งานประชุมสัมมนา ASEAN + 3 Regional Learning Cities Conference 2024 ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๗ ชมย้อนหลังกิจกกรมวันแรกได้ที่ (๑) และวันที่สองได้ที่ (๒) จะเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหว เมืองแห่งการเรียนรู้ ทั่วโลก ขับเคลื่อนโดย ยูเนสโก ช่วงนั้นผมอยู่ที่นครเวียงจันทน์ ในการประชุม 13th AAAH Conference กลับบ้านค่ำวันที่ ๓๑ ตุลาคม เช้าวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค้นเรื่องงานประชุมเมืองแห่งการเรียนรู้นี้ ฟังบางส่วนแล้วเกิดจินตนาการสู่บันทึกนี้
ในที่ประชุม มีการเน้น Green development ซึ่งหมายถึงการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ทำลายป่า ที่เป็นแนวทางที่มีคุณค่ายิ่ง และนำผมสู่ White development ที่ผมหมายถึงการพัฒนาที่เน้นคุณธรรม (ไม่ใช่การพัฒนาที่เน้นคนผิวขาว) ที่ควรนำเข้าเสริม Green Development เพื่อให้การพัฒนาบ้านเมืองมีความครบถ้วน และสมดุล ยิ่งขึ้น
สังคมในปัจจุบัน หลายส่วน หลายกิจกรรม มีสีเทาไปถึงดำ ดังที่เป็นข่าวออกมาเป็นระยะๆ ทั้งในส่วนที่เป็นธุรกิจ และที่เป็นเรื่องการเมือง ที่นำสู่สภาพที่คนในสังคมไทยไม่ไว้วางใจผู้มีอำนาจ เป็นสังคมที่ไม่จริงใจ ไม่ไว้วางใจต่อกัน สภาพเช่นนี้ นำสู่สภาพไร้สุขภาวะทางจิตใจ และสุขภาวะทางสังคม
ที่ท้าทายอารยธรรมโลกมาก คือการที่ผู้ลงแข่งขันเป็นประมุขของประเทศที่มีอำนาจสูงสุดในโลกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสีเทา การที่เขาเคยเป็นประธานาธิบดีไปแล้ววาระหนึ่ง บอกเราว่าประเทศนั้นคนยอมรับพฤติกรรมสีเทา เป็นเรื่องที่น่าอนาถใจมาก และบอกเราว่า เรื่องคุณธรรมนั้น มีธรรมชาติซับซ้อนและไม่ชัดเจน
เท่าที่ผมฟังการประชุม ASEAN + 3 Regional Learning Cities Conference 2024 ไม่พบว่ามีการกล่าวถึงการพัฒนาที่เน้นคุณธรรม พัฒนาจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ลดความเห็นแก่ตัวของบุคคล จึงขอนำมาเตือนสติในที่นี้ ว่าเมืองเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนโดยยูเนสโก อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์วัตถุนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม มากเกินไป มิติด้านจิตวิญญาณนิยม คุณค่าและคุณธรรมนิยม ถูกละเลย
เราต้องการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านในของความเป็นมนุษย์ ไม่เพียงเรียนรู้เพื่อพัฒนาวัตถุและระบบเศรษฐกิจเท่านั้น ดังที่ระบุใน Inner Development Goals
นำสู่การดำเนินการที่เลยจาก หลักการ Outer learning ที่เน้นกันในการประชุม ASEAN + 3 Regional Learning Cities Conference 2024 สู่การครอบคลุม Inner learning ใน Inner Development Goals
ผมเข้าใจว่า มนุษย์ถูกระบบที่ตนเองพัฒนาขึ้น ชักจูงออกไปจากมิติของความเป็นมนุษย์ สู่การให้ความสำคัญแก่วัตถุสิ่งของอำนาจความร่ำรวย เหนือมิติของจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์ ความเข้าใจของผมถูกหรือผิด
ผมเข้าใจว่า เราต้องการสมดุลหรือความพอดีระหว่างสองขั้วของการเรียนรู้และพัฒนา โดยที่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านในของความเป็นมนุษย์ถูกละเลย หรือให้น้ำหนักน้อยไป และมีความเข้าใจผิดว่าการเรียนรู้สองขั้วนี้เป็นการเรียนรู้ที่แยกกัน
ท่านที่อยากรู้ว่า การเรียนรู้สองขา ที่มีทั้งขาวิชาการ และขาพัฒนามิติด้านใน ทำอย่างไร โปรดอ่านตัวอย่างที่โรงเรียนเพลินพัฒนาจัด ในงาน ชื่นใจ ได้เรียนรู้ ภาคครูเพลิน ครั้งที่ ๒๖ ที่ผมลงบันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
วิจารณ์ พานิช
๑ พ.ย. ๖๗
ไม่มีความเห็น