การประเมินตามสภาพจริง (3)


การเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Learning) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เรียน ในการประยุกต์ใช้ทักษะที่เรียนรู้มาให้เข้ากับชีวิตจริงและสภาพแวดล้อมที่เป็นบริบท
บันทึกฉบับที่ 2 ครูอ้อยได้กล่าวถึง....กรอบแนวคิดในการประเมินตามสภาพจริง  ที่จะนำไปสู่กิจกรรมการเรียนการสอน  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริง  อันจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เต็มศักยภาพ  ซึ่งท่านผู้อ่านศึกษาได้อีกครั้งในบันทึกชื่อ  การประเมินตามสภาพจริง (2)
สำหรับบันทึกฉบับนี้  ครูอ้อยจะกล่าวถึง  แนวคิดที่ครูผู้สอนควรคำนึงถึง  ควรศึกษา  และควรทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดเจน  ก่อนนำไปใช้ในการประเมินในชั้นเรียนของตน  ซึ่งกำหนดไว้  ต่อไปนี้
1.  ลักษณะสำคัญของการประเมินตามสภาพจริง
1.1  เสริมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ของนักเรียน  โดยครูผู้สอนและนักเรียนสามารถนำผลการประเมินไปพัฒนาการเรียนรู้ของตนได้
1.2  แสดงให้เห็นพัฒนาการของนักเรียนอย่างเคร่งครัด  ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติงานจนกระทั่งบรรลุจุดประสงค์
1.3  เน้นความรู้ความสามารถและทักษะที่เป็นจุดเด่นของนักเรียน
1.4  สอดคล้องกับหลักสูตรที่มุ่งเน้นการปฏิบัติตามสภาพจริง
1.5  ต้องอยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  ในการเรียนการสอนและในประสบการณ์จริงของนักเรียน
1.6   เป็นการประเมินผลที่ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานที่เกิดจากการแสดงออก  หรือการปฏิบัติของนักเรียนจากการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน
1.7  สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
1.8  สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมิน  สามารถนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน
1.9  เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีจุดหมายชัดเจน
1.10  สามารถประเมินได้ทุกบริบทและทุกเนื้อหาสาระ
1.11  ตอบสนองการเรียนรู้และความสามารถของนักเรียนอย่างกว้างขวาง  ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้  และพัฒนาความสามารถของตนได้หลายรูปแบบ
1.12  เป็นการประเมินผลที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างครูผู้สอน  นักเรียน  และผู้ปกครอง  รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ
จะเห็นได้ว่า.....การประเมินผลตามสภาพจริง...ที่ครูอ้อยได้นำเสนอแบบสรุปมานี้.....มีส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึง...ก่อนนำไปสอนมากมาย...ขอให้ท่านผู้อ่าน  หรือครูผู้สอนทุกท่าน  ศึกษาให้ชัดเจนก่อนนำไปใช้ในการเรียนการสอนในชั้นเรียนของท่าน..นะคะ
หมายเลขบันทึก: 71987เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 02:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท