ใครที่ชอบเข้าร้านหนังสือ อาจจะเคยสะดุดตากับปกนิยายของแดน บราวน์
เรื่อง Angels & Demons
เพราะการออกแบบลายเส้นและรูปร่างตัวอักษรที่ซ่อนสมมาตรเอาไว้
ทำให้สามารถอ่านแบบกลับหัว-กลับหางก็ยังเหมือนเดิม
ลักษณะของตัวอักษรอย่างนี้แหละที่ฝรั่งเรียกว่า แอมบิแกรม (ambigram)
ซึ่งมาจากภาษากรีก ambi (จากทั้งสองด้าน) + gram (ตัวอักษร)
[คำว่า ambigram ผลงานของ Punya Mishra ศิลปินชาวอินเดีย]
ศิลปินในวงการนี้มีหลายคน แต่ที่โดดเด่นระดับเซียนเหยียบเมฆมี 2
คน ได้แก่ จอห์น แลงดอน (John Langdon) และสก็อต คิม (Scott
Kim)
เซียนคนแรกคือ จอห์น แลงดอน
เป็นเพื่อนสนิทของพ่อของแดน บราวน์ และผลงานของเขานี่เองที่ดลใจแดน
บราวน์ ให้สนใจศิลปะแขนงนี้ เขายังออกแบบแอมบิแกรมในหนังสือ Angels
& Demons (เทวากับซาตาน) อีกด้วย ไม่น่าแปลกใจเลยใช่ไหมล่ะที่แดน
บราวน์ ยืมนามสกุลแลงดอนไปใช้กับ โรเบิร์ต แลงดอน ตัวเอกในเรื่อง
รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code)
ส่วนเซียนอีกคนหนึ่ง คือ สก็อต คิม
นั้นก็เก๋าไม่แพ้กัน เพราะทำงานนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 นานพอๆ
กับแลงดอน นอกจากนี้
ยังดูเหมือนว่าในวงการคณิตศาสตร์จะให้เครดิตกับคิมมากกว่าแลงดอนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สก็อต คิม นั้นเรียกผลงานตัวอักษรศิลป์แบบนี้ว่า การผกผัน
(inversion) แถมยังเคยเขียนหนังสือชื่อ Inversions ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.
1975 (พ.ศ. 2518) โดยออกแบบให้คำว่า Inversions-Scott Kim
เป็นแอมบิแกรม และยังใช้แอมบิแกรมนี้ในนามบัตรของเขาด้วย
แสดงว่าเขาน่าจะภาคภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้มากทีเดียว
(คิมเล่าไว้ว่ากว่าจะได้ดีไซน์นี้มาเขาต้องร่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายสิบแบบ)
แอมบิแกรมไม่ได้มีแค่หมุนแล้วอ่านเหมือนเดิมเท่านั้น บางแบบอาจจะเป็นภาพกระจกสะท้อนซ้ายขวา (คือมีสมมาตรซ้าย-ขวา) ส่วนบางแบบก็เรียงอยู่บนเส้นรอบวงของวงกลม
มีแอมบิแกรมที่น่าทึ่งอีกแบบหนึ่งคือ แบบที่ก่อนหมุนเป็นคำหนึ่ง พอหมุนกลับหัวแล้วได้อีกคำหนึ่ง
เช่น True-False และ Art & Science – Philosophy ของจอห์น แลงดอน เป็นต้น (ลองหมุนดูสิครับ)
แอมบิแกรมสนุกๆ อีกแบบหนึ่งก็ไม่ต้องหมุนดู แต่ใช้การซ่อนคำๆ หนึ่งไว้ในอีกคำหนึ่ง เช่น คำว่า true ใน FALSE และคำว่า fact ใน Theory ดังภาพใกล้ๆ นี้
แล้วคนไทยมีใครออกแบบแอมบิแกรมไว้บ้างไหม?
เนื่องจากผมไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะ
จึงไม่กล้าฟันธงว่ามีศิลปินท่านใดเคยทำไว้บ้างแล้วหรือยัง
แต่อยากจะเล่าเกร็ดเล็กๆ ในมุมมองของตัวเองว่า
ตอนที่เขียนเรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์ (คอลัมน์ กฎพิสดาร
ปรากฏการณ์พิศวง ในเสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ) เป็นครั้งแรกนั้น
ก็มีแฟนคอลัมน์ท่านหนึ่งคือ คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว ส่งอีเมล์มาหาผม
โดยบอกว่า
“วันนี้อ่านคอลัมน์ กฏพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง ของคุณบัญชาที่ตีพิมพ์ในเสาร์สวัสดี ซึ่งผมติดตามเป็นประจำ เป็นคอลัมน์ที่มีเนื้อหาแหวกแนวดีครับ อ่านเรื่อง ambigram แล้ว เลยคันไม้คันมืออยากลองทำดูบ้าง เลยส่งมาให้ดูครับ ผมลองทำโดยใช้ชื่อของผมเองคือจำลักษณ์ chamluck แต่ลายเส้นยังไม่สวยครับ เพราะไม่ได้ใช้โปรแกรมวาดรูปทำ เพียงแค่ทดลองเพื่อการศึกษาเฉยๆ ผลงานดังไฟล์เอกสารแนบครับ”
ผมรู้สึกชื่นชมผลงานของคุณจำลักษณ์จริงๆ เพราะขนาดไม่ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วย ก็ยังมีลูกเล่นและลีลาเฉียบคมขนาดนี้ อีกอย่างดูจากเวลาที่ส่งมาซึ่งเป็นช่วงก่อนเที่ยงวันเสาร์ ย่อมแสดงว่าคุณจำลักษณ์ใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ไม่นานเลย
ผมเองพอได้เห็นอย่างนี้แล้ว
ก็เลยมีกำลังใจฮึดเอาอย่างมั่ง แต่ดันไปนึกออกตอนเคลิ้มๆ
ใกล้ตื่นนอนตอนบ่ายว่า เอ!
ชื่อของเราในภาษาอังกฤษนี่ก็น่าจะเล่นได้นี่นา เพราะตัว bu กับตัว ha
ต้นคำกับท้ายคำนั้น ดูเหมือนจะเป็น ambigram
ซึ่งกันและกันอยู่แล้ว
พอเสร็จจากชื่อตัวเองในภาษาอังกฤษแล้ว ก็ลองทำแอมบิแกรมภาษาไทยดูมั่งผลก็เลยออกมาอย่างที่เห็น
(ตามประสานักวิทย์ริซ่าทำงานศิลปะ!)
ได้เห็นเสน่ห์และความงดงามของแอมบิแกรมพอเป็นตัวอย่างแล้ว ก็คงจะรู้สึกได้ทันทีว่างานอย่างนี้น่าจะขายได้ เรื่องนี้น่ายินดี เพราะศิลปินที่ออกแบบแอมบิแกรมเก่งๆ อาจรับจ้างออกแบบโลโกให้กับบริษัทต่างๆ (เช่น Sun Microsystems ซึ่งมีโลโกเป็นแอมบิแกรม) ไปจนถึงโลโกของดาวเทียมนาซ่า (เช่น โครงการ GOES เป็นต้น)
สรุปว่าถ้าเก่งจริง ก็ไม่เป็นศิลปินไส้แห้งแน่ แถมเผลอๆ อาจจะรวยน้องๆ
คุณเฉลิมชัยก็เป็นไปได้นะ…ขอบอก!
ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำ Gef’s Ambigram Gallery ที่ http://www2.iap.fr/users/esposito/ambigallery.html
ซึ่งมีลิงค์ไปยังเว็บของศิลปินคนอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับคำว่า ambigram อันบนสุดนั้น เป็นผลงานของ Punya Mishra
ศิลปินชาวอินเดีย
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ ใน ภาษา-พาสาร