษา ตลอดชีวิตได้ ก็น่าจะเป็นสุดยอดของการศึกษา ซึ่งการศึกษา ทางเลือกทุกวันนี้ มีรูปแบบหลากหลายที่น่าสนใจ

"การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ" เป็นการศึกษาทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนำเสนอโดย คุณวิจักขณ์ พาณิช จากมหาวิทยาลัยนาโรปะ โครงการ จิตวิวัฒน์ ได้นำเสนอใน น.ส.พ. มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ซึ่งมีประเด็น ที่ต้องศึกษาด้วยใจ อย่างใคร่ครวญให้มาก ดังนี้ :

มีคำภาษาอังกฤษคำหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็น ที่ท้าทายของนักการศึกษาในวงการศึกษา กระแสหลัก และขณะเดียวกัน ก็เป็นที่ดึงดูด ในต่อนักการศึกษาทางเลือก ในโลกตะวันตก คือคำว่า Contemplative Education ซึ่งประกอบด้วยคำสองคำ ที่มีความหมายกำกวม ตีความไปได้ หลายทิศหลายทาง ถูกนำมา รวมกันเพื่ออธิบายความคิดหนึ่ง ที่ฉีกออกไปจากความหมายเดิม ๆ ของการศึกษา ที่คนทั่วไปเข้าใจกัน...

Contemplative แปลเป็นไทยในการทึกทักเอาเองของผู้เขียนว่า "ที่ใคร่ครวญครุ่นคิดคำนึงด้วยใจ โดยแยบคาย" พอตีความไปในทำนองนั้น ทำให้นึกถึงคำบาลี ในพุทธศาสนาที่ว่า "โยนิโสมนสิการ" (การพิจารณาโดยแยบคาย) ที่ดูแล้วสองคำจากสองภาษา ต่างให้ความหมาย อันเดียวกันนั่นเอง

education เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันดี แปลเป็นไทยได้ว่า "การศึกษา" เราใช้คำว่าการศึกษากัน จนลืม ความหมาย ที่แท้จริงของคำ คำนี้ไป การศึกษากลายเป็นภาพของรั้วโรงเรียน ห้องเรียน ครู นักเรียน เครื่องแบบ ปริญญา อะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาพที่เรารับเอา ระบบการศึกษา จากทางตะวันตกมา ด้วยความ เชื่อที่ว่าการศึกษาแบบนั้น จะพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อการพาประเทศไปสู่ ความเป็น อารยะ ทัดเทียมเท่าทัน ประเทศมหาอำนาจ ทางตะวันตก

แต่ในทางพุทธของเรา คำว่า ศึกษาหรือสิกขาหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่กอปรด้วย ความพร้อมพรั่ง ใน ศีล สมาธิ และปัญญา ไม่แยกขาด ออกจากกัน

Contemplative education จึงหมายถึง การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ นัยที่ซ่อนอยู่ของคำคำนี้ มิใช่แสดง ถึงรูปแบบ ของการศึกษา หรือ ระบบการศึกษา แต่เน้นไปที่ "กระบวนการ" คำคำนี้เหมือนเป็นการ จุดประกาย ความหมายใหม่ ให้เราย้อนกลับไปหาราก คุณค่า และความหมาย ที่แท้จริงของการเรียนรู้ ที่มีผลระยะยาวต่อชีวิต ของคนคนหนึ่งทั้งชีวิต

Contemplative education สะท้อนให้เห็นกระบวนการ ความเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง ความคิด สร้างสรรค์ จินตนาการ...นำไปสู่การตั้งคำถาม อย่างถึงราก ต่อการศึกษาในระบบ ที่ได้จำกัดการเรียนรู้ ให้แน่นิ่ง อยู่ในกรอบ ในขั้นตอนที่ถูกจัดวางไว้อย่างตายตัว

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพของการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนจน คนรวย คนบ้านนอก คนกรุง คนต่างชาติต่างวัฒนธรรม คนทุกคนต่างมีธรรมชาติของจิตแบบ เดียวกัน เป็นจิตใจที่สามารถเป็นอิสระ จากภาพลวงตาของ อัตตาตัวตน ก้าวพ้นสู่การ สัมผัสความดี ความงาม และความจริง จนก่อให้เกิดความสุขสงบเย็น อย่างยั่งยืนภายใน

ปัญหาของการศึกษาก็คือ เรากลับไปเอาความรู้ ในตำราเป็นตัวตั้ง พยายามจะผลิตคนเก่งและ คนฉลาด ขณะเดียวกัน ก็ได้ตีตราคนอีกกลุ่มว่า เป็นคนโง่ไม่เอาไหน เกิดการแข่งขัน เพื่อแย่งกันเป็น ผู้ชนะ และเหยียบย่ำผู้แพ้ ราวกับเขาไม่มีเลือดเนื้อจิตใจ

ทางที่ถูกเราต้องไม่เอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเป็นความรู้ทางปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการเชื่อมโยงกัน ในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ ทั้งนี้ลักษณะ ของการเชื่อมโยง หาได้เป็นการสร้างสะพานเชื่อม โดยที่ยังมองสามเรื่อง แยกขาดออกจากกัน

หากเราเข้าใจ และได้สัมผัสกับกระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เราจะเห็นได้ชัดเจน ถึงความเชื่อมโยง ของการเรียนรู้ เพราะความรู้ ที่แท้จริงนั้น คือประสบการณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักเพื่อนใหม่ การเดินทางท่องเที่ยวไป ยังที่ที่เราไม่เคยไป การอ่าน หนังสือดีๆ สักเล่ม การได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง และเมื่อเราเพิ่มมิติของการใคร่ครวญด้วยใจ เราจะสัมผัสได้ถึง คุณค่า และความงาม ที่ทำให้จิตใจของเราขยายขึ้น เรียนรู้ที่จะรัก เรียนรู้ที่จะให้ เรียนรู้ที่จะยอมรับความหลากหลายทางความ คิดมากขึ้น อันเป็นผลมาจาก อัตตาตัวตน ที่ลดลง กระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จึงนำ ไปสู่ความตั้งใจ ที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ดำรงชีวิต เพื่อให้เกิดคุณค่า แก่คนรอบข้างอย่างแท้จริง

ในขณะที่กระบวนการเรียนรู้ในภาคความรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา...เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ และกระบวนการมากกว่า การท่องจำ จากตำรา เมื่อ ความรู้ได้แตกยอดงอกงามขึ้นภายในใจ จนถึง จุดหนึ่ง เสียงข้างในจะบอกเราให้เข้าใจ ถึงความหมายของการเรียนรู้ ในภาควิชาชีพ ในแง่มุม ที่ต่างออกไป นั่นคือ... งานหรือการประกอบอาชีพ แท้จริงคือ ผลที่สุกงอม จากการเรียนรู้ เสียงข้างใน ที่ไม่ถูกทำให้ พร่าเลือนด้วยอำนาจ ของการลดละอัตตา จะนำมาซึ่งความตั้งใจที่จะทำประโยชน์ ต่อผู้อื่น ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ ในด้านที่ตนถนัด เป็นการทำงานด้วย ความสนุก ด้วยความรัก ด้วยความดีไปพร้อม ๆ กัน เป็นการเรียนรู้ ที่ทำให้เกิดสุขภาวะ ทางจิตวิญญาณ ซึ่ง ก็คือการผุด บังเกิดของความร่ำรวย ทางความรู้ของจิต ที่ขยายกว้าง

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยสิ่งแวดล้อมที่สบาย สถาบันการศึกษา ในปัจจุบัน โดยมากกลายเป็นที่อบาย มิใช่สบาย เพราะเต็มไปด้วย ความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุ เป็นที่บ่มเพาะอัตตา สภาวะ ความคับแคบของจิต

สบายในที่นี้มาจาก สัปปายะ คือสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การเรียนรู้จะเกิดได้ในสิ่งแวดล้อม ที่เห็น คุณค่า ของการเรียนรู้ด้านใน ผู้คนรู้จัก รดน้ำใจให้ คนรอบข้าง ให้ความสำคัญ และเอาใจใส่จิตใจของ ผู้เรียนรู้ในทุกขณะ

การเอาใจใส่จิตใจในกระบวนการการเรียนรู้นั้น สามารถทำได้ใน ๓ ลักษณะ คือ

๑. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) หมายถึง ฟังด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจ อย่างสัมผัสได้ถึง รายละเอียด ของสิ่งที่เราฟัง อย่างลึกซึ้ง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ในที่นี้ยังหมายถึงการรับรู้ในทางอื่น ๆ ด้วย เช่น การมอง การอ่าน การสัมผัส ฯลฯ

๒. การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (Contem-plation) เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการฟังอย่าง ลึกซึ้ง กอปรกับ ประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ในทางอื่นๆ เมื่อเข้ามาสู่ใจแล้ว มีการน้อมนำมาคิด ใคร่ครวญดู อย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องอาศัยความสงบเย็น ของจิตใจเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็ลองนำไป ปฏิบัติเพื่อ ให้เห็นผลจริง ก็จะเป็นการพอกพูนความรู้เพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง

๓. การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (Meditation) การปฏิบัติธรรมหรือการภาวนาคือการเฝ้าดู ธรรมชาติ ที่แท้จริงของจิต นั่นคือ การเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ความ บีบคั้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง และ สภาวะ ของการเป็นกระแส แห่งเหตุปัจจัย ที่เลื่อนไหลต่อเนื่อง

การปฏิบัติภาวนาฝึกสังเกตธรรมชาติของจิต จะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงจากภายในสู่ ภายนอก เห็นความเป็นจริง ที่พ้นไปจากอำนาจ แห่งตัวตนของตน ที่หาได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เป็นเพียง การเห็นผิดไป ของจิตเพียงเท่านั้น

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่พรั่งพร้อมด้วยศีล สมาธิ อันเป็น บาทฐาน ของการเรียนรู้ที่พรั่งพร้อมด้วยศีล สมาธิ อันเป็นบาทฐาน ของการก่อกำเนิดความรู้ที่ถึงพร้อม นั่นคือ ปัญญา ที่สามารถมองเห็นสรรพสิ่ง ตามที่เป็นจริง เห็นถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยง การเปลี่ยนแปลง ไหลเลื่อนไม่หยุดนิ่ง เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ที่จะทำให้เรากลับมาเห็น คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ในปัจจุบันขณะ ด้วยสติสัมปชัญญะ ที่สมบูรณ์...เป็นการศึกษา ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยสายตา แห่งความสดใหม่ อยู่เสมอ ผลที่งอกงามภายใน จะสุกงอมหอมหวาน

ก่อเกิดผลเป็นการงานอันสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์อันกว้างขวางต่อสังคม และผู้คนรอบข้าง

บทสรุป : นับว่าการศึกษาทางเลือกของโลกตะวันตก ได้มีพัฒนาการมาสู่แก่นแกนของ พุทธศาสนา ที่เน้นหัวใจสำคัญอยู่ที่ การเจริญ สัมมาทิฐิ และไตรสิกขา ซึ่งองค์ประกอบของสัมมาทิฐิจะเกิดได้ ก็ด้วยการน้อมรับฟังผู้อื่น (ปรโตโฆสะ) และนำมาพินิจพิจารณา ใคร่ครวญ ด้วยใจอย่างยิ่ง (โยนิโสมนสิการ) เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราเป็นนักการศึกษาที่สามารถเรียนรู้อะไรได้มากมายตลอดชีวิต และจะประเสริฐเลิศยอด ยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีก หากสามารถเข้าถึง "ไตรสิกขา" ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เป็น การศึกษาอันยอดเยี่ยม ยิ่งกว่าระบบการศึกษาใด ๆ (สิกขานุตตริยะ) เพราะเป็นการศึกษา ที่ทำให้ มนุษยชาติ ได้เข้าถึงสัจธรรมในระดับโลกุตระ เป็น การศึกษาที่ล้างกิเลส ความเห็นแก่ตัวได้จริง ย่อมนำพาตัวเอง และผู้อื่น ให้ออกจากกระแสแย่งชิง มาแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะเมื่อเข้าถึง โลกุตระ ก็จะเข้าใจโลกีย์ และหันมาช่วยโลกีย์ โดยตนได้หลุดพ้นออกมาแล้ว จากโลกีย์จึงไปหาสูญ ไปหาความไม่มีตัวตน (อัตตา) จึงสามารถช่วยคนอื่นได้จริง เพราะไม่มีอะไร ต้องวนกลับมาหา อัตตาของกูอีกต่อไป.

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ -
หมายเลขบันทึก: 73511เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 18:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประชาสัมพันธ์ร่วมสร้างคนดี

- ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม เป็นวิทยากรอบรมธรรมะ โครงการอิ่มบุญ วุฒิสภา ๙๙๙ วัด เยาวชนปฏิบัติธรรม ระยะเวลา ๓ วัน ๒ คืน

๑. ค่ายวัยใส ใฝ่คุณธรรม นำพ้นภัย ยาเสพติด

๒. ค่ายพุทธบุตร

อบรมบุคลากรในหน่วยงาน

๑. การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

๒. พัฒนาจิต พิชิตงาน เบิกบานใจ สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม อีเมล [email protected] โทรศัพท์ ๐๘๙๔๘๔๑๙๗๓

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท