การประชุมวิชาการสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง การผสานพลังความหลากหลายสร้างเมืองไทยแข็งแรง (Synergistic Diversity for Healthy Thailand)


การพัฒนารูปแบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเชิงรุกในศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่ายโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

วิโรจน์  วรรณภิระ1, นิพัธ  กิตติมานนท์1, สุนันทา  ภักดีอำนาจ1, ปฏิพิมพ์ อยู่คง1, ลัดดาวัลย์  วิภูษณพันธ์1, กิตติยา  วิจิตรพฤกษ์2

1กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

2สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

                รูปแบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเชิงรุกที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่มีผลต่อการดำเนินงานควบคุมป้องกันมะเร็งปากมดลูกของเจ้าหน้าที่ในศูนย์สุขภาพชุมชน เพราะมะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ และพบอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดของสตรีไทย จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามมากกว่าระยะเริ่มแรก จึงทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ครอบครัว เศรษฐกิจ เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง และจากรายงานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ปี 2546 สามารถคัดกรองได้เพียงร้อยละ 11 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าหน้าที่ขาดความพร้อม และสตรีกลุ่มเป้าหมายขาดความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ R&Dเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์สุขภาพชุมชน 25 แห่ง แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข และประชากรสตรีอายุ 35 40 45 50 55 60 ปีในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ใช้เวลาตั้งแต่ ตุลาคม 47 ถึง ตุลาคม 48  ซึ่งการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ 1)การพัฒนาด้านความรู้แก่เจ้าหน้าที่ 2)การพัฒนาด้านการปฏิบัติ โดยทีมแพทย์ฝึกสอนและควบคุมการปฏิบัติจริงกับผู้รับบริการในศูนย์สุขภาพชุมชน 3)ส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการตรวจคัดกรองให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่และแกนนำชุมชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาและหาแนวคิดรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ 4)การสร้างพลังชุมชน โดยรวมกลุ่มอาสาสมัครที่สนใจและเห็นความสำคัญ และมีทีมสุขภาพสนับสนุนในเรื่องวิชาการ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ดี สมาชิกทุกคนเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกและเป็นแกนนำในการให้ความรู้ สร้างความตระหนักและชักชวนสตรีกลุ่มเป้าหมายมาตรวจทุกปีจนเป็นวิถีชีวิต

ผลการศึกษา พบว่า ระยะที่1 และระยะที่2 เจ้าหน้าที่มีความรู้ในระดับที่มากเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.2 มีทักษะการตรวจ pap smear ในระดับที่มากขึ้นร้อยละ 72.9 และมีความมั่นใจในการตรวจอยู่ในระดับที่มากขึ้นร้อยละ 79.3 ระยะที่3 ได้รูปแบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เช่น ระบบเคลื่อนที่ ระบบโซน  ระบบสร้างแรงจูงใจ และระบบผสมผสาน เป็นต้น ระยะที่ 4 เกิดชมรมรวมพลังรวมใจต้านภัยมะเร็งขึ้น 4 ชมรม คือ ดอนทองสมาชิก 175 คน สมอแขสมาชิก 55 คน อรัญญิกสมาชิก 40 คน และบ้านกร่างสมาชิก 30 คน ซึ่งดำเนินกิจกรรมได้ผลดี และต่อเนื่อง ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปี 2547 จำนวน 3,153 ราย คิดเป็นร้อยละ 45.4 พบระยะก่อนเป็นมะเร็ง 8 ราย มะเร็งระยะเริ่มแรก 8 ราย และมะเร็งระยะลุกลาม 1 ราย ปี 2548 สามารถตรวจคัดกรองได้ จำนวน 3,756 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.6 พบระยะก่อนเป็นมะเร็ง  8 ราย มะเร็งระยะเริ่มแรก 7 ราย และมะเร็งระยะลุกลาม 1 ราย

สรุป รูปแบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดที่นำพลังชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด

from : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยามหิดล ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์การอนามัยโลก(WHO) สมาคมสถาบันการศึกสาธารณสุขศาสตร์(ประเทศไทย),การประชุมวิชาการสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง การผสานพลังความหลากหลายสร้างเมืองไทยแข็งแรง (Synergistic Diversity for Healthy Thailand), 19-21 ธันวาคม 2548,หน้า 29  (Oral presentation)

หมายเลขบันทึก: 71838เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท