วันที่ ๑๘ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๗ มีการประชุมคณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ตามปกติเหมือนทุกๆ ปี และเป็นปีที่ ๒ ที่ผมเป็นกรรมการ ไม่ใช่ประธาน สบายขึ้นมาก และได้มีโอกาสสังเกตสะท้อนคิดเพื่อเรียนรู้จากการประชุมมากกว่าตอนเป็นประธาน ที่ต้องคอยดูแลให้การประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่น บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะกรรมการแต่ละคนเป็นคนเก่งมาก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง
เป็นปีแรกที่ ศ. นพ. วิศิษฏ์ สิตปรีชา ไม่ได้มาประชุมด้วย เพราะท่านขอไม่ต่ออายุการเป็นกรรมการ ท่านเป็นกรรมการมาตั้งแต่เริ่มต้นมีรางวัล ปี ๒๕๓๕ จนถึงปี ๒๕๖๖ รวม ๓๒ ปี ในขณะที่ผมเป็นเพียง ๒๔ ปี
เป็นการประชุมที่มีคุณภาพสูงมาก กรรมการแต่ละคนมีข้อมูล มีความคิดที่ลึกซึ้ง และมีความตรงไปตรงมา ประกอบกับคณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ (SAC) ฝ่ายไทย ก็ทำการบ้านมาเสนออย่างดี ช่วยให้คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ (IAC) ทำงานง่ายขึ้นมาก เป็นที่ชื่นชมของคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ
ข้อเรียนรู้ข้อแรก ในปีต่อๆ ไป SAC จะส่งข้อมูลและข้อเสนอแนะให้ IAC หนึ่งเดือนล่วงหน้าและขอคำแนะนำว่าจะต้องหาข้อมูลใดเพิ่มเติม เป็นงานที่มีมิติของ interaction ก่อนการประชุม ๑ เดือน ที่น่าจะช่วยให้การทำงานมีข้อมูลและแนวคิดที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น
ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๒ การหาข้อมูลและนำเสนอของ SAC หรือผู้แทน ต้องไม่ดำเนินตามข้อเสนอจาก nomination ต้องหาข้อมูลผู้เกี่ยวข้องกับผลงานนั้นๆ ให้ครบถ้วน และเสนอว่า หากจะให้รางวัลแก่ผลงานเรื่องนั้นๆ ควรให้แก่ใคร ซึ่งอาจไม่ใช่ผู้ได้รับการเสนอชื่อก็ได้ หรือให้แก่ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ร่วมกับคนอื่นที่เราค้นมาเอง
ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๓ การมอบรางวัลต้องระมัดระวังว่า มอบให้แก่ผู้ค้นคิดหลักการ หรือมอบแก่ผู้เอาหลักการไปใช้ประโยชน์แก่มนุษยชาติ ดังตัวอย่าง รางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี ๒๕๖๗ มอบแก่ผู้ใช้ AI ออกแบบโปรตีน กับใช้ AI ทำนายโครงสร้างของโปรตีน ไม่ใช่ให้แก่ผลงานด้าน AI แต่มอบแก่ผลงานนำ AI ไปใช้ประโยชน์ด้านโปรตีน
ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๔ ความท้าทายของการตัดสินรางวัลคือ เราจะมอบรางวัลแก่ผลงานที่กำลังไต่ระดับผลกระทบและคุณค่า ที่อาจเรียกว่าเป็นผลงานแห่งอนาคต ที่การพระราชทานรางวัลจะช่วยกระตุ้นให้ผลงานนั้นทำประโยชน์แก่มนุษยชาติได้กว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น หรือจะมอบแก่ผลงานที่มีผลกระทบชัดเจนแล้วและได้รับรางวัลต่างๆ ไปมากมายแล้ว ที่อาจเรียกว่าเป็นผลงานแห่งอดีต การตัดสินแบบหลังทำง่ายกว่า มีความชัดเจน และโอกาสผิดพลาดน้อยมากหรือไม่มีเลย การตัดสินแบบแรกทำยากกว่า และมีความเสี่ยงมากกว่า ผลงานการตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในอดีตมีทั้งสองแบบ โดยแบบแรกมีน้อยกว่ามาก
ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๕ อันตรายของมุมมองดิ่งเดี่ยว ไม่พิจารณาองค์ประกอบที่ซับซ้อนอย่างยิ่งยวด จาก real-world evidence ดังกรณีผลงานการให้วิตามิน กรดโฟลิก แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่จะมีบุตรตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันทารกมีความพิการแต่กำเนิด neural tube defects (NTD) หากมองแบบดิ่งเดี่ยวที่กรดโฟลิก ก็เห็นภาพอย่างหนึ่ง หากมองว่าการเกิด NTD เกี่ยวข้องกับการขาดสารอาหารหลายชนิด และที่พบจริงการเสริมกรดโฟลิกมีผลร้ายด้วย เป็นข้อเตือนกรรมการตัดสินรางวัลว่า ต้องไม่มองเฉพาะผลดีของผลงาน intervention ที่เสนอรับรางวัล ต้องตรวจสอบข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงให้แน่ใจก่อนจะตัดสินให้รางวัล
ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๖ มีข้อเสนอเรื่อง Cardiff Model for Violence Prevention นำโดย Professor Jonathan Shepherd, Professor Emeritus in Oral and Maxillofacial Surgery, Cardiff University, UK ที่ผมคิดว่า เป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่มีความแปลกใหม่ ที่หากให้รางวัลจะช่วยก่อผลในวงกว้างในโลก ตามข้อเรียนรู้ที่ ๔ เป็นการมองความรุนแรงสารพัดชนิดในสังคมเป็นปัญหาสุขภาวะของสังคม หรือความเจ็บป่วยทางสังคม ไม่ใช่แค่เพียงของบุคคล และมองว่าเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ มีแนวทางสร้างเสริมระบบที่ช่วยเปลี่ยนจากนำสู่ความรุนแรง เป็นนำสู่ความสงบสุข โดยมีกลไกให้ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการ ผมคิดว่าหากเรามอบรางวัลแก่ผลงานนี้ จะเป็นการชี้นำสังคมของทั้งโลก ให้เอาใจใส่ เรื่อง social well-being
ข้างบนนั้นเขียนก่อนการประชุมวันที่ ๑๙ ตุลาคม ซึ่งคณะกรรมการตัดสินแบบเห็นพ้องกัน (ฉันทามติ) ในการเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิในการประชุมวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ และได้ประกาศผลต่อสาธารณชนไปแล้ว ว่า IAC เสนอให้พระราชทานรางวัลดังนี้
ตกลงกันว่า ต่อไปจะทำงานโดยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง SAC กับ IAC ตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งติดต่อกันเข้มข้นในเดือนกันยายน หลังจากฝ่ายเลขาส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้ IAC ศ. นพ. ประเสริฐ กรรมการและเลขานุการ SAC เสนอประเด็นที่รวบรวมจากการประชุมร่วม ระหว่าง SAC กับ IAC ใน ๕ ปีที่ผ่านมา กระตุ้นการอภิปรายได้อย่างดียิ่ง
กรรมการ IAC ชมเปาะ ว่าการประชุมปีนี้สนุกมาก และ SAC ทำการบ้านมาดีมาก
ผมกลับมาจินตนาการต่อที่บ้าน ว่า วงการ ววน. ไทยน่าจะใช้โอกาสพระราชทานรางวัลแก่ผลงาน Cardiff Model ในการเปลี่ยนหรือเพิ่มแนวทางสนับสนุนวิชาการด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ และการศึกษา โดยใช้เป้าหมายป้องกันความรุนแรงในสังคมเป็นโจทย์ใหญ่ ใช้เรื่องราวจริงที่นำสู่กรณีความรุนแรงสารพัดแบบ นำสู่โจทย์วิจัยสหวิทยาการเชิงประยุกต์ และโจทย์วิจัยเชิงทฤษฎี โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับ สุขภาวะทางสังคม ของคนไทย และนำออกเผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมโลก ตามพระปณิธานของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
วิจารณ์ พานิช
๒๐ ต.ค. ๖๗
รูปหมู่
I had a look a few days ago and noted that ‘the website’ is in need of updatesรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล https://www.gotoknow.org/journals/174771