ผมเขียนเรื่องกระบวนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมสระแก้วไว้ที่ (๑) (๒) (๓) (๔)
วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๗ ผมไปร่วมงานมหกรรมการศึกษาจังหวัดสระแก้ว กลับถึงบ้านสามทุ่ม รุ่งขึ้นเช้าออกไปเดินออกกำลังกาย ก็ได้หัวข้อบันทึกนี้ โดยตอนเดินทางกลับบ้านก็ได้เรียนรู้จาก ศน. รจนา เทียนจันทร์ ที่กรุณานั่งรถมาเป็นเพื่อน
ผมเอ่ยกับ ศน. รจนา ว่า ผมเห็นพลังพิเศษของวงการศึกษาจังหวัดสระแก้ว ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกับสำนักงานเขตพื้นที่ทำงานร่วมมือประสานงานกัน ต่างจากในหลายจังหวัดนวัตกรรมการศึกษา ที่สองหน่วยงานนี้ของกระทรวงศึกษาธิการทำงานแบบต่างหน่วยต่างทำ เพราะขึ้นกับหรือรายงานต่อต่างหน่วยงานในกระทรวง เป็นลักษณะทำงานเพื่อรายงานนาย และเพื่อตนเอง ไม่ได้ทำเพื่อเด็ก หรือเพื่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง
ผมได้เรียนรู้ว่ามีหลายปัจจัย ที่เป็นต้นเหตุให้หน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่รวมกันไม่ติด ต้นเหตุอย่างหนึ่งคือสภาพการย้ายบ่อย ผู้บริหารบางท่านย้ายมาไม่ถึงปีก็ย้ายไปอีกแล้ว ก็มี สภาพเช่นนี้ ผู้บริหารต้องรีบทำผลงาน เพื่อสร้างประวัติให้แก่ตนเอง โดยมุ่งริเริ่มงานใหม่ ไม่มุ่งสานต่องานเก่าที่ดีอยู่แล้ว งานใหม่เพื่อผลงานชั่วคราวของผู้บริหารยากที่จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นเพื่อผลประโยชน์แท้จริงของผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาในพื้นที่
ที่สระแก้ว โชคดีที่ได้ท่านปริญญา โพธิสัตย์ มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และอยู่ต่อเนื่องเข้าปีที่ ๔ แล้ว ผมได้ทราบว่าเมื่อท่านไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วในปี ๒๕๖๔ ท่านก็ริเริ่มพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัด จากข้อมูลผลการศึกษาของจังหวัดที่ต่ำมาก และเมื่อเป็นจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาท่านก็ทำหน้าที่ผู้นำอย่างเอาจริงเอาจัง ดังผมเล่าแล้วในการประชุมปี ๒๕๖๖ และในการประชุมครั้งนี้ ท่านก็มากล่าวต้อนรับด้วยตนเอง โดยท่านหมั่นสอบถามความก้าวหน้าและปัญหาจากทีม ศน. ที่ทำหน้าที่ประสานงานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งตั้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรม
ในการประชุม เราเห็นพลังความร่วมแรงร่วมใจหลายระดับ ทั้งในระดับโรงเรียน และระดับระหว่างโรงเรียน ที่มีการเรียนรู้ดูงานจากโรงเรียนตัวอย่าง ที่ดำเนินการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ
เราเห็นพลังความร่วมมือภายในโรงเรียน ระหว่างครูต่างหน่วยสาระ ที่มาทำงานร่วมกันออกแบบการเรียนรู้บูรณาการสาระ หนุนให้นักเรียนร่วมกันออกสำรวจชุมชน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้บูรณาการของตน และร่วมกันโค้ชให้นักเรียนทำโครงงานตอบโจทย์ที่ยาก มีการค้นคว้าหาวิธีการแก้ปัญหา นำมาลองใช้ เพื่อหมุนวงจรเรียนรู้และพัฒนาของตน หลายรอบจนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของโครงงาน
พลังความร่วมแรงร่วมใจที่สำคัญที่สุดคือ พลังการเรียนรู้เป็นทีมของนักเรียน ในการดำเนินการโครงงาน ที่จะเป็นข้อเรียนรู้ติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต ให้เห็นพลังของ collaboration ต่อชีวิตการงาน และต่อการดำรงชีวิตตามปกติ ที่ในยุคปัจจุบัน ทักษะความร่วมมือ สำคัญกว่าทักษะการแข่งขัน ทักษะอ่อนน้อมถ่อมตน ให้คุณกว่าทักษะการอวดเด่น
เมื่อภายในจังหวัดสามัคคีกัน ร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แรงสนับสนุนจากภายนอกก็เข้ามา อย่างกรณีจังหวัดสระแก้ว มีตัวอย่างความร่วมมือจากโครงการ Connext ED และอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งคือความร่วมมือจาก กสศ., บพท., และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาทักษะอนาคต นำโดย รศ. ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยศรีปทุม จังหวัดชลบุรี ที่ช่วยออกแบบและจัดการการประชุมครั้งนี้
พลังความร่วมแรงร่วมใจ มีจุดรวมพลังอยู่ที่เป้าหมายร่วมกัน หรือคุณค่าของกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ซึ่งในที่นี้คือการพัฒนาจังหวัดสระแก้วในระยะยาว ผ่านการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน สำหรับเติบโตไปเป็นพลเมืองคุณภาพสูงของจังหวัด ของประเทศไทย และของโลก
เป็นการร่วมแรงร่วมใจทำเพื่อเด็ก หรือเพื่อผู้อื่น เลยจากผลประโยชน์ส่วนตนที่น่าชื่นชม การไปเข้าร่วมกิจกรรมของผมในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๗ จึงให้ความสุขแก่ผมยิ่งนัก
ความร่วมแรงร่วมใจ หนุนด้วยการสนับสนุนของผู้ใหญ่ คือ ท่านศึกษาธิการจังหวัด (นายสามารถ ผ่องศรี ที่เพิ่งมารับหน้าที่ได้ ๑ เดือน) ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด (นายปริญญา โพธิสัตย์) และท่าน สส. ตรีนุช เทียนทอง อดีต รมต. ศึกษาธิการ และในงานนี้ยังมี คุณหญิง ดร. กษมา วรวรรณ ไปร่วมให้กำลังใจ และให้คำแนะนำ น่าจะเป็นกำลังใจให้โรงเรียนและครูในพื้นที่นวัตกรรมร่วมกันดำเนินการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาประเด็นที่ผมเสนอแนะไว้ในบันทึกที่แล้ว รวมทั้งข้อริเริ่มอื่นๆ ที่ครูและผู้บริหารค้นพบระหว่างดำเนินการ
วิจารณ์ พานิช
๕ ธ.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น