ผมเขียนเรื่องกระบวนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมสระแก้วไว้ที่ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕)
เย็นวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๗ ผมได้รับเชิญให้เสนอข้อสะท้อนคิดจากการชมงานมหกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้วตลอดวัน เริ่มตั้งแต่ ๘ น. เข้าชมนิทรรศการและตั้งคำถามต่อนักเรียน ในช่วงเวลา ๑ ชั่วโมงชมและถามได้ ๕ - ๖ โรงเรียน ตามด้วยการนั่งฟังการนำเสนอเชิงอภิปรายตลอดวัน ด้วยความชื่นมื่น แม้จะเหน็ดเหนื่อยตามประสาผู้ชรา
ผมเตรียม PowerPoint โดยเริ่มเตรียมเช้าวันนั้นตอนตีห้า มาจบในห้องประชุมก่อนพูดไม่ถึงชั่วโมง ใช้เวลาพูดเกือบๆ ๒๐ นาที โดยใช้ PowerPoint เฉพาะ ๔ แผ่นหลัง เพราะเวลาล่วงเลยไปมาก หากพูดเต็มที่จะใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงซึ่งไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์
ที่จริงข้อชี่นชมเชิงระบบได้เขียนไว้แล้วใน ๒ บันทึกที่แล้ว ในที่ประชุมผมบอกว่าผมชื่นชมการออกแบบ PBL (Project-Based Learning) ที่มีลักษณะเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และเรียนแบบร่วมมือกัน (Collaborative Learning) ที่จะหนุนให้นักเรียนได้พัฒนาครบด้าน ที่เรียกว่า holistic learning ทั้งด้านค่านิยม (values), เจตคติ (attitude), ทักษะ (skills), และความรู้ (knowledge) หรือที่เรียกว่าเป็นการเรียนรู้บูรณาการ (integrated learning)
ผมกล่าวชื่นชมการออกแบบการเรียนรู้ ให้มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (wisdom assets) ในพื้นที่ เพื่อการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างได้ผลดี โดยให้นักเรียนออกสำรวจชุมชน นำข้อมูลมาออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของตน ผ่านกิจกรรมเพื่อรับใช้สังคม (service learning) กิจกรรมนี้นอกจากทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิชาการแล้ว ยังได้สร้างจิตสาธารณะใส่ตน และสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ยังจะได้ portfolio สำหรับนำไปเสนอตอนสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วย
ผมแสดงความชื่นชมว่า เห็นนักเรียนที่มารอเสนอผลงานมีพลังแรงบันดาลใจ (passion) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการศึกษา นำเสนอผลงานได้อย่างน่าชื่นชมเพราะเขาทำด้วยตนเอง แสดงความชื่นชมความร่วมแรงร่วมใจกันหลายฝ่าย ทำให้งานนี้มีพลังมาก
ชื่นชมการออกแบบกิจกรรมเวทีเสวนา โดยจัดกลุ่มโรงเรียนเป็น (๑) กลุ่มสะท้อนความเป็นผู้มีส่วนรับผิดรับชอบของทุกคน (๒) กลุ่มพัฒนาผู้เรียนตามช่วงวัย (๓ กลุ่มใช้ฐานทุนปัญญาที่มีในพื้นที่ (๔) กลุ่มให้อิสระในการออกแบบหลักสูตร (๕) กลุ่มใช้และสร้างนวัตกรรมของครู รวมทั้งมีผู้ดำเนินรายการ ๒ คนซ่วยกนซัก โดยมีการเตรียมตัวมาอย่างดี ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงดีมาก ช่วยให้เห็นโอกาสใช้ความยืดหยุ่นสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้หลากหลายแบบ
ชื่นชมโรงเรียนที่เอาใจใส่เด็กตั้งแต่ก่อนปฏิสนธิ คือจัดโรงเรียนพ่อแม่ ชื่นชมโรงเรียนที่ใช้พลังของเครือข่ายอย่างกว้างขวาง โดยหากมีเวลาสะท้อนคิด จะมีข้อชื่นชมได้อีกมาก
ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาก็มีมากเช่นเดียวกัน ในเวลาจำกัดทั้งเพื่อการสะท้อนคิด และเพื่อการนำเสนอ ขอยกตัวอย่างคำถาม เพื่อกระตุ้นให้ครูและโรงเรียนนำไปพิจารณาหรือสะท้อนคิดร่วมกันต่อ เช่น ผู้จัดบอกว่างานมหกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อ โชว์ แชร์ เชื่อม ผมจึงตั้งคำถามว่า โชว์ แชร์ เชื่อมอะไร หากดูที่งานนิทรรศการ จะเห็นว่า เป็นการโชว์ แชร์ เชื่อมผลงานของนักเรียน ที่น่าชื่นชมว่านักเรียนทำได้ดี สะท้อนการเรียนรู้เชิงรุกชัดเจน แต่ไม่มีนิทรรศการของโรงเรียนใดเลยที่ โชว์ Learning Outcome ของนักเรียน การประชุมจะมีพลังกว่านี้ไหม ถ้าแต่ละโรงเรียนเอาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนมาโชว์ และแชร์ กัน พร้อมคำอธิบายหรือสะท้อนคิดว่า เป็นผลจากกระบวนการเรียนรู้ที่ดำเนินการอย่างไรบ้าง หากต้องการยกระดับผลลัพธ์ด้าน ก (เช่น ทักษะด้านสังคมอารมณ์, การหนุนให้นักเรียนมี empathy) ควรทำอย่างไร และจะมีวิธีวัดผลลัพธ์อย่างไร
ผมชี้ให้เห็นว่า ชิ้นงานของนักเรียน ไม่ใช่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ผลลัพธ์การเรียนรู้จะชัดเจนแน่นแฟ้น หากครูตั้งคำถามชวนนักเรียนสะท้อนคิด (reflection) เป็นระยะๆ รวมทั้งเมื่อชิ้นงานสำเร็จครูก็ชวนนักเรียนตั้งคำถามข้อเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน รวมทั้งข้อสงสัยหรือประเด็นอยากรู้ต่อเนื่อง
ครูจะได้ฝึกตั้งคำถามที่เหมาะสมต่อบริบทของกิจกรรมที่กำลังดำเนิน ทั้งตอนติดขัดหรือมีปัญหา และตอนที่งานเดินดี เพื่อกระตุ้นการค้นคว้า และกระตุ้นการสะท้อนคิดของนักเรียน เพื่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ ให้ได้เรียนรู้ทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และค่านิยม เท่ากับครูได้ฝึกพัฒนา PCK – Pedagogic Content Knowledge ของตนเอง และครูได้ดำเนินการ Formative Assessment ตามด้วย Constructive Feedback ไปในตัว ที่จะหนุนการพัฒนา passion, curiosity, agility, grit, growth mindset, ฯลฯ ของนักเรียนอย่างเนียนคือไม่รู้ตัว ไม่ต้องเอ่ยคำเหล่านั้น
หากเวทีในมหกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้ว หันไปเน้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบที่มีผลลัพธ์การเรียนรู้และพัฒนา VASK เป็นศูนย์กลาง นำเอากระบวนการ วิธีการ ประสบการณ์ ความบากบั่น ความยากลำบาก ความล้มเหลว สู่การบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เหล่านั้น จะนำสู่การเรียนรู้ของครูที่ทรงพลังกว่าหรือไม่ เป็นคำถามที่ครูและผู้บริหารต้องใคร่ครวญหาคำตอบเอง
เวทีมหกรรมการศึกษาสระแก้วจะกลายเป็นวง PLC ของครู ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน ที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีดำเนินการเพื่อยกระดับสมรรถนะของตนให้ดียิ่งขึ้น ก็จะได้คำตอบว่า โชว์ แชร์ เชื่อม เพื่อเรียนรู้และยกระดับวิธีเรียนของนักเรียน และเรียนรู้วิธีออกแบบ และอำนวยความสะดวกของครู เพื่อเอาไปทดลองปรับใช้ในบริบทของตน บริบทของนักเรียนของตน
หากยึดตามแนวที่ผมตั้งคำถาม ในแต่ละนิทรรศการ นักเรียนจะเตรียมมาเล่าหรือเสนอประเด็นเรียนรู้ของตนในการผลิตชิ้นงาน วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีแก้ปัญหา จนบรรลุความสำเร็จ และข้อสะท้อนคิดการเรียนรู้ของตนในการทำชิ้นงานนั้นมีอะไรบ้าง ทั้งข้อเรียนรู้ด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และค่านิยม ในกระบวนการทั้งหมดนั้น ครู เพื่อน พ่อแม่ ฯลฯ มีส่วนช่วยหนุนอย่างไร ประสบการณ์ทั้งหมดนั้นสอนอะไรนักเรียนในเรื่องคุณค่าของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน สอนอะไรนักเรียนในเรื่อง ....
จะสนุกมาก และสะท้อนคุณค่าของครูเพิ่มขึ้นมาก หากครูจัดการทดสอบง่ายๆ เพื่อแยกนักเรียนเป็นกลุ่มเด่น ปานกลาง และอ่อน ในแต่ละสมรรถนะหรือสาระการเรียนรู้ แล้วหาวิธีหนุนให้นักเรียนทุกคนบรรลุผลการเรียนขั้นต่ำที่กำหนด โดยใช้นักเรียนเองเป็น co-creator หรือ co-educator ช่วยทำ peer coaching, peer assessment & peer feedback เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รายละเอียดของประสบการณ์เช่นนี้ เมื่อนำมา โชว์ แชร์ เชื่อม จะมีพลังการเรียนรู้สูงมาก
ที่จริง ข้อเสนอแนะตามข้างบนมีบางโรงเรียนดำเนินการและเสนอในเวทีเสวนาอยู่แล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่หากมีการนำมาเป็นประเด็นเน้น และมีการขยายรายละเอียดวิธีคิด วิธีดำเนินการ วิธีเอาชนะอุปสรรค วิธีดำเนินการโดยไม่เป็นการเพิ่มภาระของครู แต่นักเรียนได้รับประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนเกิดความมั่นใจในตนเอง พร้อมๆ กับมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการแสดงความเคารพให้เกียรติต่อความเห็นหรือความเชื่อที่แตกต่าง รวมทั้งได้ฝึกและเรียนรู้วิธีเอาชนะความเครียด อารมณ์ลบ และความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในระหว่างเรียนแบบเรียนรู้เชิงรุกโดยการทำโครงงานเป็นทีม นักเรียนควรได้นำเอาประสบการณ์เหล่านี้มาสะท้อนคิดแลกเปลี่ยนกันในหมู่นักเรียน และแลกเปลี่ยนกับครูและผู้ใหญ่ที่มาร่วมงาน สำหรับให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับนโยบาย และวิธีการบริหารการศึกษา ให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น หนุนให้กิจกรรมในระดับโรงเรียนระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้หนุนการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างมีพลังยิ่งขึ้น เรียนสนุกขึ้น ท้าทายยิ่งขึ้น และหนุนการยกระดับสมรรถนะยิ่งขึ้น อย่างครบด้าน
วิจารณ์ พานิช
๕ ธ.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น