โครงการนำเสนอผลงานการพัฒนาคุณภาพ ครั้งที่ 5/2549 โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก


การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตำบลดอนทอง             อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

The Participation of the community Development in Prevention of cervical cancer in Tambon donthong Ampurmeangpitsanulok  pitsanulok provice

สุนันทา  ภักดีอำนาจ 1   ป.พส ,ปฏิพิมพ์  อยู่คง 1ป.พส ,  นิตยา  สุราษฎร์มณี 2สบ. ,

คันธรส  แขวงเมืองณรงค์ 2 ป.พส , กิตติยา  วิจิตรพฤกษ์ 3 สม.

1กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

2ศูนย์สุขภาพชุมชนดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก

3สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองพิษณุโลก

หลักการและเหตุผล :  มะเร็งปากมดลูก เป็นปัญหาสาธารสุขที่สำคัญ และมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดของสตรีไทย จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามมากกว่าระยะเริ่มแรก จึงทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ครอบครัว และเศรษฐกิจ เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง และจากรายงานการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในเขตอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกปี 2546 สามารถตรวจคัดกรองได้เพียง   ร้อยละ 11  ส่วนการดำเนินงานตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในศูนย์สุภาพชุมชนดอนทอง ในปี 2545 และ 2546 สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้เพียง 78 รายและ86 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.8 และ 6.3 ตามลำดับ และมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกขาดการรักษาและเสียชีวิต 1 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ(2 คน) สตรีกลุ่มเป้าหมายขาดความตระหนัก         ขาดความรู้ กลัวเจ็บ และอาย เป็นต้น

วัตถุประสงค์

1.   เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและหาวิธีการเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันมะเร็งปากมดลูกครบวงจรที่ดำเนินงานโดยศูนย์ส่งเสริมสุขภาพชุมชนร่วมกับชุมชน

2.  เพื่อพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีเข้มแข็ง ต่อเนื่อง และยั่งยืน

วิธีการศึกษา/การดำเนินงาน

1.   เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research )

2.    กลุ่มตัวอย่าง ใช้วิธีการคัดเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) จากอาสาสมัครสาธารณสุข และแกนนำชุมชน หมู่ที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 และ 12 ตำบลดอนทอง อำเภอเมืองพิษณุโลกโดยผู้วิจัยกำหนดให้แต่ละหมู่บ้านคัดเลือกตัวแทนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านละ 8- 9 คน และได้อาสาสมัครจำนวน 65 คน

3.   ระยะเวลาดำเนินการ  ตั้งแต่ตุลาคม 2546 ถึง กันยายน  2548 โดยใช้แนวคิด AIC และ FSC การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และ การสัมภาษณ์ ซึ่งการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

        ระยะที่ 1  การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นการดำเนินการวิเคราะห์สภาพปัญหา วางแผน แก้ปัญหา ปฏิบัติตามแผน ประเมินผล ค้นหาและเรียนรู้จากการกระทำ

        ระยะที่ 2  พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน

4.   สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ

ผลการศึกษา 

                การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน พบว่า สภาพปัญหาการไม่มารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่เกิดจาก ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องร้อยละ 62 ไม่ทราบว่าPCUตรวจได้ร้อยละ 50 ความอายร้อยละ 42   บ้านไกลจากสถานบริการร้อยละ 36 เป็นต้น วางแผนแก้ปัญหาโดยให้อาสาสมัครแต่ละคนรับผิดชอบการให้ความรู้และพาสตรีกลุ่มเป้าหมายในหมู่บ้านของตนมารับการตรวจมะเร็งปากมดลูก อาสาสมัครร้อยละ 96 ไม่มั่นใจในการให้ความรู้เพราะมีความรู้ไม่เพียงพอ ต้องการให้จัดอบรมเรื่องโรค วิธีการตรวจ แนวทางการรักษา และขอไปศึกษาดูงานการตรวจรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ทีมวิจัยจึงจัดอบรมโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และจัดการศึกษาดูงานขึ้น อาสาสมัครมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 80  และผลการรณรงค์ให้มีการตรวจมะเร็งปากมดลูก      ปี 2547  พบว่าสตรีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูก      ร้อยละ 82.6 พบผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มแรก 3 รายเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 2 ราย อีก 1 รายปฏิเสธการรักษา จากการร่วมกันประเมินผลพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่ยังไม่มาตรวจเพราะขาดแรงจูงใจ และขาดความตระหนัก อาสาสมัครบางคนขาดทักษะในการให้ความรู้ เป็นต้นในปี 2548 มีอาสาสมัครเพิ่มขึ้นเป็น 165 คน และได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้น พบว่าอาสาสมัครที่สามารถทำให้กลุ่มเป้าหมายในหมู่บ้านมาตรวจครบทุกคน ใช้วิธีตามถึงบ้านให้ความรู้และบอกว่าหมออนามัยให้มาตามเพราะเหลือคนสุดท้ายแล้วที่ยังไม่มาตรวจ  หรือถ้าไม่มีรถก็มีรถของหมู่บ้านมาส่ง เป็นต้น ต่อมาในการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้จัดให้มีการแสดงต่าง ๆ และการให้ความรู้โดยอาสาสมัคร การเชิญชวนให้มาตรวจโดยผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่รักษาหายแล้ว อาสาสมัครเข้ามาช่วยซักประวัติ และจัดคิวผู้รับบริการเข้าตรวจ เป็นต้น ผลการรณรงค์พบว่าสตรีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกร้อยละ 100 มีผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มแรก 2 รายและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องครบทุกคน

สรุป  การใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินการวิเคราะห์สภาพปัญหา วางแผนแก้ปัญหา ปฏิบัติตามแผน และประเมินผล ทำให้ชุมชนมองเห็นปัญหา เข้าใจสาเหตุ และมีวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน

 คำสำคัญ : การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก, อาสาสมัคร , ศูนย์สุขภาพชุมชน, สตรีกลุ่มเป้าหมาย

from: โครงการนำเสนอผลงานการพัฒนาคุณภาพ ครั้งที่ 5/2549, ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2549 ณ ห้องประชุมสุพรรณณิการ์ อาคารมหิดล ชั้น 2 โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

รางวัลยอดเยี่ยมการนำเสนอด้วยวาจา(The best of Oral Presentation)
หมายเลขบันทึก: 71844เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากครับ แต่ไม่ทราบว่าใครบ้างที่ควรตรวจ เมื่อไหร่ ค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจัยพวกนี้ล้วนเป็นตัวบอก คนจน รวย อายุ การศึกษา ห่างไกลกี่ กม. มีอัตราการเข้าตรวจแตกต่างไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท