ผมบอกตัวเองว่า เรื่องราวรอบตัวเป็นมายา ต้องฝึกตัวเองให้รู้เท่าทัน
เรื่องมายานั้น เป็นเรื่องที่หาเรามองตื้นๆ หรือผิวเผิน เราจะเห็นหรือเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่หากเราตีความในมิติที่ลึก จะเข้าใจต่าง โดยในหลายกรณีเห็นภาพหรือความหมายตรงกันข้าม
ผมฝึกตนเองให้ตีความเรื่องราวรอบตัว รวมทั้งที่มีโอกาสไปสัมผัสตรง ในมิติที่ลึก เพื่อทำความเข้าใจคุณค่าแท้จริงของสังคมภาพรวมของเรื่องนั้นๆ แยกแยะออกจากผลประโยชน์ของคนเพียงบางคนหรือบางกลุ่ม แบบฝึกหัดนี้สนุกมาก และประเทืองปัญญามาก รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการตีความผิดสูงมาก
ในทุกกิจกรรมรอบตัวผม มีทั้งมายาและของจริงแท้อยู่ร่วมกัน เมื่อมองจากมุมของคุณค่าต่อสังคมส่วนรวม แยกจากผลประโยชน์ของปัจเจก หรือของคนบางกลุ่ม สภาพนี้ชัดเจนในการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล และในข่าวของทางราชการ ที่หากเราแยกแยะเป็น เราจะเพบทั้งข่าวที่มีคุณค่าต่อคนทั่วไป และข่าวที่มุ่งครอบงำเรา ให้เชื่อหรือศรัทธาต่อบางวงการ ที่มีทั้งประเด็นที่ควรศรัทธา และส่วนอื่นที่ไม่น่านิยม
ในฐานะผู้สูงอายุ ผมเผชิญมายาคติที่คนแสดงความเคารพหรือศรัทธามากเกินจริง ที่เป็นวัฒนธรรมไทย หรือวัฒนธรรมตะวันออก ผมเตือนสติตนเองว่า อย่าเผลอเชื่อมายาเหล่านั้น ให้ตั้งสติมั่นตรวจสอบพฤติกรรมของตนเอง ว่าสะท้อนความรู้ความเข้าใจ รู้เท่าทันมายาเหล่านั้นหรือไม่ หรือเหลิงไปตามท่าที่และถ้อยคำป้อยอเหล่านั้น ทั้งที่มาจากความจริงใจ และจากการกระทำไปตามสถานการณ์
ที่บ้าน ผมมีโอกาสเรียนรู้จากมนุษย์ที่สมองทำงานน้อย หรือสมองเสื่อม คือคู่ชีวิตของผมยาวนานกว่า ๕๕ ปี ศ. พญ. อมรา (เศรวตวรรณ) พานิช เป็น “ครูในบ้าน” ของผม ว่าเมื่อสมองของมนุษย์เราเสื่อมลง ชีวิตความเป็นอยู่และพฤติกรรมจะเป็นอย่างไร คุณหมออมราเกิดมาเป็นคู่ชีวิตผมทั้งตอนตั้งตัว และสร้างครอบครัว เลี้ยงลูก ๔ คน ไปพร้อมๆ กัน จนเมื่อลูกทั้ง ๔ คนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว อายุระหว่าง ๕๔ - ๔๔ ผลงานของเราช่วยให้สังคมไทยมีพลเมืองคุณภาพสูง ๔ คน ที่มีชีวิตและการทำหน้าที่ ๔ แบบ แตกต่างกันแบบสุดขั้ว
ลูกๆ เป็นเสมือนครู ที่สอนผมด้วย ๔ บทเรียน ด้วยพฤติกรรมและสไตล์ชีวิต ๔ แบบ หรือมายาคติ ๔ แบบ ในท่ามกลางความสัมพันธ์เชิงบวก ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความรักต่อกัน
ลูก ๔ คน ทำงานเชี้ยงชีพ และทำประโยชน์แก่สังคม ๔ ด้าน เป็นทรัพยากรทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่สำหรับผม ที่เกิดขึ้นเอง อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของผม คือลูกแต่ละคนมีเส้นทางชีวิตของเขา ผมเฝ้าดู ให้ปฏิสัมพันธ์ในฐานะพ่อ และเรียนรู้จากเขา รวมทั้งให้การสนับสนุนตามขีดความสามารถที่มี และทำใจเชิงอุเบกขาในหลากหลายสถานการณ์
Care giver แก่หมออมรา เป็นเด็กสาวที่มาจากต่างวัฒนธรรม เป็นครูที่มีค่ายิ่งของผม ที่จริงผมเกิดมาในวัฒนธรรมเดียวกันกับเธอ คือสังคมชุมชนท้องถิ่น หรือชาวบ้านธรรมดา แต่บุญส่งให้ผมเรียนหนังสือเก่งและได้รับการศึกษาในระดับที่ดีที่สุด ได้มีชีวิตวนเวียนอยู่ในวงการวิชาการ แยกตัวจากชีวิตชาวบ้านทั่วไป หากไม่ระวังก็จะลืมกำพืดของตนเอง การที่หมออมราเจ็บป่วย และต้องมี care giver มาดูแล ช่วยให้ผมได้มีโอกาสกลับสู่พื้นเพของตนเอง ได้ทำความเข้าใจว่า ผู้คนทั่วไปในสังคมไทยเขาคิดอย่างไร มีพฤติกรรมในชีวิตอย่างไร ที่เป็นมายาคติที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยดำรงชีวิต
ผมได้รับการยกย่องจากผู้คนโดยรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน หรือคุ้นเคยกันมาในอดีต ที่ผมบอกตัวเองว่า เขายกย่องคนแก่ตามประเพณีไทยเป็นหลัก หลายส่วนที่เขาชื่นชม ไม่ใช่ผลงานของผมคนเดียว เป็นผลงานรวมหมู่ของคนจำนวนมาก
ผมมีข้อสังเกตว่า มายาคติในชีวิตของคนเรา มาจากห”ลากหลายทาง ทั้งจากมุมมองที่เป็นด้านบวกและเป็นด้านลบต่อการดำรงชีวิตของตัวเรา แต่มายาคติที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างลึกลับไม่รู้ตัว คือมายาที่มาจากการเอาตัวกูของกูเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงแท้เป็นตัวตั้ง
นำสู่คำถามว่า “ความจริงแท้” มีหรือ เป็น absolute truth ของใคร จากมุมมองใด กลายเป็นว่า เรารู้จักแต่ “ความจริงที่ปรุงแต่ง” เพราะตัวเราเองตกอยู่ใต้มายาแบบแก้ไม่หลุด
ผมจึงบอกตัวเอง ให้รู้จักมีชีวิตที่ดีอยู่ในดงมายา ที่ร้ายที่สุดคือมายาคติของตนเอง ร่วมกับมายาคติของคนรอบข้าง ทั้งที่เป็นมุมมองที่เป็นบวกและที่เป็นลบต่อตัวเรา และต่อสังคมภาพรวม หาทางใช้ชีวิตส่วนที่เหลือ ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และต่อสังคมในภาพรวมให้มาหที่สุด ถือเป็นการทำบุญกิริยา
วิจารณ์ พานิช
๕ ธ.ค. ๖๗
หากเรามีอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่ง คนจะมาเชิดชูเราเกินจริงเสมอค่ะ
หากเมื่อใดเราไม่มีอำนาจใดๆเลย เราจะสุขสบายค่ะอาจารย์
วงการราชการจะเป็นเช่นนั้น
แต่อาจารย์มีคุณูปการกับคนในประเทศและนานาชาติ คนจะรักเคารพอาจารย์อยู่แล้วนะคะ