การเรียนรู้ของผู้พิการ (ตา)


น้องป่านจอมป่วน
น้องป่าน กับการเรียนรู้โดย : นวลทิพย์  ชูศรีโฉมสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)          ระหว่างวันที่ ๗-๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๙  แผนงานเครือข่ายคนพิการ สถาบันศิรินธร ได้เชิญทีม สรส.  (ท่านอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส. และผู้เขียน) เป็นทีมวิทยากร เพื่อทำกระบวนการ การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยใช้การจัดการความรู้ ให้กับกลุ่มพิการทางตา (ตาบอด)  ซึ่งจัดที่เทศบาลอำเภอเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ (จัดทั้งหมด ๖ ครั้ง โดยทีมวิทยากรจาก สรส.)                    แรกทีเดียวพอคิดถึงว่าจะต้องทำกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มคนตาบอด  ท่านวิทยากรรู้สึกหนักใจพอสมควร หนักใจเรื่องวิธีการสื่อการ การใช้อุปกรณ์ประกอบกระบวนการ การใช้ภาษารวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ  ได้พยาพยามคิดสรรหาวิธีการมากมาย แต่ที่ไหนได้  อาจารย์ครับขอให้อาจารย์ทำกระบวนการหรือปฏิบัติต่อพวกผมเหมือนคนปกติได้ครับ คนตาบอดท่านหนึ่งพูดขึ้นมาในเวทีคงเนื่องจากสัมผัสได้ว่าท่านวิทยากรพูดแบบเกร็ง ๆ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ อาจารย์ครับ กรุณาใช้คำว่า ดูหนัง แทนคำว่า ฟังหนัง ให้เหมือนคนปกติด้วยครับ อ๋อ! นี่เองที่เขาพูดว่า  ก่อนจะทำอะไรต้องรู้เขา รู้เราเสียก่อนไม่รู้จักเขาจริง จึงคิดไปเอง สรุปไปเองและหนักใจไปเอง  สาธุคนตาบอดส่วนใหญ่ผ่านมรสุมชีวิตมาอย่างยากลำบาก บางคนตาบอดตั้งแต่เกิด บางคนมาตาบอดตอนโตด้วยอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บ ต้องต่อสู้กับตัวเอง กับสังคม เมื่อผ่านจุดวิกฤติของชีวิตมาถึงจุดที่ตัวเองมีโอกาส จึงอยากแบ่งปันช่วยเหลือเพื่อนคนตาบอดที่ยังขาดโอกาส คนตาบอดรับฟังเคารพนับถือผู้อาวุโส มีความเป็นประชาธิปไตย เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน การพูดการสื่อสารคิดอย่างไรจะสื่อออกมาอย่างนั้น เป็นที่เข้าใจ ไม่ต้องประดิษฐ์คำให้สวยหรู  กระบวนการในเวทีครั้งนี้  เริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐานเรื่อง  การฟัง ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ โดยให้เรียนรู้ผ่านกิจกรรม จับคู่เล่าเรื่อง จากนั้นให้ถอดบทเรียนจากกิจกรรม ตบท้ายด้วยท่านวิทยากรให้หลักการ การฟังที่ดี ต้องฟังด้วยใจ ฟังด้วยสมาธิ ฟังแบบไม่ด่วนตัดสิน ไม่อคติ คนฟังกับคนเล่าต้องเอื้อกันเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน... ท่านวิทยากรจะคอยตอกย้ำหลักการฟังโดยแทรกไปในกิจกรรมอื่นเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเวทีตระหนักถึงความสำคัญของการฟัง (ว่ามันสำคัญมากน่ะ ขอให้ใช้หลักการฟังที่ดีอยู่ในทุกขณะจิต) เอาล่ะค่ะ!  พูดมาตั้งนาน ขออนุญาตแนะนำ  น้องป่านให้ท่านรู้จักแล้ว  น้องป่านเธอเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ เป็นหญิงร่างใหญ่ วัยพอสมควร ตาบอดมาแต่ยังเด็ก เป็นคนค่อนข้างอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม ช่างซัก ช่างถาม ช่างพูด ช่างคุย ช่าง...(มันเถอะ) อยากพูดอยากคุยเวลาไหนเธอก็ปฏิบัติการทันที เสียงดังฟังชัด เหมือนเด็กซน สมาธิสั้น ทำอะไรนาน ๆ เธอก็จะบ่นจะเบื่อ ท่านวิทยากรให้ทำกิจกรรมอะไร เธอต้อง โวย! ไว้ก่อน  โฮ้ !...  (โวยคล้ายเด็กที่มีปัญหา...ไม่รู้ข้าขอโวยไว้ก่อน แต่ก็ทำตามที่บอก) ความคิดเห็นจะไม่ค่อยเหมือนคนอื่น แถมมั่นใจในสิ่งที่พูดแบบสุด ๆ คิดแบบสุดขั้วสุดโต่ง เธอกล้าที่จะปะทะความคิดเห็นกับท่านวิทยากร  ท่านวิทยากรก็สามารถอธิบายให้เธอสยบได้ (บางครั้งเธอถาม แบบไม่ต้องการคำตอบ อยากถามไปอย่างนั้น เหมือนอยากเอาชนะ) แต่ไปๆ มา ๆ กลับกลายเป็นว่า คนอื่นในเวทีได้เรียนรู้จากการกล้าคิด กล้าถามของน้องป่านไปไม่น้อย เพราะเธอเหมือนเป็นตัวแทน เป็นสื่อแทนเพื่อน ๆ ทำให้เวทีมีสีสัน ลักษณะแบบน้องป่าน ท่านวิทยากรเรียกว่าเหมือน ม้าพยศ จะต้องมีคนปราบ ฟังสรรพคุณของเธอดังนี้แล้ว ได้โปรดห้อยแขวนไว้ก่อน อย่า...อย่าพึ่งด่วนสรุปหรือด่วนตัดสินว่าเธอเป็นคนแบบไหน  โปรดติดตามตอนต่อไป           ต้องจับเธอมาจัดระบบทางความคิด เธอมีศักยภาพ เป็นคำพูดของท่านวิทยากรผู้มีสายตาอันแหลมคมมองเห็นศักยภาพในตัวของน้องป่าน          เช้าของการฝึกอบรมวันที่ ๒ ผู้เขียนได้ยินเสียงน้องป่านเจื้อยแจ้วแต่เช้า น้องป่านคุยกับท่านวิทยากร อาจารย์ค่ะ ทำอย่างไรจึงจะมีความเชื่อมั่น ความมั่นใจในการพูดคะ  เพราะพูดออกไปโดยไม่มั่นใจ กลัวคนเขาจะหาว่าเราโง่ น้องป่านตั้งคำถามกับท่านวิทยากร (แบบตัวต่อตัว) โถ...น้องป่านขา นี่ขนาดยังไม่มั่นใจน่ะ พระเจ้า...ยังเสียงขนาดนี้ ถ้าหากเธอมั่นใจเมื่อไหร่ละก็... การที่เธอเป็นคนช่างถาม ทำให้ผู้เขียนตีความ (เอาเอง) ว่า เธอเป็นคนใฝ่รู้  เธอคงอยากจะมีคนรับฟังเฮอ ตอบคำถามเธอ คอยเป็นกระจกสะท้อนให้เธอ เขาไม่ค่อยฟังหนูพูดกันเลยค่ะ  เขาเดินหนีกันหมด เธอบ่นตัดพ้อกับท่านวิทยากรผู้เป็นนักฟังที่ดี  เลยทำให้เช้าวันนั้นท่านวิทยากรเปิดเวทีด้วยการชวนคุยเรื่อง ความเชื่อมั่น ความมั่นใจ จะเกิดได้อย่างไร  ซะเลย ถือเป็นประเด็นการเรียนรู้ได้อีกประเด็นหนึ่งทีเยี่ยมยอดทีเดียว อาจารย์ค่ะทำไมไม่ให้คนตาบอดเป็นคุณอำนวยหรือคุณบันทึกบ้างค่ะ ทำไม่ให้แต่คนตาดีทำ น้าน ๆๆๆ น้องป่านอยากลอง  ช่างกล้าจริง แม่คุณเอ๋ย  เธออาจถามไปโดยไม่คิดอะไร แต่ผลที่ตามมาคือ ท่านวิทยากรจัดให้ตามที่น้องปานจำนรรค์จา เอ้า! เอาสิลองดูมั๊ย ท่านวิทยากรตอบกลับด้วยความจริงใจ มีคนอยากจะเรียนรู้ซึ่งท่านวิทยากรก็ชอบ ทำเอาน้องป่านตั้งตัวไม่ติด จริง ๆ หรือค่ะอาจารย์....ให้ลองทำจริงหรือค่ะ จะดีหรือคะน้องป่านพูดด้วยท่าทางที่ไม่ค่อยมั่นใจในตำแหน่ง คุณอำนวยเท่าไหร่นัก แต่!  เธอก็รับนะ ใครอย่ามาท้าเชียว ..ป่านไม่ยอม  เอ้า! อำนวย ก็อำนวยวะ          การทำหน้าที่เป็น คุณอำนวย ประจำกลุ่มย่อยของน้องป่าน เธอจะมีวิธีแปลกใหม่ตามแบบฉบับของเธอ ขอให้ทุกคนในกลุ่มช่วยกันคุยนะ... เธอบอกสมาชิกในกลุ่มเป็นเบื้องต้น เธอชวนคุยในกลุ่มสักพักเธอก็หมดคำถาม เอ้า ๆ ช่วย ๆ กันถามหน่อย อย่านั่งเฉย ๆ เธอพูดเสียงดังฟังชัด  เอาล่ะ! น้องป่าน ถึงน้องป่านจะหมดมุขในการชวนคุยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่น้องป่านทำหน้าที่ในฐานะคุณอำนวยได้ดีที่สุดในโลกคือ น้องป่านเป็นคนช่วยกระตุ้น (ด้วยเสียงอันทรงอานุภาพ) ให้สมาชิกในกลุ่มได้มีการพูดคุยกันได้เจ๋งที่สุดจ๊ะ                การทำกิจกรรมสะกัดความรู้ในกลุ่มย่อยผ่านไป ผ่านไปพร้อมกับสถานการณ์ที่น้องป่านเข้าไปอยู่ในวงการพูดคุยที่มีหลักการ มีกติกาคอยกำกับการพูดคุย เมื่อเสร็จจากกิจกรรมกลุ่มย่อย ท่านวิทยากรให้ทุกคนมารวมในวงใหญ่เพื่อถอดบทเรียนจากกิจกรรม ผู้เขียนสังเกตเห็นน้องป่านนั่งนิ่ง (เหมือนหมดฤทธิ์) เอ...เธอเหนื่อยจากการทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยหรือว่าอย่างไร  สักพักน้องป่านพูด แต่พูดในสิ่งที่เป็นสาระมากขึ้น พูดด้วยระดับเสียงที่ฟังแล้วผิดปกติจากที่เธอเคยพูด อีกทั้งเธอยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิทยากรไปในตัว ใครพูดกันขณะที่ยังไม่ถึงเวลาพูด น้องป่านเธอจะคอยปรามเพื่อน ๆ เฮ้ย! อย่าพึ่งพูด...ฟังก่อน หากเพื่อนๆ ตอบคำถามไม่ตรงประเด็นกับที่ท่านวิทยากรถาม  เธอก็จะคอยย้ำประเด็นให้เพื่อนเข้าใจ เฮ้ย ! อาจารย์ถามความรู้สึก...ให้ตอบความรู้สึก   อะไรทำนองนี้  โอ...วิทยากรเบาแรงไปเยอะเลยมีผู้ช่วยแบบนี้วันแรกที่มาเวทีนี้รู้สึกสับสน แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเวทีนี้ดี ทำให้ตัวเองมีความกล้าพูด (โถ...ที่ผ่านมายังไม่กล้าอีกเหรอ เป็นเสียงแซวของเพื่อนบางคนในเวที) มีวิธีการพูดที่ดีขึ้น รู้จักยั้งคิด นิ่งและฟังมากขึ้น  เรียบเรียงคำพูดก่อนที่จะพูด รู้ว่าตัวเองเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น เป็นประโยคคำพูดของน้องป่านในการประเมินผลก่อนปิดเวทีวันที่ ๒  โอ...จอร์ช น้องป่าน เธอเปลี๊ยนไป  เท่านั้นยังไม่พอครับท่าน...หลังจากปิดเวทีแล้ว เธอยังขอพูดคุยกับท่านวิทยากรเป็นพิเศษ อาจารย์ขา...หนูจะเรียนต่อ อาจารย์ว่าหนูจะเรียนสาขาอะไรดีค่ะ  อาจารย์ขา...หนูชอบเวทีแบบนี้ หนูอยากเป็นวิทยากรค่ะ...ขอเบอร์โทรศัพท์อาจารย์ด้วยค่ะ เพื่อหนูจะโทร.ไปปรึกษาอาจารย์   น้องป่านขา... เธอเป็นได้ทุกอย่างที่เธออยากเป็นจ๊ะ เพราะเธอมีต่อมของความใฝ่รู้อยู่ในตัว เพียบ!เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าด่วนตัดสินคนตามที่เราเห็นภายนอก คน ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง บางอย่างอาจไม่เป็นอย่างที่เห็น สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด สิ่งที่คิดอาจจะยังไม่เห็น  ศักยภาพในตัวคนบางครั้งเหมือนต้องให้โอกาส รอเวลา รอคนมาช่วยดึง รอกัลยาณมิตรมาชี้ให้เห็นว่านี่แหละคือ ศักยภาพของคุณ และคุณควรจะใช้มันอย่างไรจึงจะเกิด อานุภาพแห่งศักยภาพสูงสุด... นี่ ! หากเรา ด่วนสรุปตัดสินน้องป่านตั้งแต่แรกว่าเธอเป็นคนพูดมาก น่ารำคาญ ไม่สนใจเธอ ไม่ให้โอกาสเธอ ไหนเลยวันนี้เราจะได้รู้ว่าเธอมีศักยภาพอย่างไร เธอใฝ่รู้อย่างไร และเธอรักดีอย่างไร ไว้คงมีโอกาสเจอกับเธออีกนะน้องป่าน แล้วฉันจะคอยดูเธอ.J
คำสำคัญ (Tags): #เก็บตก#km
หมายเลขบันทึก: 72914เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท