ชีวิตที่พอเพียง  4892. ทำงานเพื่อผลงานและความเด่นดังของหน่วยงาน กับเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง


 

ที่จริงหัวข้อนี้ ก็เป็นเรื่องมายา ตามในบันทึกที่แล้ว   แต่ผมแยกออกมาเขียนต่างหาก เพราะคิดว่ามันเป็นมายาที่ซ่อนอยู่ลึกมาก   

ผมเข้าไปเกี่ยวข้องเรียนรู้อยู่กับระบบการศึกษา ที่มีธรรมชาติรวมศูนย์ (centralized) มาก   อยู่ลึกในระดับเป็นวัฒนธรรมและกระบวนทัศน์   ที่เมื่อมีกิจกรรมเชิงนวัตกรรมหรือการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ   ก็มักติดรูปแบบรวมศูนย์    บางเรื่องแยกออกมาจากร่มกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ออกมารวมศูนย์ที่ศูนย์ใหม่   เมื่อผมเสนอแนะให้กระจายโอกาสสร้างสรรค์ไปให้กลไกในจังหวัด    ก็เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอของผมไม่ทะลุกำแพงความคิดรวมศูนย์   

ไม่ทราบว่าผมคิดถูกหรือผิด ว่าเป็นธรรมชาติมนุษย์ ที่จะคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องใกล้ตัว     เพื่อสร้างผลงานของตน สู่ความเจริญก้าวหน้าของตน   หรือหากตนมีโอกาสเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารองค์กร ก็จะคิดดำเนินการอยู่กับผลงานของหน่วยงาน เพื่อการยอมรับของสังคมต่อหน่วยงาน    นี่คือธรรมดามนุษย์

แต่ผมคิดว่า จะยิ่งดีกว่า หากเราคิดออกไปนอกกรอบตัวตนของตนเอง    ออกไปเห็นความเชื่อมโยงภาพใหญ่   ให้เห็นว่าตัวเราหรือหน่วยงานที่เรารับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ ที่เรียกว่า เป็น part of the whole อย่างไร    นี่คือการฝึก systems thinking   ที่จะยิ่งช่วยให้ตัวเราหรือหน่วยงานของเรา มีผลกระทบสูง   เพราะเราจะสามารถดำเนินการให้เกิดการเสริมพลัง    ทำให้เกิดผลเพิ่มขึ้นในภาพรวม และผลงานของเราก็สูงขึ้นด้วย

ที่ยิ่งกว่านั้น คือ ผลงานดีขึ้นในแนวของการยกระดับความแปลกใหม่หรือเป็นนวัตกรรม   ที่มีค่าสูงกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างมากมาย   

การทำงานแบบคิดใหญ่    มองภาพใหญ่เป็น และสร้างความร่วมมือเพื่อภาพใหญ่   หนุนผลงานของหน่วยอื่นด้วย ในลักษณะ give and take   จะยิ่งสร้างชื่อเสียงเกียรติยศและผลงานความสำเร็จในชีวิตตน    เป็นผลงานในลักษณะที่เกิดจากการให้ การเสียสละ การเห็นแก่ผู้อื่นหรือหน่วยอื่น   เป็นการหลุดพ้นจากมายาของความคิดคับแคบ สู่แสงสว่างของความเอื้ออารี   ที่ขอนำมาเสนอไว้   เพื่อชีวิตที่ดีของทุกคน

มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือแนวทางของการดำรงชีวิตแบบที่กิเลสเบาบาง   มีความสุขทั้งจากจิตใจเอื้อเฟื้อ และจากความเจริญก้าวหน้าในสังคม 

ผมสะท้อนคิดต่อว่า    สภาพที่เราอยากเห็นดังข้างบนสร้างได้    โดยการศึกษาและการเลี้ยงดูเด็ก    ที่หนุนให้เด็กสร้างจรณทักษะ (soft skills) รวมทั้งทักษะทางสังคมอารมณ์ ใส่ตัว    หรือที่เรียกว่า ค่านิยมศึกษา     

วิจารณ์ พานิช

๕ ธ.ค. ๖๗

   

หมายเลขบันทึก: 720478เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2025 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2025 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย