วันที่ ๒๑ - ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๗ กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จจังหวัดนครศรีธรรมราช นำคณะกรรมการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ไปทัศนศึกษา ผมมีบุญได้ตามเสด็จในฐานะกรรมการคนหนึ่ง เราไปพัก ๑ คืนที่โรงแรมทวินโลตัส ที่ผมไม่ได้ไปพักนานมาก
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม
อ่านเรื่องราวของโรงเรียนนี้ได้ที่ (๑) เข้าไปอ่าน facebook นี้แล้ว ผมเกิดความเข้าใจว่า ทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงต่ำเตี้ย และเข้าใจสภาพที่ WDR 2018 บอก เราไปเยี่ยมชมและเรียนรู้เรื่องราวของพายุโซนร้อน Harriett ที่เข้าบริเวณนี้วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๕ เวลาระหว่าง ๑๘ - ๑๙ น. มีคนตาย ๙๑๑ คน ที่จริงพายุนี้ความเร็วเพียง ๙๕ กม./ชม. เป็นเพียงพายุโซนร้อน ไม่ใช่ไต้ฝุ่น แต่บ้านเรือนของชาวบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ได้เตรียมสู้พายุ เพราะเราไม่เคยต้องเผชิญพายุ และชาวบ้านไม่รู้มาก่อนว่าจะมีพายุ ชาวบ้านที่ได้เผชิญพายุมาเฝ้าเป็นกลุ่มใหญ่กว่า ๕๐ คน ผมเข้าไปถามว่ามีน้ำท่วมไหม เขาบอกว่าน้ำสูงแค่คอ และพายุมา ๒ ครั้ง คนที่ถูกพายุพยายามขอความช่วยเหลือจากในเมืองนครฯ ที่อยู่ห่างออกไป ๓๐ กม.
ผมเข้าไปนั่งคุยกับนักเรียนหนุ่มน้อย ม. ๒ สองคนที่คนหนึ่งตัวโต อีกคนตัวเล็ก ถามว่าเป็นหนุ่มหรือยัง ตอบว่าเป็นแล้วทั้งสองคน ถามว่าจบ ม. ๓ ที่โรงเรียนนนี้แล้วจะทำอะไร คนตัวโตบอกว่า เรียนจชต่อที่โรงเรียนสตรีปากพนัง คนตัวเล็กบอกว่ายังไม่รู้ ต้องถามแม่ ถามว่าโตขึ้นจะทำอะไรเลี้ยงชีวิต ตอบเหมือนกันว่ายังไม่ทราบ ทำให้ผมได้สัมผัสว่า การศึกษาไทยไม่ช่วยหนุนให้เยาวชนของเรารู้จักตนเอง มีเป้าหมายชีวิตของตนเอง จะต้องเตรียมการณ์ชีวิตอนาคตของตนอย่างไร
การนำเสนอ และพาชมสถานที่ เน้นให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เห็นว่ากลไกรัฐ และราชประชาสมาสัย ได้ทำอะไรแก่ชาวบ้านอย่างไร สะท้อนจากอาคารสถานที่และเรื่องราวที่นำเสนอ แต่ไม่มีข้อมูลว่าก่อผลกระทบต่อการพัฒนาชีวิตของชาวบ้านอย่างไร โดยปล่อยให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้จินตนาการเองว่า ก่อประโยชน์มหาศาล ที่ผมมองว่าเป็นมายา ผู้ไปเยี่ยมชมไม่เห็นว่า ช่วยให้ประชาชนแข็งแรงขึ้น ช่วยตัวเองได้มากขึ้นอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะเกิดผลดีแก่หลายกลุ่ม ในหลายด้าน แต่น่าจะไม่ทั่วถึง และที่สำคัญ หากมีการหมุนวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ จะปรับปรุงให้เกิดผลกระทบสูงขึ้นได้
การนำเสนอ เน้นที่ supply-side ไม่มีมิติของฝ่าย demand-side เลย ตลอดสองวัน น่าสนใจมากว่า หากมีการทำงานวิชาการทำความเข้าใจว่า หากจะเสนอผลงานต่อผู้ใหญ่ต้องมีวิธีเสนอที่เห็นผลต่อฝ่าย demand-side และเห็นบทบาทช่วยเหลือตนเองของฝ่าย demand-side จะต้องเตรียมการณ์อย่างไร และนำเสนออย่างไร ผมสงสัยว่าวิธีคิดของคนนอกกรอบอย่างผมจะมีประโยชน์ต่อบ้านเมืองหรือไม่ อย่างไร
ผมมีความเห็นว่า เมื่อเราไปเยี่ยมโรงเรียน ประเด็นหลักของการเยี่ยมน่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของการศึกษา แต่กรณีนี้ไม่ใช่ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูที่ยืมมาจากโรงเรียนสตรีปากพนัง ถวายรายงานเป็นภาษาอังกฤษ และมีการจัดนิทรรศการได้อย่างดีเยี่ยม น่าชื่นชมอย่างยิง ที่ช่วยให้กรรมการรางวัลที่เป็นคนต่างชาติได้เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวและราชวงศ์ได้ให้ความสนใจ เอาใจใส่ส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชน เป็นอย่างดีเยี่ยม แต่ไม่มีภาพของบทบาทของโรงเรียนต่อการพัฒนาพื้นที่เลย
หน่วยพิทักษ์ป่า แหลมตะลุมพุก
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า แหลมตะลุมพุก (๒) ผมได้รู้ว่าคำว่า “ตะลุมพุก” เป็นชื่อปลา เรีอกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปลาชิกชัก” เราไปเห็นชายทะเลที่สวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจตามธรรมชาติ การนำเสนอบอกกิจกรรมของทางราชการ โยงกับโครงการตามพระราชดำริ แต่ไม่เห็นชีวิตของชาวบ้าน ในเว็บไซต์บอกชนิดของสัตว์ในพื้นที่ที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ไม่มีรายละเอียด และตอนถวายรายงานไม่มีเอ่ยเลย
เราได้เห็นการเตรียมรับเสด็จฯ ที่เตรียมดีมาก อำนวยความสะดวก มีที่ให้ถ่ายรูปสวยงาม แต่ไม่เห็นกิจกรรมการพิทักษ์ป่า การอนุรักษ์สัตว์และพืชใกล้สูญพันธุ์ การหนุนให้ชาวบ้านยกระดับชีวิตของตนเอง และของชุมชน ข้อสะท้อนคิดนี้ของผม อาจไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อ่านรายละเอียดของโครงการได้ที่ (๓) เป็นเว็บไซต์ที่ให้รายละเอียดมาก อ่านแล้วผมนึกอยากเห็นวงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติหรือจากประสบการณ์ของชาวบ้าน เป็นโครงการที่ประสานงานโดย กปร. ดูแลพื้นที่กว้างขวาง ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังที่อยู่ใน ๓ จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ที่ขยายจากการจัดการน้ำของลุ่มน้ำ สู่การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของชาวบ้าน
ภายในบริเวณมีพระตำหนักประทับแรม ที่เราไปรับประทานอาหารกลางวัน จัดถวายโดยกรมชลประทาน ตอนนั่งร่วมโต๊ะเสวย ผมนั่งติดท่านรองอธิบดีกรมชลประทาน นายวิทยา แก้วมณี ที่แนะนำตนเองว่าเป็นคนมีกำเนิดที่ อ. หัวไทร จึงรู้จักพื้นที่ดีมาก เราแหลงใต้กันสนุกสนาน ได้แนะนำอาหาร signature ของพื้นที่หลายอย่าง ที่เด่นที่สุดน่าจะได้แก่ ต้มส้มปลากระบอกน้ำส้มจาก ที่น้ำมีรสจำเพาะ มีความเปรี้ยวที่ไม่เหมือนที่เคยกินมาก่อน พร้อมมีกลิ่นหอม อีกอย่างหนึ่งคือ แกงส้มปลากะพงยอดมะพร้าว มันขี้หนู ที่ทั้งคนไทยภาคกลาง และฝรั่งไม่เคนกินมันขี้หนู ผมเองรู้จักก็เพราะแต่งงานกับสาวเมืองนครฯ ที่ชอบกินมันขี้หนูเป็นพิเศษ ผัดหมี่ปากพนังกุ้ง รสชาติตรงกับที่ญาติทางภรรยาเคยทำให้กิน และตรงกับที่ไปกินที่ร้าน เยี่ยมใต้ ถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
ได้ความรู้จากท่านรองอธิบดีวิทยาว่า ส้มโอทับทิมสยามที่ปลูกบริเวณนี้จะมีรสชาติดีเป็นพิเศษ เพราะดินคุณภาพพิเศษจากน้ำกร่อยป่าชายเลน รวมทั้งที่ดินที่เป็นบ่อกุ้งเก่า ในการเดินทางครั้งนี้ มีส้มโอทับทิมสยามเป็นหนึ่งในผลไม้ของทุกมื้อ ผมได้กินอย่างชื่นใจ
กินอาหารเที่ยงที่พระตำหนักเสร็จ เป็นการแสดงมโนราห์ถวาย ๘ นาที ชื่อว่า การแสดงโนรา ชุด วิศิษฏศิลปินเสด็จนครยอกรอภิวาท โดยวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ขอนำบทร้องเพลงทับเพลงโทน มาลงไว้ดังนี้
ศิโรราบการบาทนาถนรินทร์ องค์วิศิษฐศิลปินถิ่นสยาม
คราเสด็จศรีธรรมราชพระธาตุงาม ราษฎร์ทุกนามเทอดมนัสขัตติยา
ข้าพระบาทโนรากรีดกายกร รำตัวอ่อนถวายองค์ทรงหรรษา
รำคล้องหงส์ ยั่วปี่ทับฉบับโนรา เชิญเทวาเมืองนครถวายพระพรชัย
ท่ารำหลักมี ๓ ท่าคือ รำตัวอ่อน รำคล้องหงส์ และรำยั่วปี่ ยั่วทับ เป็นการรำโนราที่งดงามที่สุดที่ผมเคยชม
แล้วนั่งรถรางไปชมกิจการของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังฯ แวะชมบ่อเลี้ยงปลาดุกลำพัน ที่เป็นปลาพื้นเมือง ใกล้สูญพันธุ์ เราไม่เห็นตัว เห็นแต่ในรูป กรงเลี้ยง ไก่อารมณ์ดีศรีวิชัย ที่ผสมพันธุ์จากไก่คอล่อน แล้วไปแวะชมการเคี่ยวน้ำตาลจากน้ำหวานจากต้นจาก (Nipa Palm) และการทำน้ำตาลจากใส่ซองขาย เป็นน้ำตาลที่มี glycemic index ต่ำ ชมการทำขนมลา กรมสมเด็จฯ ทรงทดลองหยอดขนมลาด้วย ผมขอขนมลาใส่ถุงเอากลับบ้านห่อใหญ่ มีนิทรรศการไวน์และเหล้าที่ทำจากน้ำหวานจากด้วย ได้รู้จักข้าวพื้นเมืองชื่อ ข้าวลูกลาย ที่เป็นข้าวสารแข็ง ใช้เวลาปลูกนานถึง ๖ เดือน เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักและชิม แห้วจูด ของหายากประจำถิ่น ที่ผมเสียดายไม่ได้ขอเขาเอากลับมาบ้าน เอาให้ลูกๆ ชิม นั่งรถเป็นวงกลมผ่านประตูระบายน้ำ กลับมาที่พระราชตำหนัก
ตลาดร้อยปี เมืองปากพนัง
อ่านเว็บพาชมได้ที่ (๔) เราไปเห็นเหมือนที่เขาบอก รถบัสพระที่นั่งพาไปถึงหน้าทางเข้าตลาด แล้วเราลงเดินตามเสด็จ เป็นตลาดรูปตัว U ที่ด้านล่างของตัวยู ติดแม่น้ำปากพนัง บ้านเดิมของ ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล อยู่ในตลาดนี้ แต่ขายให้ญาติไปแล้ว ญาติได้มาเฝ้าที่ถนนด้วย ออกมาจากตลาด เขาจัดให้คนมีเฝ้า ๒ ฟากถนน ให้เสด็จพระราชดำเนินระยะทางราวๆ ๕๐ เมตร ให้คนได้ชมพระบารมี เห็นหน้าท่าทางแสดงความเทอดทูนและรักทูลกระหม่อมฯ ของชาวบ้านแล้ว เป็นบรรยากาศที่หาได้ยาก
โรงพยาบาลปากพนัง
เป็นรายการแถมกระทันหัน บอกเช้า เสด็จบ่าย เพื่อให้กรรมการต่างชาติได้เห็นและเข้าใจระบบสุขภาพปฐมภูมิของไทย ที่มี รพ.สต., ทำงานเชื่อมกับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลปากพนังถือเป็นโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ ขนาดใหญ่ ๑๐๕ เตียง ผู้ป่วยนอกวันละ ๓๕๐ - ๔๕๐ คน เป็นโรคทั่วๆ ไป และเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รับผิดชอบดูแลสุขภาพประชากรเกือบ ๑ แสนคน ที่มีคนเป็นเบาหมาน ๓ พันคน เป็นความดันโลหิตสูง ๖ พันคน มีรถฉุกเฉิน ๔ คัน มีเครื่อง CT Scan แต่ละเดือนมีผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตกมารับบริการตรวจ CT ประมาณ ๒๐ คน มีบริการพิเศษตรวจส่องกล้องหามะเร็งลำใส้ใหญ่ ปีที่ผ่านมาตรวจ ๒๘๒ คน
โรงพยาบาลตั้งอยู่ริมแม่น้ำปากพนัง
หลังจากนั้น เรากลับไปกินอาหารเย็นที่โรงแรมทวินโลตัส ที่โต๊ะอาหารเย็นผมถามแขกต่างประเทศที่ร่วมโต๊ะว่าชอบช่วงไหนที่สุดใน ๒ วัน ได้รับคำตอบตรงกันว่า ที่พิพิธภัณฑ์ เราคุยกันเรื่องการปรับปรุงสถานที่ให้เอื้อต่อผู้สูงอายุ และผู้พิการให้เข้าถึงง่าย ว่าที่อังกฤษมีกฎหมายบังคับ ทำให้อาคารสาธารณะต่างๆ ต้องปรับปรุงเป็นการใหญ่ ไทยเราก็มีกฎหมายบังคับอาคารสร้างใหม่ แต่ไม่บังคับย้อนหลังอาคารที่สร้างก่อนออกกฎหมาย
ผมกลับถึงบ้านสามทุ่มครึ่ง
กลับมาทบทวนที่บ้านว่า กิจกรรมสองวันนี้ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพศกนิกรของกรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ พร้อมทั้งพากรรมการรางวัลนานาชาติไปทัศนาจร เป็นการตอบแทนที่ท่านมาทำงานให้แก่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ โดยไม่มีค่าตอบแทน แต่ผมดันสวมแว่นเรียนรู้ มองไปที่ว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ไปเห็นส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไรบ้าง ที่ผู้จัดนิทรรศการไม่ได้มีเป้าหมายนำเสนอ ข้อสะท้อนคิดบางส่วนของผมจึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการนำเสนอของผู้จัด จึงต้องขออภัยหากข้อเขียนนี้ไปกระทบความรู้สึกของท่านผู้ใด
สำหรับชาวบ้าน เป็นโอกาสที่เขาได้เข้าเฝ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ที่เขารักและเทอดทูน
ฟังข่าวในพระราชสำนักเรื่องนี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=yQj0L8Vz9xQ
วิจารณ์ พานิช
๒๓ ต.ค. ๖๗
1 บริเวณที่ไปวันนี้เป็นป่าชายเลน
2 มีฟาร์มกุ้งขาว ไม่ใช่กุ้งกุลาดำอย่างสมัย ๔๐ ปีก่อน
3 ต้นมะพร้าวทานพายุ Harriet ได้
4 โนราท่ารำตัวอ่อน
5 โนราท่าพรานกินรี
6 สวนต้นจากอายุ ๖ - ๗ ปี เริ่มให้ผล
7 เตาเคี่ยวน้ำตาลจาก
8 ข้าวลูกลาย
9 แห้วจูด
10 ถนนริมแม่น้ำไปโรงพยาบาลปากพนัง
ไม่มีความเห็น