จักกวากชาดก


ว่าด้วย นกจักรพราก

จักกวากชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๑๓. จักกวากชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๔๕๑)

ว่าด้วยนกจักรพาก

             (กาถามนกจักรพากว่า)

             [๑๓๕] นกจักรพากท่านมีสีสวยรูปงามล่ำสัน เลือดฝาดดี ทรวดทรงงาม ใบหน้าผ่องใส

             [๑๓๖] ท่านจับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา คงกินอาหารอย่างนี้ คือ ปลากา ปลากระบอก ปลาหมอ ปลาค้าว และปลาตะเพียน นะซิ

             (นกจักรพากปฏิเสธคำพูดของกานั้นว่า)

             [๑๓๗] ข้าพเจ้ามิได้กินอาหารชนิดนี้ หรือสัตว์บกสัตว์น้ำเลย นอกเสียจากสาหร่ายและจอกแหน เพื่อน สาหร่ายและจอกแหนนี้เป็นอาหารของข้าพเจ้า

             (กาได้กล่าวว่า)

             [๑๓๘] ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า สาหร่ายและจอกแหนนี้ เป็นอาหารของนกจักรพาก เพื่อน แม้ตัวข้าพเจ้าก็ยังกินอาหารที่มีรสเค็ม และคลุกเคล้าด้วยน้ำมันในบ้าน

             [๑๓๙] ซึ่งเป็นอาหารที่เขาปรุงกันในหมู่มนุษย์ เป็นของสะอาดเจือด้วยเนื้อ นกจักรพาก แต่สีสันของข้าพเจ้าไม่เหมือนท่าน

             (นกจักรพากได้กล่าวว่า)

             [๑๔๐] ท่านเบียดเบียนหมู่มนุษย์ ต้องคอยมองดูผู้ที่ผูกเวรในตน กินอย่างหวาดสดุ้ง ตกใจกลัว เพราะเหตุนั้น สีสันของท่านจึงเป็นเช่นนี้

             [๑๔๑] กา ท่านเป็นศัตรูกับชาวโลกทั้งปวง ได้ก้อนข้าวมาด้วยความชั่ว ไม่ทำให้ผู้อื่นอิ่มหนำ เพราะเหตุนั้น สีสันของท่านจึงเป็นเช่นนี้

             [๑๔๒] เพื่อน ข้าพเจ้าไม่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ทั้งปวง มีความขวนขวายน้อย ไม่หวาดระแวง ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหนกินอยู่

             [๑๔๓] ท่านนั้นจงสร้างอานุภาพขึ้น จงเลิกประพฤติแบบเดิมเสีย เที่ยวไปในโลกโดยไม่เบียดเบียน จักเป็นที่รักของชาวโลกเหมือนอย่างข้าพเจ้า

             [๑๔๔] ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ทำทรัพย์ให้เสื่อมไป ไม่ใช้ผู้อื่นทำทรัพย์ให้เสื่อมไป มีจิตเมตตาในสัตว์ทุกจำพวก ผู้นั้นไม่ก่อเวรกับใครๆ

จักกวากชาดกที่ ๑๓ จบ

---------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

จักกวากชาดก

ว่าด้วย นกจักรพราก

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุเหลาะแหละรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นไม่อิ่มด้วยปัจจัยมีจีวรเป็นต้น เที่ยวแสวงหาอยู่ว่าสังฆภัตมีที่ไหน กิจนิมนต์มีที่ไหนเป็นต้น พอใจอยู่ในเรื่องอามีสเท่านั้น
               ครั้งนั้น ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักหวังจะอนุเคราะห์เธอ จึงกราบทูลกะพระศาสดา
               พระศาสดารับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้เหลาะแหละจริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า
               จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เหตุไรจึงเป็นผู้เหลาะแหละ ขึ้นชื่อว่าความเหลาะแหละเป็นเรื่องลามกมาก แม้ในกาลก่อน เธอก็อาศัยความเหลาะแหละไม่รู้จักอิ่มด้วยศพช้างเป็นต้นในเมืองพาราณสี ต้องเข้าไปในป่าใหญ่ ดังนี้
               แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี มีกาเหลาะแหละตัวหนึ่งไม่รู้จักอิ่มด้วยศพช้างเป็นต้นในเมืองพาราณสี จึงคิดว่า ป่าเป็นเช่นไรหนอแล้วไปป่า ไม่สันโดษด้วยผลาผลในป่านั้น เที่ยวไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เห็นนกจักรพรากสองตัวผัวเมีย แล้วคิดว่า นกเหล่านี้งามเหลือเกิน นกเหล่านี้เห็นจะกินเนื้อปลามากที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้ แม้เราก็ควรจะถามนกเหล่านี้ แล้วกินอาหารของนกเหล่านี้ จะเป็นผู้มีวรรณะงาม คิดแล้วก็ไปจับอยู่ใกล้ๆ นกจักรพรากเหล่านั้น
               เมื่อจะถามนกจักรพราก จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
               ดูก่อนจักรพราก ท่านมีสีสวย รูปงาม ร่างกายแน่นแฟ้น มีสีแดงดังทอง ทรวดทรงงาม ใบหน้าผุดผ่อง.
               ท่านจับอยู่ที่ฝั่งคงคา เห็นจะได้กินอาหารอย่างนี้ คือปลากา ปลากระบอก ปลาหมอ ปลาเค้า ปลาตะเพียนกระมัง.
               กาถามว่า ท่านเห็นจะได้กินอาหารเห็นปานนี้?
               นกจักรพราก เมื่อจะปฏิเสธคำของกานั้น จึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ดูก่อนสหาย สิ่งอื่นนอกจากสาหร่ายและแหนแล้ว เรามิได้ถือเอาเนื้อสัตว์บกหรือสัตว์น้ำมากินเป็นอาหารเลย สาหร่ายและแหนเท่านั้นเป็นอาหารของเรา.
               พึงทราบความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า ดูก่อนสหาย สิ่งอื่นนอกจากสาหร่ายและแหนแล้ว เรามิได้ถือเอาเนื้อสัตว์บกหรือสัตว์น้ำมาบริโภคเป็นอาหารเลย ดูก่อนสหาย ก็สาหร่ายและแหนเท่านั้นเป็นอาหารของเรา.
               ลำดับนั้น กาจึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
               ดูก่อนสหาย เราไม่เชื่อว่าอาหารของนกจักรพรากเป็นอย่างนี้ แม้เรากินอาหารที่คลุกเคล้าด้วยเกลือและน้ำมันในบ้าน
               ซึ่งเป็นอาหารที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาดทำกินกันในหมู่มนุษย์ ดูก่อนนกจักรพราก ถึงกระนั้น สีของเราก็ไม่เหมือนท่าน.
               ลำดับนั้น นกจักรพราก เมื่อจะบอกเหตุที่ทำให้วรรณะเศร้าหมอง แสดงธรรมแก่กานั้น
               จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า :-
               ท่านเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย จึงต้องคอยมองดูผู้ที่ผูกเวรในตน เพียงแต่จะกินก็สะดุ้งกลัว เพราะเหตุนั้น สีกายของท่านจึงเป็นเช่นนี้.
               แน่ะท่านธังกะ ท่านเป็นผู้ถูกคนทั่วโลกโกรธเคือง อาหารที่ท่านได้มาด้วยกรรมอันลามก ย่อมไม่อิ่มท้อง เพราะเหตุนั้น สีกายของท่านจึงเป็นเช่นนี้.
               ดูก่อนสหาย ส่วนเรามิได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงมากิน มีความขวนขวายน้อย ไม่มีใครรังเกียจ ใจไม่ห่อเหี่ยว ภัยแต่ที่ไหนๆ ก็มิได้มี.
               ท่านนั้นจงสร้างอานุภาพ ละปกติคือความทุศีลของตนเสีย อย่าเบียดเบียนใครเที่ยวไปในโลก จะเป็นที่รักของชาวโลกเช่นตัวเรา.
               ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ทำทรัพย์ให้เสื่อมเอง ไม่ใช้ผู้อื่นทำให้เสื่อม มีเมตตาจิตในสัตว์ทั่วไป ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ.
               นกจักรพรากแสดงธรรมแก่กาด้วยประการฉะนี้.
               กากล่าวว่า ท่านไม่บอกอาหารของตนแก่เรา แล้วก็ร้อง กา กา บินไปร่อนลง ณ พื้นที่ที่เจือด้วยอุจจาระในกรุงพาราณสี.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้เหลาะแหละดำรงอยู่ในอนาคามิผล
               พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า
                         กาในครั้งนั้น ได้มาเป็น ภิกษุผู้เหลาะแหละในบัดนี้
                         นางนกจักรพรากในครั้งนั้น ได้มาเป็น มารดาพระราหุล ในบัดนี้
                         ส่วนนกจักรพรากในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาจักกวากชาดกที่ ๑๓

-----------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 720480เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2025 04:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2025 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย